เฉลิมชัย ศรีอ่อน ปาฐกถา 'นวัตกรรมยางพารากับเศรษฐกิจยุคใหม่' ตัดริบบิ้นเปิดตัวแอพพ์ Rubber Way
เมื่อวันที่ 9 เมษายน ที่สนามการยางแห่งประเทศไทย เขตภาคใต้ตอนกลาง อ.ช้างกลาง จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศพิธีเปิดงาน มหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” (อ่านข่าว เปิดงานยิ่งใหญ่ ‘มหกรรมยางพารา 2564’ รมว.เกษตรฯ ชู ‘นวัตกรรม’ เพิ่มมูลค่า ดันยางไทยผงาดยืน 1 โลก)
โดยเมื่อเวลา 18.20 น. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานขึ้นกล่าวเปิดงานในหัวข้อ ‘นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่’ ท่ามกลางเกษตรกรชาวสวนยางพาราในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดใกล้เคียง และจากภาคภูมิภาคอื่น ร่วมเป็นสักขีพยาน
ปีทองชาวสวนยาง ราคาดีสุดรอบหลายปี แต่อยากให้สูงกว่านี้
นายเฉลิมชัยกล่าวว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีทองของพี่น้องชาวสวนยาง ถึงแม้จะประสบภาวะวิกฤติอย่างไรก็ตาม แต่ด้วยแนวนโยบาย ความสามารถในการบริหารงานของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย เราสามารถรักษาระดับเสถียรภาพราคายางพาราให้อยู่ในจุดที่ตนคิดว่า ดีที่สุดในรอบหลายปี และสามารถที่จะยืนราคานี้ได้พร้อมกับความร่วมมือของภาคเอกชน ซึ่งต้องยอมรับว่า การบริหารงานขององค์กรหนึ่ง ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยลำพัง แต่ด้วยการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน พี่น้องภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ชาวสวนยางเองด้วย ทั้งนี้ ผลสุดท้ายคือความสำเร็จที่จะให้พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยาง ได้ราคายางที่พึงพอใจ และสามารถอยู่ได้
.
“สำหรับความรู้สึกของผม จริงๆ แล้ว ผมยังไม่พอใจ ยังต้องการให้ราคายางสูงกว่านี้ เพราะคุณค่าและมูลค่าของยางที่เรามี ควรจะได้ราคาสูงกว่านี้ ประโยชน์ที่เราทำ ยางพาราไปใช้ทำได้สารพัดอย่าง ฉะนั้นวั นนี้สิ่งที่ผมคิดว่าจะทำให้เราสามารถรักษาเสถียรภาพและทำให้ราคายางดีขึ้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น อันดับแรกเป็นเรื่องของพี่น้องเกษตรกร การรักษาคุณภาพของน้ำยางเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยก็เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ดูนโยบายในส่วนของการบริหารภาพรวม
ต้องเริ่มต้นจากพี่น้องเกษตรกรก่อน ถ้าวันนี้เราคิดว่าจะไปขายยางแผ่น ยางสด ยางก้อนถ้วยเพียงอย่างเดียว ผมก็เชื่อว่าเราคงจะได้ราคายางอยู่ในระดับนี้ สำหรับงานในวันนี้ ที่ใช้ชื่อว่า นวัตกรรมยางพาราไทย กับเศรษฐกิจยุคใหม่ ผมถือว่าตรงเป้า ตรงประเด็นที่สุด เพราะวันนี้ถ้าเราจะเพิ่มมูลค่าของยางพาราได้ นั่นหมายถึงเราต้องใช้นวัตกรรม ใช้เทคโนโลยี และงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการแปรรูป เพิ่มมูลค่ายางชนิดใดก็ตาม เราสามารถทำได้ และนั่นจึงจะผลักดันให้ยางเรามีมูลค่าสูงขึ้นได้” นายเฉลิมชัยระบุ
ผลักดัน ‘นครศรีธรรมราช’ นครหลวงยางพาราอยากเห็นไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราโลก
.
นายเฉลิมชัย กล่าวต่อว่า จะต้องเป็นความร่วมมือของการยางแห่งประเทศไทย ที่รับผิดชอบโดยตรง, ผู้ประกอบการภาคเอกชน ที่ต้องจับมือกัน ตนเคยพูดอยู่ตลอดเวลาว่า อยากเห็นพี่น้องเอกชนที่ประกอบธุรกิจในเรื่องของการแปรรูปยางทุกประเภท รวยเป็นพัน เป็นหมื่นล้าน อยากเห็นมาก เพราะตนเชื่อในตรรกะที่ว่า ถ้าท่านรวย พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางต้องได้รับด้วย เพราะรวยคนเดียว อยู่ไม่ได้ ฉะนั้น วันนี้นโยบายของเรา คือการส่งเสริมและผลักดันให้เอกชน ผู้ประกอบการ ผู้ลงทุน เข้ามามีส่วนร่วม เพิ่มมูลค่าให้ยางพาราของเรา
.
“การเปิดงานที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ผมถือว่าตรงจุดที่สุด ผมอยากเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของยางพาราโลก ผมมั่นใจว่าเรามีศักยภาพ’มั่นใจว่ายางพาราของเรามีคุณภาพดีที่สุดในโลก แล้วทำไมเราถึงต้องปล่อยให้ประเทศอื่นมากำหนดของเราทั้งหมด ตราบเท่าที่ผมยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผมต้องผลักดันให้ นครศรีธรรมราชเป็นเมืองหลวงยางพาราใหไ้ด้ เพราะถ้าเราทำได้ ไม่ใช่แค่จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้ แต่พี่น้องทุกจังหวัดที่ปลูกยางพาราก็จะได้รับผลตรงนี้ทั้งหมด จะมีหลายสิ่งเกิดขึ้น มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มูลค่ามากขึ้น เราสามารถสร้างมูลค่าจากสิ่งที่เราดำเนินการ ผลทั้งหมดจะไปตกที่พี่น้องเกษตรกรของเรา” ดร.เฉลิมชัยกล่าว และว่า ถ้าทำอย่างนั้นได้พี่น้องแทบไม่ต้องกังวล ยางพาราเกินกิโลกรัมละ 100 บาท แน่นอน ฉะนั้น เราต้องมาช่วยกัน
ดร.เฉลิมชัยกล่าวต่อไปว่า ตนในฝ่ายการเมือง ดูแลกำกับนโยบาย ผลักดันเต็มที่, การยางแห่งประเทศไทย มีหน้าที่รับผิดชอบ, บอร์ดการยางอนุมัติ กำหนดแนวทาง ทุกภาคส่วนพี่น้องผู้ประกอบการ ชาวสวนยาง เราต้องมาช่วยกันผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้
“ทั้งภาคเอกชน พี่น้องสวนยาง ถ้าเกิดขึ้นได้ท่านก็ได้รับประโยชน์, การยางแห่งประเทศไทย ท่านทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ อย่างน้อยที่สุด ผมในฐานะหน้าที่กำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย ก็ได้หน้าไปด้วย นี่คือสิ่งที่ผมได้รับ ผมอยากเห็น แต่ที่เหนือไปกว่าสิ่งอื่นใด อยากให้เงินในกระเป๋าพี่น้องเกษตรกรสวนยางเพิ่มขึ้น วันนี้เราไม่ต้องใช้เงินชดเชยในส่วนกลางของการประกันรายได้ ผมได้เรียนบอกพี่น้องชาวสวนยางตลอดเวลาว่า การประกันรายได้ของเรา ไม่ใช่บอกว่าจะให้ท่านร่ำรวย แต่อย่างน้อยที่สุดในสภาวะวิกฤตอะไรก็ตาม รัฐบาลลงมาดูแลให้ท่านได้เงินไม่น้อยไปกว่านี้ เราเชื่อมั่นว่า ราคาที่กำหนดตรงนี้ไม่ได้ทำให้ท่านรวยแต่ทำให้ท่านอยู่ได้ ไม่เดือดร้อน นโยบายประกันรายได้ของรัฐบาล เราถึงได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ และเงินที่จะใช้ในการเข้าไปผลักดัน ดูแลพี่น้องเกษตรกร ก็ลดลงเรื่อยๆ จาก 24,000 ล้านบาทในปีแรก ที่จะชดเชยให้พี่น้องเกษตรกร นั่นหมายถึงยางราคา 3-4 กิโลกรัม 100 บาท จนมาปีที่ 2 เราจ่ายแค่ 7,000 กว่าล้านบาท ราคาเริ่มขยับ กระทั่งมาถึงปีนี้ ปีที่ 3 เราใช้จ่ายไปแค่ 2,000 กว่าล้าน
.
