รีเซต

กระทรวงเกษตรฯเตรียมลุยโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่

กระทรวงเกษตรฯเตรียมลุยโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่
77ข่าวเด็ด
23 กรกฎาคม 2563 ( 03:04 )
136

ภายหลังครม. อนุมัติ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนด้วยศาสตร์พระราชา-เกษตรทฤษฎีใหม่ พร้อมทั้งเปิดศูนย์เรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ทุกตำบล

เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2563  นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แถลงว่า ขอขอบคุณ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ที่มีมติเห็นชอบโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ งบประมาณ 9,805.707 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ยกร่างและนำเสนอโดยคณะทำงานเกษตรทฤษฎีใหม่ของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ภายใต้คณะกรรมการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน)เป็นประธาน

โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ภายหลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) กรอบวงเงินรวมทั้งสิ้น 400,000 ล้านบาท ภายใต้แผนงาน “การสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก” ใน พรบ.เงินกู้ และถือเป็นโครงการที่ได้รับการอนุมัติในชุดแรก มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อการพึ่งตนเองลงไปถึงระดับหมู่บ้าน ซึ่งถือเป็นทางรอดและต้นแบบของเกษตรรายย่อย เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤติต่าง ๆ และสร้างความมั่นคงทางอาหารในที่สุด

โดยใช้หลักของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วน ๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ จะดำเนินการโดยแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารโครงการฯ

กำหนดคุณสมบัติเกษตรกร จัดทำคู่มือการดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ รับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยต้องมีพื้นที่เกษตรตั้งแต่ 3 ไร่ และพร้อมอุทิศตนเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ชุมชน โดยพื้นที่จะถูกนำมาออกแบบแปลงตามหลักทฤษฎีใหม่และสอดคล้องกับภูมิสังคม โดยจะได้รับสระเก็บน้ำความจุรวม 4,000 ลูกบาศก์เมตร การส่งเสริมและปัจจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากกรมประมง

การปรับสภาพและบำรุงดินจากกรมพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมด้านพืชและไม้ผลจากกรมส่งเสริมการเกษตร การส่งเสริมปัจจัยด้านปศุสัตว์และพืชเลี้ยงสัตว์จากกรมปศุสัตว์ และที่สำคัญเกษตรกรจะได้รับการอบรมบ่มเพาะให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ และพร้อมที่จะเป็นวิทยากรถ่ายทอดในหมู่บ้านของตนต่อไป

ทั้งนี้ วางเป้าหมายดำเนินการในกลุ่มเกษตรกร 4,009 ตำบล (เฉลี่ยตำบลละ 16 ราย) รวมทั้งสิ้น 64,144 ราย รวมทั้งมีการจ้างงาน ตำบลละ 8 คน รวม 32,072 ราย รายได้เดือนละ 9000 บาท/ราย เป็นระยะเวลา 12 เดือน ดังนั้น แต่ละตำบล จะมีทีมตำบลรวม 24 คน เป็นทีมงานที่จะร่วมกันทำงานตลอดเวลา 12 เดือน เพื่อจุดประกาย ขยายผลเกษตรทฤษฎีใหม่ในตำบลของตนต่อไป

​“ความสำเร็จของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ คาดว่าในอนาคตจะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มขึ้นรวม 192,432 ไร่ พื้นที่เก็บกับน้ำจุได้ รวม256 ล้าน ลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,253 ไร่ รวมทั้งเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืน 64,144 ราย เกิดการจ้างงาน 32,072 คน ตลอดจนมีแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ รวม 64,144 แปลง ทั่วประเทศอีกด้วย” นายอลงกรณ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง