รีเซต

เช็คลิสต์ SMEs เดินหน้าต่ออย่างไร

เช็คลิสต์ SMEs  เดินหน้าต่ออย่างไร
TNN ช่อง16
21 ตุลาคม 2563 ( 09:57 )
210
เช็คลิสต์ SMEs  เดินหน้าต่ออย่างไร

เริ่มที่มาตรการพักชำระหนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน ที่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ใช้มากที่สุด และจะหมดอายุลงวันที่ 22 ตุลาคมนี้ 


โดยมาตรการพักหนี้ มีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด คิดเป็นวงเงินหนี้ 6.89 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่ม SMEs ที่รัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญ คือ กลุ่มที่มีหนี้ไม่เกิน 100 ล้านบาท กลุ่มนี้ เข้าร่วมมาตรการพักชำระหนี้ วงเงิน 1.35 ล้านล้านบาท จำนวน 1.05 ล้านบัญชี

วงเงิน 1.35 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่กู้ยืมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ  อยู่ภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงการคลัง วงเงิน 4 แสนล้านบาท จำนวน 7.8 แสนบัญชี กลุ่มนี้ ได้รับการยืนยันว่า ทุกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกาศต่ออายุมาตรการออกไปแล้ว สั้นยาวแตกต่างกันไป

อีกกลุ่ม ลูกค้าธนาคารพาณิชย์วงเงิน 9.5 แสนล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 2.7 แสนบัญชี ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์ ที่อยู่ภายใต้กำกับ เลือกใช้ยาที่เหมาะสมในลูกหนี้แต่ละราย มากกว่าการให้ยาแก้ไข้ หรือการใช้มาตรการเป็นการทั่วไป ซึ่งมีการติดต่อดำเนินการให้ลูกหนี้ SMEs แล้ว 94% เหลืออยู่ราว 6% ที่ยังไม่สามารถติดต่อได้ ซึ่ง 6% นี้ หากไม่มีการติดต่อเข้ามาที่ธนาคารเจ้าของหนี้ สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเป็น NPL หรือ หนี้เสีย และ 6% นี้ เป็นลูกหนี้ 1.6 หมื่นบัญชี วงเงิน 75,000 ล้านบาท 


ธนาคารแห่งประเทศไทย ให้ธนาคารพาณิชย์ ดำเนินมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อเนื่อง แต่ไม่ใช่การช่วยเหลือเป็นการทั่วไปเหมือนรอบแรก และใช้ยาให้ถูกกับโรค ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงแบ่งลูกหนี้เป็น 4 สี คือ สีเขียว คือ ลูกค้าที่กฃับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ กลุ่มนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยยืนยันว่า มีมากกว่า 50% กลุ่มนี้ ไม่ต้องดำเนินการอะไร ตั้งแต่วันที่ 23 ต.ค. ก็กลับมาชำระหนี้ตามปกติ // สีเขียวเข้ม ลูกหนี้ที่กลับมาดำเนินธุรกิจได้ แต่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งกลุ่มนี้สามารถติดต่อธนาคารพาณิชย์ เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ เช่น เคยจ่ายมีรายได้ 1 แสนบาทต่อเดือน ต้องจ่ายหนี้ 3 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันรายได้ลดลงไป 50% เหลือ 5 หมื่นบาท จะต้องจ่ายหนี้ 3 หมื่นบาท สภาพคล่องจะมีปัญหา ต้องเจรจากับธนาคาร ให้ลดค่างวดต่อเดือนลง เป็นต้น โดยระหว่างเจรจาให้ธนาคารพาณิชย์ คงสถานะลูกหนี้ ไม่ให้เป็น NPL ตั้งแต่ลูกหนี้แจ้งความประสงค์ แต่ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน สิ้นปี 2563 

รายการ "เศรษฐกิจ Insight" วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2563

https://www.youtube.com/watch?v=2AIM6TAGrEQ&t=714s

และสีส้ม ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ ให้ธนาคารพาณิชย์ ขยายระยะเวลาในการพักชำระหนี้ เป็นรายกรณีได้ แต่ไม่เกิน 6 เดือน นับจากสิ้นปี 2563 หรือ จนถึง 30 มิถุนายน 2564 // และกลุ่มที่ 4 สีแดง ลูกหนี้ที่ขาดการติดต่อกับสถาบันการเงิน เช่น โทรไม่ติด ไม่รับสาย กลุ่มนี้ธนาคารจะไม่ทราบอาการของลูกหนี้ และไม่สามารถดำเนินการเพื่อช่วยเหลือได้ จึงเสี่ยงหากหมดระยะเวลาพักชำระหนี้แล้ว จะไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ หากไม่จ่ายหนี้ครบ 3 เดือน จะทำให้เกิดหนี้เสีย หรือ NPL อย่างที่บอกไป 6% ของลูกหนี้ SMEs ที่เข้าร่วมมาตรการพักหนี้ ของธนาคารพาณิชย์ คิดเป็น มูลค่า 75,000 ล้านบาท ซึ่งยังคงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด 


ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังประเมินกิจกรรมเศรษฐกิจรายสาขา ประเมินศักยภาพธุรกิจ เพื่อสนับสนุนมาตรการช่วยเหลือ โดยเมื่อเทียบกับช่วงปกติแล้ว กลุ่ม เครื่องดื่ม สินค้าเกษตร เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อาหาร และการค้า อยู่ระดับสีเขียว ใกล้เคียงกับปกติ  

ส่วนกลุ่มสีเหลือง ที่อยู่ระดับ 70-90% กลุ่มยานยนต์ สิ่งทอ และร้านอาหาร เป็นกลุ่มที่ดัชนีการผลิตลดลงไปเกือบ 30% จากช่วงปกติ 

และกลุ่มสีแดง คือกลุ่มที่ดัชนีการผลิตน้อยกว่า 70% หรือรายได้หายไปมากกว่า 30% ซึ่งน่าเป็นห่วง อยู่ในกลุ่มการขนส่งผู้โดยสาร โดยเฉพาะธุรกิจสายการบิน ซึ่งอยู่ระดับ 48% เท่ากับหายไป 52% เมื่อเทียบปีที่แล้ว และกลุ่มโรงแรม ที่อยู่ระดับ 26% หายไป 74% จากปีที่แล้ว ยังน่าเป็นห่วงสำหรับ 2 กลุ่มนี้

 

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังคงผ่อนเกณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ ซอฟท์โลน ที่หมดเวลาในการขอสินเชื่อ 22 ต.ค.นี้ เช่นกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงให้ต่ออายุการยื่นขอสินเชื่อออกไปอีก 6 เดือน และอีกข้อที่สำคัญ คือ ให้ SMEs กลุ่มที่ใหญ่ขึ้นมา คือที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ MAI สามารถขอสินเชื่อได้ จากก่อนหน้านี้ที่ไม่สามารถขอสินเชื่อได้  


ทำไมจึงต้องขยายให้ SME ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ MAI พามาดูผลประกอบการล่าสุด ที่ตลาด MAI เปิดเผยรอบ 6 เดือนแรกของปี2563  162 บริษัท กำไรติดลบ 73% จากปี 2562 ที่มีกำไร 4,016 ล้านบาท ปี 2563 ครึ่งปี มีกำไร 1,086 ล้านบาท กลุ่มที่มีกำไรคือ เกษตรและอาหาร รวมถึงกลุ่มเทคโนโลยี 


แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ อสังหาฯ ติดลบ 393 ล้านบาท ติดลบจากปีที่แล้ว 332.8% / ภาคธุรกิจการเงิน -97 ล้านบาท ติดลบ 129% และภาคการบริการ มีกำไร 699 ล้านบาท แต่ลดลงจากปี 62 คือ ติดลบ 65.4% ซึ่งเป็น 3 กลุ่มที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ 

คำถามสำคัญคือ เมื่อขยายเวลาการยื่นขอซอฟท์โลน และคลายล็อคให้กับผู้ประกอบการในตลาด MAI แล้ว  จะช่วยให้ผุ้ประกอบการเข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่าย และรวดเร็วขึ้นหรือไม่ 


เพราะที่ผ่านมาหลายเดือน (เม.ย.- 12 ต.ค. 63) สามารถปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนได้เพียง 1.1 แสนล้านบาทเท่านั้น  จากวงเงินทั้งหมด 5 แสนล้านบาท หรือ 20% กว่าเท่านั้น ทำให้เม็ดเงินไม่ได้มีการหมุนเวียนเข้าไปช่วยผู้ประกอบการทั้งพยุงธุรกิจ การจ้างงาน และฟื้นเศรษฐกิจเหมือนอย่างที่ตั้งใจเอาไว้ 

ดังนั้น การผ่อนเกณฑ์ซอฟท์โลน รวมถึงการต่อมาตรการช่วยเหลือทางการเงินต่างๆ จะช่วยไม่ให้ลูกหนี้ตกหน้าผาทางการเงินในระยะยาวได้จริงหรือไม่  

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลังกำลังพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมในเร็วๆนี้  เพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมก้าวข้ามผ่านวิกฤติครั้งไปให้ได้  ดังนั้นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม  

ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน เช็คลิสต์ SMEs  เดินหน้าต่ออย่างไร 

https://www.youtube.com/watch?v=2AIM6TAGrEQ&t=714s

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง