รีเซต

‘ทีดีอาร์ไอ’ถอดบทเรียน ปัญหาแรงงานแพร่โควิด-4ข้อเสนอ

‘ทีดีอาร์ไอ’ถอดบทเรียน ปัญหาแรงงานแพร่โควิด-4ข้อเสนอ
มติชน
23 มกราคม 2564 ( 11:44 )
59
‘ทีดีอาร์ไอ’ถอดบทเรียน ปัญหาแรงงานแพร่โควิด-4ข้อเสนอ

หมายเหตุส่วนหนึ่งจากการศึกษาของ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เกี่ยวกับสภาพปัญหาแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าประเทศ ส่งผลต่อการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 รอบใหม่ และข้อเสนอแนะ

จากข้อมูลตลาดแรงงานคนไทยล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติเดือนพฤศจิกายน 2563 สะท้อนภาพของผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ที่มีต่อตลาดแรงงานบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัด

จากการเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่าจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นจาก 6.425 ล้านคน เป็น 7.219 ล้านคน อาจจะทำให้หลายฝ่ายสบายใจขึ้น ผลกระทบของการระบาด โควิด-19 ต่อตลาดแรงงานที่คลายตัวลงมามากพอสมควร

อย่างไรก็ตาม สถิติที่นำเสนอผลกระทบของโควิด-19ในเดือนพฤศจิกายน 2563 ล้าสมัยไปทันทีเมื่อพบว่าหลังวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เป็นต้นมา เกิดระบาดโควิด-19 จากตลาดกลางกุ้ง ซึ่งคาดว่าแม่ค้ารายใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดกับแรงงานจะติดเชื้อโควิด-19 มาจากแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบเข้ามาทำงานในช่วงที่เมียนมามีการระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านั้นก็พบคนไทยที่ลักลอบกลับบ้านตามช่องทางธรรมชาติติดเชื้อมาจากสถานบันเทิงใกล้กับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หลายสิบคน

เป็นเหตุที่พอจะเชื่อได้ว่า เริ่มจากแรงงานต่างด้าวที่ทำงานตลาดกลางกุ้งมหาชัยเป็น super spreaders ซึ่งมีผลกระทบไม่เพียงแต่กลุ่มแรงงานต่างด้าวในธุรกิจต่อเนื่องจากประมงในจังหวัด 3 สมุทร ได้แก่ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และสมุทรปราการเท่านั้น

แต่เนื่องจากประชาชน พ่อค้า แม่ขาย ต้องมาซื้อกุ้งปลา สัตว์ทะเล ไปจำหน่ายในหลายจังหวัดกระจายทั่วประเทศ

อย่างน้อยคือ กลุ่มจังหวัดต่างๆ ในภาคกลาง ทำให้การแพร่กระจายของผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นและกระจายไปหลายจังหวัด ขณะนี้ยังคุมไม่ได้ จำนวนยังเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 3 หลัก

จากสถานการณ์การระบาดจากกลุ่มคลัสเตอร์ (Cluster) ของแรงงานต่างด้าวในกลุ่ม 3 จังหวัดสมุทรที่กล่าวมา หน่วยงานที่มีหน้าที่ควบคุมโรคกำลังยังอยู่ในช่วงรับมือกับการระบาด

ขณะเดียวกันก็เกิดปัญหาการติดเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มธุรกิจสีเทา คือ บ่อนการพนัน บ่อนชนไก่ (ทั้งรายย่อยรายใหญ่) นักพนันเหล่านี้กลายเป็นกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กระจายทั้งภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จนต้องล็อกดาวน์ (Lock down) ในกลุ่มจังหวัดเหล่านี้

ขณะที่บ่อนชนไก่และค่ายซ้อมไก่ชน จ.อ่างทอง ก็กลายมาเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ กระจายการระบาดไปยังภาคกลางตอนบนและกระจายไปสู่ผู้ติดเชื้อรายใหม่ไปอีกหลายจังหวัด

ในที่สุดศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ต้องประกาศบังคับใช้มาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัดสูงสุดกับ 5 จังหวัดต่อเนื่องกัน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง และตราด