ผมได้เรียนผู้บริหารการยางแห่งประเทศไทยว่า ถ้าเป็นไปได้ ท่านอย่าใช้เงินอีก แต่ ‘ต้องทำให้ราคายางเกินราคาประกันให้ได้’ เพราะ 1.รัฐบาลไม่ต้องเสียภาษี เอาเงินไปพัฒนาอย่างอื่นได้ 2.เงินในกระเป๋าพี่น้องเกษตรกรเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งหมายถึงอนาคตลูกหลาน ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรสวนยาง” ดร.เฉลิมชัยระบุ
ความมั่นคงของเกษตรกร คือ ‘เสถียรภาพของราคายาง’
ดร.เฉลิมชัยชี้ว่า วันนี้การยางแห่งประเทศไทย ต้องมาดู ‘เรื่องสวัสดิการ’ ให้กับพี่น้องสวนยาง หลายท่านไม่ทราบว่า การยางแห่งประเทศไทยมีสวัสดิการอะไรให้กับพี่น้องชาวสวนยางบ้าง เช่น การประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ นี่เป็นสิทธิโดยชอบธรรมของพี่น้องชาวสวนยางที่ได้รับ กรณีเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น ก็อยากประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องเกษตรกรได้ทราบทั่วกันว่า นี่คือสวัสดิการที่เราจัดให้
“อยากให้ผู้ว่าการยาง และบอร์ดการยางไปดูว่ายังมีนโยบายอะไรอีกหรือไม่ ที่จะช่วยดูแลชาวสวนยางนอกเหนือจากนี้ เพราะผมมั่นใจว่าหลังจากนี้เราจะไม่ต้องใช้เงินใน ส่วนการประกันรายได้อีกแล้ว ก็ไปดูว่าสวัสดิการจะมีอะไรเพิ่มขึ้น ขวัญและกำลังใจคือสิ่งสำคัญที่สุด ผมเชื่อว่าถ้าพี่น้องเกษตรกรสวนยางมีขวัญและกำลังใจ จะทำให้มีกำลังใจในการทำงาน จะผลิตน้ำยางพาราที่มีคุณภาพ จะมีสิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในวงการยางทั้งหมด เราเริ่มต้นและเห็นสิ่งเหล่านี้แล้ว และเราจะเดินไปข้างหน้า
ตอนผมมาใหม่ๆ เกษตรกรชาวสวนยาง ก็ยังมีการประท้วงกันบ้าง ผมมาที่ จ.นครศรีธรรมราช ลงไปดูว่าปัญหาคืออะไร ถ้าวิ่งหนีปัญหาไม่มีทางแก้ไขปัญหาได้ ขอถือโอกาสนี้ขอบคุณพี่น้องชาวสวนยางนครศรีธรรมราช ที่ให้การต้อนรับอบอุ่นมาก ขออนุญาตเข้าพื้นที่ เราต้องจับเข่าคุยกันกับเกษตรกรจริงๆ จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เชื่อว่าปัญหาหลายเรื่องได้รับการแก้ไข จนกระทั่งเราเดินมาในแนวทางที่ถูกต้องแล้ว หลังจากนี้ คือสิ่งที่เราจะต้องทำให้มูลค่าผลิตผลของยาง มีราคาสูงขึ้น เพราะนั่นหมายถึงความมั่นคงของเกษตรกรพี่น้องสวนยางทั้งหมด คือ เสถียรภาพของราคายาง ที่เราไม่ต้องใช้เงินสักบาทเดียว คือความมุ่งหมายสูงสุด” ดร.เฉลิมชัยกล่าว
.
‘นวัตกรรม’ สร้างมูลค่าเพิ่ม มั่นใจฝ่าได้ทุกวิกฤต
ดร.เฉลิมชัยกล่าวต่อว่า เราอาจจะสะดุดนิดหน่อยจากสถานการณ์โลก จากสภาวะโควิด-19 ที่ทุกคนในโลกได้รับผลกระทบ
“ผมเชื่อมั่นว่าเราจะฝ่าฟันวิกฤตตรงนี้ไปได้ และคิดว่าในวิกฤตครั้งนี้ เราต้องช่วยกันสร้างโอกาสในวิกฤตให้ได้ เหมือนกับเมื่อต้นๆ ของการระบาดโควิด-19 ความต้องการของประชากรทั่วโลก ต้องการความร่วมมือเป็นอย่างมาก และน้ำยางเรามีคุณภาพดีที่สุดในโลก เราต้องรักษามาตรฐานตรงนี้ ถ้าเราส่งน้ำยางสดไปขายเพียงอย่างเดียว ก็ได้ราคาแค่ 60-70 บาท เราต้องใช้นวัตกรรมต่างๆ ทำอย่างไรให้มูลค่าเพิ่มได้มากที่สุด นี่คือหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทย และผมจะต้องดูแลพี่น้องเกษตรกรสวนยาง ต้องประสานงานกับผู้ประกอบการภาคเอกชนทั้งหมด
ผมเรียนกับข้าราชการทั้งหลายว่า ถ้าเราบริสุทธิ์ใจ ทำอะไรโดยไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ต้องทำได้ทุกเรื่อง เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น คือสิ่งที่ผมได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี ของการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องขอถือโอกาสนี้ ขอบคุณทุกบริษัทภาคเอกชน คณะกรรมการบอร์ดการยาง ทุกสมัย ทุกรุ่น
เราเพิ่งจะได้ผู้ว่าฯ ตัวจริง จากที่รักษาการมาโดยตลอด ทำให้การบริหารงานราชการอาจจะสะดุดบ้าง แต่หลังจากนี้ ทุกคนเป็นตัวจริงทั้งหมด คงจะเดินหน้าไปตามแนวนโยบายที่ผมได้กล่าว พาอุตสาหกรรมยางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ยังเหลือเวลาอีกประมาณ 1 ปี 1 ปีนี้ยังทำได้อีกเยอะ จะรักษาเสถียรภาพของราคายางให้ดีที่สุด” นายเฉลิมชัยกล่าว
นายเฉลิมชัยกล่าวอีกด้วยว่า ฝากไปถึงพี่น้องเกษตรกร ขอให้มั่นใจ เชื่อใจในการทำงานของเรา ทำงานเป็นทีมทุ่มเททุกอย่าง ในส่วนของการยางแห่งประเทศไทย ข้าราชการกระทรวงเกษตรทุกกลุ่ม ทุกกรม พร้อมจะเข้าไปเป็นพี่เลี้ยง เป็นเพื่อนท่านในการแก้ไขปัญหา พาอาชีพของเราให้เดินไปข้างหน้า เพราะถือว่านี่คือนโยบายของ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในยุคนี้ ขอขอบคุณ และหวังว่าในสถานการณ์เช่นนี้ การที่น้ำมันโลกราคาขึ้น ยางเทียมราคาสูงขึ้น จะเป็นโอกาสทองของเรา ของอุตสาหกรรมและเกษตรกรชาวสวนยางของเราในอนาคตข้างหน้า ส่วนรายละเอียดของการยาง มีนิทรรศการที่ได้จัดแสดงในงานนี้ให้ทุกท่านได้เห็นว่าพัฒนาการของยางพาราเราเป็นอย่างไรบ้าง หวังว่าสิ่งที่พูดไปจะมีโอกาสได้เห็นเป็นรูปเป็นร่างขึ้นจริง
“คนที่ผลักดันคนแรกใน จ.นครศรีธรรมราช ต้องการให้ยางพาราเติบโตและเกิดในที่นี่ คือท่านชินวรณ์ บุณยเกียรติ คุยตั้งแต่วันแรกที่ผมเป็นรัฐมนตรี ว่าจะทำอย่างไร ผมอยากจะสื่อว่า การใช้นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์ กลางไม่ใช่ว่าจังหวัดอื่นไม่สำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้รักษาผลประโยชน์ของยางพาราให้ได้มากที่สุดเท่านั้นเอง ขอบคุณทุกท่านที่ให้การสนับสนุนนโยบาย เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด ดียิ่งๆ ขึ้นไป
ผมในนาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขอเปิดงาน มหกรรมยางพารา 2564 นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา และขออวยพรให้การจัดงานในครั้งนี้ประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ดังที่ทุกคนคาดหวัง สมเจตนาทุกฝ่ายทุกประการที่ต้องการจะส่งเสริมให้พี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา อุตสาหกรรมยางพาราได้เติบโตต่อไปในอนาคต” นายเฉลิมชัย กล่าวเปิดงานมหกรรมยางพารา 2564 “นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา” อย่างเป็นทางการ ในเวลา 18.39 น. ก่อนบันทึกภาพร่วมกับแขกผู้มีเกียรติในงาน
ตั้งเป้า ‘1 ปีก่อนหมดวาระ’ ก้าวเป็นผู้นำยางพาราบนเวทีโลก
ตัดริบบิ้นเปิดตัวแอพพ์ Rubber Way
ต่อมา เมื่อเวลา 19.00 น. หลังการเปิดงาน “มหกรรมยางพารา 2564” นครฯ แห่งนวัตกรรมยางพารา นายเฉลิมชัย พร้อมผู้บริหารระดับสูงจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมชมนิทรรศการ บูธการจัดแสดงต่างๆภายในงาน ทั้งบูธของการยางแห่งประเทศไทย ประจำเขตและภูมิภาคต่างๆ นิทรรศการของกรมชลประทาน เป็นต้น พร้อมตัดริบบิ้น เปิดตัวแอพพลิเคชั่น ‘Rubber Way’ อีกด้วย
นายเฉลิมชัย ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ว่าพึงพอใจในงานมหกรรมยางพารา 2564 ที่จัดขึ้นนี้ เพราะในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการ และนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อชาวสวนยาง ไม่เพียงแค่นั้นยังมีกิจกรรมการจับคู่ทางธุรกิจที่ช่วยให้ผู้ประกอบการ เกษตรกร ผู้แปรรูปมาพูดคุยและเจรจาทางธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยขยายปริมาณความต้องการของยางเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
นายเฉลิมชัย กล่าวถึงบทบาทภาครัฐในการนำยางพาราไปใช้ประโยชน์ อย่างกรมชลประทานนำยางพารามาเป็นทุ่นลอยยน้ำ เอาไว้กันวัชพืชหน้าเขื่อนหน้าฝาย อีกทั้งยังมีเสาหลัก ที่กั้นถ้วยครอบทาง ซึ่งได้พยายามทำราคาให้ใกล้เคียงกับพลาสติกหรือวัสดุเดิม แต่มีความคงทนมากกว่า ซึ่งจะช่วยพัฒนาการยางให้ดีขึ้น
อีกทั้ง รมว.เกษตรฯ ย้ำว่า 1 ปีจากนี้ก่อนหมดวาระ จะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากการเป็นผู้ตาม สู่การเป็นผู้นำด้านการยางในเวทีโลกให้ได้
“อีก 1 ปีจากนี้จะเดินหน้าทำงานตลอด จะรักษาเสถียรภาพราคายางให้มากที่สุด และเร่งขยับขยายในส่วนของนโยบาย ขอพี่น้องเชื่อใจในการทำงานอย่างทุ่มเท เพราะสิ่งที่ต้องการก็คือพัฒนาการของอุตสาหกรรมยางพารา และหวังว่าจะเราการก้าวไปเป็นผู้นำ ไม่เป็นผู้ตามอีกต่อไป” รมว.เกษตรฯ ยืนยัน