"ภาษีทรัมป์" ค่ายรถญี่ปุ่นเสี่ยง! จ่อย้ายผลิตไปสหรัฐฯ l การตลาดเงินล้าน

ฮอนด้า มอเตอร์ ประกาศจะย้ายสายการผลิตรถไฮบริด CIVIC 5 ประตู (ซีวิค แฮชแบ็ก) ที่จะจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา จากโรงงานในญี่ปุ่น ไปยังรัฐอินเดียนา ของสหรัฐอเมริกาแทน และ คาดว่าการผลิตรถรุ่นดังกล่าวที่โรงงานในจังหวัดไซตามะ ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับกรุงโตเกียว จะสิ้นสุดลงภายในเดือนมิถุนายน หรือกรกฎาคมปีนี้
โดยสื่อต่างประเทศ รายงานด้วยว่า เดิมที ฮอนด้า มีแผนที่จะย้ายสายการผลิตรถ ซีวิค ไฮบริด รุ่นนี้ ไปยังประเทศเม็กซิโก ภายในปี 2027 แต่แผนดังกล่าวถูกเลื่อนให้เร็วขึ้นกว่าเดิม และจะย้ายไปผลิตที่โรงงานในสหรัฐอเมริกาแทน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2025 นี้
แผนดังกล่าวของ ฮอนด้า ก็เพื่อต้องการบรรเทาผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำหนดภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ และชิ้นส่วนรถยนต์ อัตราร้อยละ 25 โดยในส่วนของภาษีนำเข้ารถยนต์นั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 3 เมษายน 2025 และ ชิ้นส่วนยานยนต์ จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2025
อย่างไรก็ดี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทรัมป์ กล่าวว่า กำลังมองหาวิธีช่วยเหลือผู้ผลิตรถยนต์บางราย เนื่องจากพวกเขาต้องการเวลาในการปรับเปลี่ยนแผนการผลิต
ทั้งนี้ ซีวิค เป็นรถรุ่นที่สำคัญของฮอนด้า ในตลาดสหรัฐฯ โดย ไตรมาส 1 ของปี 2025 มียอดขายเกือบ 59,000 คัน ส่วนยอดขายรวมของทั้งแบรนด์ ฮอนด้า และ แอคิวรา (Acura) ซึ่งเป็นอีกแบรนด์ที่ฮอนด้าทำตลาดในอเมริกา รวมกันมียอดขายกว่า 350,000 คันในช่วง 3 เดือนแรกของปี และคิดเป็นเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่ร้อยละ 5
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเกียวโด ระบุว่า ฮอนด้าจะยังผลิตรถสปอร์ต ซีวิค ไทป์ อาร์ (Civic Type R) ที่ญี่ปุ่นต่อไป และจะเป็นรถรุ่นเดียวที่ผลิตในญี่ปุ่นเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ
ส่วน นิสสัน มอเตอร์ ก่อนหน้านี้ มีรายงานข่าวว่า มีแผนจะลดการผลิตรถอเนกประสงค์ รุ่น นิสสัน โร้ค (Nissan Rogue) จากโรงงานที่ตั้งอยู่บนเกาะคิวชู ของญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึง กรกฎาคม ปีนี้ โดยจะลดการผลิตจำนวน 13,000 คัน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของยอดขายในช่วงไตรมาสแรกในตลาดสหรัฐฯ
โดย นิสสัน โร้ค เป็นรถรุ่นที่ขายดีที่สุดของนิสสันในสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้วมียอดขายเกือบ 246,000 คัน คิดเป็นมากกว่า 1 ใน 4 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดของนิสสันในตลาดดังกล่าว ซึ่งรถรุ่นนี้มีการผลิตที่โรงงาน ตั้งอยู่ในเมือง สมิร์นา ของรัฐเทนเนสซี (Smyrna, Tennessee) เดิมมีแผนจะลดการผลิตลงเหลือ 1 กะ ในช่วงเดือนเมษายน แต่บริษัทฯ ก็เปลี่ยนแผนโดยยังคงไว้ที่ 2 กะตามเดิม
แต่ล่าสุด คริสเตียน เมอนิเยร์ (Christian Meunier) ประธานนิสสัน อเมริกา ให้ข้อมูลกับทาง ซีเอ็นบีซี บอกว่า ตั้งเป้าจะเพิ่มกำลังการผลิต ในโรงงานที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ ในอเมริกา ทั้งบอกด้วยว่า มาตรการการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดี ทรัมป์ ได้ช่วยเร่งแผนงานที่จำเป็น และจะช่วยพลิกฟื้นการดำเนินงานของบริษัทฯ ในสหรัฐฯ อีกด้วย
โรงงานดังกล่าว ตั้งอยู่ในเมือง สมิร์นา รัฐเทนเนสซี มีขนาด 6 ล้านตารางฟุต และสามารถผลิตรถยนต์ได้ถึง 640,000 คันต่อปี ใน 3 กะการผลิต แต่ปัจจุบันการผลิตยังไม่เต็ม คาพาซิตี้ (capacity) ดังนั้น ยังมีช่องว่างอีกมากที่จะปรับปรุงการผลิต อีกทั้ง กำลังพิจารณาที่จะนำรถรุ่นใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น พร้อม ๆ ไปกับการปรับเปลี่ยนการนำเข้ารถจากทั้งเม็กซิโก และญี่ปุ่น
เมอนิเยร์ กล่าวด้วยว่า เป้าหมายสูงสุดของเขา คือ ต้องการจะเพิ่มกำลังการผลิตแบบเต็มกำลังการผลิตเลย จากเมื่อปีที่แล้ว โรงงานดังกล่าวผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 314,500 คันในสองกะการผลิต โดยมีพนักงานประมาณ 5,700 คน ผลิตรถยนต์รวม 4 รุ่น ซึ่งรวมถึง นิสสัน โร้ค
แต่ก็ยังคาดเดากรอบระยะเวลาได้ยาก เพราะการปรับเปลี่ยนแผนและย้ายการผลิตยังจำเป็นต้องใช้เวลา แต่สิ่งที่ดีที่สุด คือการที่บริษัทฯ มีความยืดหยุ่น และมีความสามารถในการเร่งดำเนินการต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นกว่าปกติ
สำหรับ นิสสัน มีโรงงานประกอบรถยนต์ 2 แห่งในเม็กซิโก ซึ่งผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น รวมถึงนำเข้ารถบางรุ่น เช่น นิสสัน คิกส์ (Nissan Kicks) และ นิสสัน เวอร์ซา (Nissan Versa) ตามรายงานของสื่อท้องถิ่นในเม็กซิโก ระบุว่าปี 2024 ที่ผ่านมา นิสสัน ผลิตรถยนต์ในเม็กซิโก เป็นจำนวนเกือบ 670,000 คัน และส่งออกมากกว่า 456,000 คัน
ส่วนในสหรัฐฯ นิสสัน มีโรงงานประกอบที่สามารถผลิตรถยนต์ได้มากกว่า 1 ล้านคันต่อปี รวมถึงสามารถผลิตเครื่องยนต์ได้ 1 ล้าน 4 แสนเครื่องต่อปี, ผลิตชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปได้จำนวน 1 ล้าน 4 แสนชิ้นต่อปี และชิ้นส่วนโลหะหล่ออีก 456,000 ชิ้นต่อปี โดยในปี 2024 นิสสัน ผลิตรถยนต์จากโรงงานในสหรัฐฯ เป็นจำนวน 525,600 คัน
นอกจากโรงงานที่เมือง สมิร์นา แล้ว นิสสัน ยังมีโรงงานผลิตเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ในรัฐเทนเนสซี และโรงงานประกอบรถยนต์ขนาดใหญ่อีกแห่งในเมือง แคนตัน รัฐ มิสซิสซิปปี้ โดยโรงงานที่เมืองแคนตัน นั้น ปัจจุบันผลิตรถซีดานรุ่น อัลติมา (Altima) รถกระบะขนาดกลาง ฟรอนเทียร์ โดยมีพนักงาน 5,000 คน
ด้าน โตโยต้า มีรายงานข่าวเช่นกัน ว่ากำลังพิจารณาการผลิตรถอเนกประสงค์(เอสยูวี) รุ่น ราฟโฟร์ (RAV4) ในสหรัฐฯ สำหรับเวอร์ชันใหม่
โดย รอยเตอร์ส ระบุว่า รถเอสยูวี ราฟโฟร์ รุ่นปัจจุบัน ถือเป็นรุ่นยอดนิยมในรัฐเคนตักกี้ ของสหรัฐอเมริกา , รวมถึงแคนาดา และญี่ปุ่น เดิมที โตโยต้ามีแผนส่งออกไปยังสหรัฐฯ จากโรงงานที่ตั้งอยู่ในแคนาดา และญี่ปุ่น แต่ข้อมูลจากแหล่งข่าว เผยว่า ขณะนี้ โตโยต้า กำลังพิจารณาเพิ่มอีกทางเลือกหนึ่ง คือการผลิตในรัฐเคนตักกี้
เพราะรถรุ่นดังกล่าวเป็นที่นิยมสูง และการเพิ่มอุปทานจากในสหรัฐฯ เอง ก็จะช่วยลดผลกระทบจากภาษีนำเข้า และลดความเสี่ยงจากกรณีเงินเยนผันผวน อีกด้วย
โดย ราฟโฟร์ รุ่นปี 2026 โฉมใหม่ นั้น โตโยต้า มีแผนที่จะทยอยเปิดตัวในตลาดต่าง ๆ ทั่วโลกช่วงปลายปีนี้ และถือเป็นการปรับโฉมครั้งแรก นับตั้งแต่รุ่นเจเนอเรชันที่ 5 ในปี 2019
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นดังกล่าว โตโยต้าได้ชี้แจงกับ รอยเตอร์ส โดยให้ข้อมูลว่า บริษัทได้ศึกษาแนวทางปรับปรุงการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าได้ดีที่สุด และจัดหางานที่มั่นคงให้กับพนักงาน แต่ส่วนที่เกี่ยวกับการผลิตรถรุ่น ราฟโฟร์ นั้น โตโยต้า ตอบเพียงว่า ยังไม่มีแผนที่จะประกาศอะไรในเวลานี้ รวมถึงไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการคาดเดาใด ๆ
ทั้งนี้ ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยตลาด เจเอทีโอ ไดนามิคส์ (JATO Dynamics) เผยว่า ราฟโฟร์ เป็นรถที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกา เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งแซงหน้ารถกระบะ เอฟ 150 (F-150) ของ ฟอร์ด (Ford) ที่ครองอันดับหนึ่งมานานหลายปี โดยปีที่แล้ว โตโยต้าขาย ราฟโฟร์ ได้มากกว่า 475,000 คัน คิดเป็น 1 ใน 5 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในสหรัฐฯ
ขณะที่ โตโยต้า มีโรงงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 11 แห่ง รวมโรงงานชิ้นส่วนรถยนต์ และผลิตรถยนต์ได้เกือบ 1 ล้าน 3 แสนคันเมื่อปีที่แล้ว