ก่อนเดือนธันวาคม 2563 การกระจายของการจ้างงานคนต่างด้าวกระจายไปเกือบทุกจังหวัด แต่การกระจุกตัวรุนแรงอยู่เพียงกรุงเทพมหานคร จังหวัด 3 สมุทรและจังหวัดชลบุรี

ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาการระบาดรอบเดิมมีมาตรการหยุดการเคลื่อนย้ายล็อกดาวน์อย่างมีเงื่อนไข ทำให้ไม่เกิดการแพร่กระจายและพยายามค้นหาคนที่ยังติดเชื้อให้ได้โดยเร็วที่สุด ทำให้สามารถควบคุมโรคระบาดโควิด-19 นี้อยู่ในวงจำกัด

และกลับมาสู่ภาวะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 3 เดือน หากไม่มีซุปเปอร์สเปรดเดอร์ (Super spreader) กลุ่มใหม่มาเพิ่มเติม ประเทศไทยก็จะกลับสู่ความปกติใหม่นิวนอร์มอล (New Normal) อย่างไรก็ตาม การระบาดรอบใหม่นี้ไม่เกินความคาดหมายของหลายคน

ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ผู้เขียนได้เคยให้สัญญาณกับรัฐบาล เตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาแรงงานบางส่วนที่กลับมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าดูแลไม่ดีแรงงานที่กลับเข้ามานี้จะทำให้เกิดการระบาดรอบสอง ซึ่งข้อเสนอเดิมมีรายละเอียดดังนี้

1.หาพื้นที่กักตัวนายจ้างหรือ Organizational Quarantine (OQ) บริเวณชายแดนก่อนนำเข้ามาในส่วนในของประเทศ โดยให้แรงจูงใจลดค่าดูแลจากประมาณ 1,600 บาท เหลือประมาณ 1,000 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้สามีและภรรยาอยู่ด้วยกันได้

2.ให้ระมัดระวังเป็นพิเศษเรื่องแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าไทยตามช่องทางธรรมชาติ โดยไม่ได้ผ่านการตรวจโรคโควิด-19

สำหรับข้อเสนอแรกดูเหมือนจะมีการตั้ง Local Quarantine (LQ) ในบริเวณชายแดนภาคใต้ แต่สำหรับค่าดูแลในส่วนนั้นยังไม่มีข้อมูลว่าทางราชการได้มีการนำไปพิจารณาหรือไม่

แต่ในส่วนข้อ 2 ชัดเจนว่าผลพวงจากการผ่อนคลายความเข้มงวด ปล่อยให้มีการลักลอบของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ก่อให้เกิดการระบาดอย่างรุนแรง (Super spreader) ในเขตที่มีแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างหนาแน่นคือ จังหวัดสมุทรสาคร

การระบาดของผู้ป่วยรอบใหม่เกิดจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน (เมียนมา) จนมาถึงบริเวณชายแดนไทยประมาณเดือนตุลาคม 2563

และมีกลุ่มคนหลบหนีเข้าสู่ประเทศไทยตามช่องทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นพนักงานหญิงจากแหล่งบันเทิงที่เรียกว่า “สาวเอ็น” จนมีการสืบสวนโรคและควบคุมได้ในเวลาอันสั้น

แต่หลังจากนั้นก็เกิดการระบาดที่มีผู้ติดเชื้อทั้งคนไทยและคนงานจากเมียนมาเป็นส่วนใหญ่จนลุกลามมาจนถึงทุกวันนี้

สรุปคือ แนวทางปฏิบัติมิได้เป็นไปในทิศทางที่คาดหวังไว้ กล่าวคือ ถ้าดูแลชายแดนอย่างจริงจังกว่านี้ มีความเข้มงวดจริงจังโดยไม่ลดการ์ด คงไม่เกิดปัญหานี้และถ้าบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังเข้มงวดกับนายจ้างและนายหน้า “เถื่อน” ผู้นำพาแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาและถ้าไม่มีพวก “ผีพนัน” ก็จะไม่เกิด Super spreader อีกรอบ เป็นปัญหาให้เกิดความสูญเสียทางด้านทรัพยากรเกี่ยวการควบคุมการระบาดและเกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมูลค่ามหาศาลหลายแสนล้านบาทแล้วใครจะรับผิดชอบ

ปัญหาเรื่องการระบาดโควิด-19 รอบนี้เกิดขึ้นทั้งส่วนของบางกลุ่ม “ธุรกิจสีเทา” หรือธุรกิจใต้ดินที่อาศัยนายหน้าเถื่อน (คนต่างด้าว) ผีพนัน (คนไทย) ประกอบกับความเห็นแก่ได้ของเจ้าพนักงานและผู้บังคับใช้กฎหมายที่สมประโยชน์ร่วมด้วย ทำให้เกิดช่องโหว่การระบาดอย่างรุนแรงในรอบที่ 2

เรื่องของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายเป็นเรื่องที่เกิดในสภาวะ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง” คือ มีนายจ้างบางคนยอมเสี่ยงใช้คนผิดกฎหมายมาทำงานเพื่อแลกกับค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการนำเข้าตามปกติซึ่งมีต้นทุนไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาทต่อคนต่อการเข้ามาทำงาน 2 ปี

คือจ่ายเพียงประมาณ 6,000-10,000 บาทต่อคน และไม่ต้องจ่ายค่าตรวจโรค ค่า Work permits ค่าประกันสังคม ขณะที่แรงงานต่างด้าวเองไม่ต้องจ่ายเงินค่านายหน้าหลายหมื่นบาท

ธุรกิจสีเทาสนับสนุนแรงงานผิดกฎหมายนี้เกิดจากตัวกลาง 2 ฝ่ายคือ นายหน้าเถื่อนและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลกฎหมายในทุกระดับ

ถ้าเป็นภาวะไม่เกิดโรคระบาดโควิด-19 คงไม่มีปัญหาอะไร ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์ปิดเงียบ แต่คราวนี้ความมา “แดง” ตรงที่คนต่างด้าวผิดกฎหมายที่ลักลอบนำพาเข้ามาอยู่ปนเปกับเพื่อนฝูง ญาติพี่น้องอย่างแออัด ขาดสุขอนามัยในชุมชนต่างด้าว นำเอาไวรัสโควิด-19 เข้ามาด้วย

ซึ่งคาดว่าเป็นเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วทั้งในหมู่คนต่างด้าวและคนไทยที่เกี่ยวข้องกับคนงานต่างด้าวที่ติดเชื้อดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แรงงานต่างด้าวที่ยังอยู่ในไทยแต่ไม่ได้จดทะเบียน และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ต่อไปได้ คนกลุ่มนี้จะไม่มีนายจ้าง เรื่องนี้ทางรัฐบาลได้มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 ผ่อนผันให้คนต่างด้าว 3 สัญชาติอยู่ในราชอาณาจักรได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นกรณีพิเศษ ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสระลอกใหม่ โดยใช้ ม.17 ของ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 ให้คนต่างด้าวรวมถึงผู้ติดตาม

ซึ่งเป็นบุตรของคนต่างด้าวอยู่ในไทยได้ตามสิทธิของบิดาหรือมารดา โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ความห่วงใยกลุ่มแรงงานต่างด้าวอยู่อย่างผิดกฎหมายจะได้รับการขึ้นทะเบียนประวัติ จึงไม่ใช่ประเด็นอีกต่อไป

แต่จะเป็นประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนรอบใหม่ มีการตรวจคัดกรองโควิด-19 และโรคต้องห้ามตามวิธีการกระทรวงสาธารณสุข (ประกันสุขภาพ 2 ปี) ต้องทำให้เสร็จภายในวันที่ 16 เมษายน 2564

และต้องขออนุญาตทำงานต่อกรมการจัดหางานภายในวันที่ 13 กันยายน 2564 ซึ่งค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมอนุญาตทำงาน ค่าตรวจคัดกรองโควิด-19 ค่าตรวจโรคต้องห้าม ค่าประกันสุขภาพ ค่าจัดทำปรับปรุงทะเบียนประวัติ และออกบัตรประจำตัวคนไม่มีสัญชาติไทย รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000-10,000 บาท

แต่คนงานเหล่านี้ยังไม่ได้ทำงานและไม่มีเงินสำรองจ่าย จะทำให้เกิดปัญหาเรื่องการจดทะเบียนครั้งนี้

ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ การระบาดรอบ 2 มีการปิดกิจการในช่วงที่มีการควบคุมโรคที่เกิดระบาดในรอบนี้ คงต้องใช้เวลาอย่างน้อยเป็นเดือนจนกว่าแรงงานต่างด้าวจะมีนายจ้างและทำงานได้เต็มที่มากขึ้น (เมื่อสถานการณ์ระบาดของไวรัสบรรเทาลง)

มีความชัดเจนว่า ช่วงนี้นอกจากแก้ปัญหาคนต่างด้าวติดโรคโควิด-19 แล้วกลับเข้าทำงาน กรณีที่นายจ้างมีปัญหาต้องชะลอจ้างงานหรือหยุดการจ้างงาน ทำให้แรงงานต้องมีการเปลี่ยนนายจ้าง เปลี่ยนอาชีพ เปลี่ยนพื้นที่

ซึ่งกติกาปัจจุบันแรงงานต่างด้าวสามารถมองหางานทำตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะที่แรงงานที่ได้รับจดทะเบียนเป็นกรณีพิเศษน่าจะมีจำนวนนับแสนคน

แรงงานกลุ่มนี้กำลังเดือดร้อนเรื่องปัจจัยสี่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หลังจากได้รับการผ่อนผันให้ได้รับการจดทะเบียนตามมติ ครม.วันที่ 29 ธันวาคม 2563

ข้อเสนอแนะ
1.ลดหย่อนหรือไม่เก็บค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนใหม่จากแรงงานต่างด้าวที่ปลอดจากโควิด-19 แล้ว และเพิ่งได้สิทธิให้ลงทะเบียนให้ทำงานได้ ซึ่งจากการประมาณการค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนใหม่ข้างต้น ประมาณคนละ 10,000 บาท

2.จะทำอย่างไรให้แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้สามารถได้งาน มีนายจ้างโดยเร็ว เพื่อให้นายจ้างช่วยออกค่าใช้จ่ายให้ก่อนแล้วหักเงินเดือนภายหลัง กรมการจัดหางานน่าจะช่วยจับคู่แรงงานกับนายจ้างให้ได้ เช่น ผ่านระบบไทยมีงานทำ และการประชาสัมพันธ์ให้เข้มข้นตั้งแต่บัดนี้

3.เพื่อความอยู่รอดในช่วงเปลี่ยนผ่านที่นายจ้างยังต้องการใช้แรงงานต่างด้าวและแรงงานต่างด้าวต้องการนายจ้าง แรงงานต่างด้าวต้องกินต้องใช้ทุกวัน ขณะที่ไม่ได้รับการเยียวยาหรือลดภาระใดๆ เหมือนคนไทย

ดังนั้นต้องช่วยกันให้ความช่วยเหลือปัจจัยสี่ ค่ากินอยู่ชั่วคราว ค่าที่พักพิง จนกว่าจะได้รับการจดทะเบียนครบถ้วนสมบูรณ์

4.เจ้าของสถานประกอบการ นายจ้าง ภาคประชาสังคม และผู้ต้องการช่วยเหลือทั่วไป สามารถช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่อยู่ในไทยอยู่แล้วได้

เพราะหากแรงงานกลุ่มนี้ต้องกลับประเทศด้วยเหตุปัจจัยที่กล่าวมา สถานประกอบการจะต้องใช้จ่ายอย่างน้อย 3-4 หมื่นบาทต่อแรงงาน 1 คน เพื่อที่จะนำเข้าแรงงานใหม่เข้ามา

ดังนั้นในช่วงหนึ่งเดือนนี้จึงเป็นโอกาสที่ดีของนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง