รีเซต

ทีดีอาร์ไอ ชี้ศก.ไทยตกเหวลึก ฟื้นอีกทีปี 66 หวั่นงบอัดฉีดรัฐน้อยลง ปชช.-ธุรกิจ ดิ้นรนเอง

ทีดีอาร์ไอ ชี้ศก.ไทยตกเหวลึก ฟื้นอีกทีปี 66 หวั่นงบอัดฉีดรัฐน้อยลง ปชช.-ธุรกิจ ดิ้นรนเอง
มติชน
25 มีนาคม 2565 ( 17:29 )
90

ข่าววันนี้ 25 มีนาคม นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาได้อย่างรวดเร็วเท่าที่ควร เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวที่หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 หรือในปี 2562 พบว่าไทยเคยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงเกือบ 40 ล้านคน แต่ในปี 2564 เหลือเพียง 4 แสนคนเท่านั้น ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญที่หายไป

 

โดยหากประเมินสถิติเส้นกราฟพบว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างดีผ่านเส้นกราฟที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง ก่อนจะถูกกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตกเหวลึก และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ตั้งแต่ปี 2563-2564 รวมถึงคาดการณ์ว่าในปี 2565 ก็จะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ อาจต้องรอถึงปี 2566 จึงจะสามารถกลับตัวขึ้นไปได้อีกครั้ง โดยคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2565 จะเติบโตในกรอบ 3-4% ภายใต้กลจักรหลักในการขับเคลื่อนคือ ภาคส่งออก ซึ่งถือว่าเป็นหัวจักรสำคัญของไทย เพราะทิศทางการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

 

นายนณริฏ กล่าวว่า ยังมีปัจจัยความเสี่ยงที่น่ากังวลคือ ภาครัฐมีความสามารถในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจน้อยลงมาก โดยในปี 2563 เรามีการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และในปี 2564 มีการกู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท แต่ในปี 2565 มองว่าอาจจะไม่สามารถมีเม็ดเงินที่ใช้ได้แบบนี้อีก รวมถึงหากเข้าไปดูงบประมาณของภาครัฐในส่วนต่างๆ พบว่ากรอบงบประมาณนอกจากจะไม่ได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังลดลง 5.6% ด้วย ทำให้ปี 2565 อาจเป็นปีที่ภาคเอกชนและประชาชนต้องดิ้นรนสู้ด้วยตัวเองมากพอสมควร ซ้ำยังมีความเสี่ยงพิเศษเพิ่มเข้ามาคือ สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งขณะนี้แม้ยังไม่มีบทสรุปออกมาว่าจะรุนแรงมากน้อยเท่าใด แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วคือ การที่รัสเซียเป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทยหลังจากเกิดการระบาดโควิด-19

 

สงครามดังกล่าวส่งผลกระทบต่อตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญของไทย รวมถึงกระทบให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ ยังต้องติดตามความเสี่ยงของการระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่าการกระจายของเชื้อจะลดลงอย่างไร โดยหากจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มสูงขึ้นเป็นวงกว้าง และไม่สามารถปรับลดลงได้อย่างรวดเร็ว เหมือนภาพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อาจทำให้รัฐบาลต้องกลับมาใช้เวลากับการควบคุมการระบาดอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลซ้ำเติมกับภาวะเศรษฐกิจในปี 2565 ซ้ำไปซ้ำมา

 

นายนณริฏ กล่าวว่า อยากขอตั้งข้อสังเกตุว่า ตลาดทุนไทยอาจยังไม่สามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่มอย่างแท้จริง เพราะในกรณีที่เกิดวิกฤตใหญ่ขึ้น เหมือนการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา หากตลาดทุนถือเป็นแหล่งเงินออมระยะยาวสำหรับประชาชนทั่วไป เราน่าจะได้เห็นการถอนเงินของคนส่วนใหญ่จำนวนมหาศาลออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้เห็นภาพนั้น ทำให้เราอาจอยู่ในตลาดทุนที่ยังเข้าไม่ถึงประชาชน เอสเอ็มอี และธุรกิจที่สามารถเติบโตได้

 

โดยมองว่าเราสามารถทำให้ตลาดทุนเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ได้มากขึ้น ผ่านการแก้ไขปัญหาเรื้อรังคือ สังคมสูงวัย ผู้นำครอบครัวจะต้องหาเลี้ยงทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ทำให้รายได้อาจไม่เพียงพอ และไม่สามารถออมเงินได้ รวมถึงปัญหากับดักรายได้ปานกลาง ที่หากพิจารณาเศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการเจริญเติบโตตกลงเรื่อยๆ ทำให้ต้องหาทางว่า ตลาดทุนจะเข้ามาเป็นแรงส่งให้มีการเติบโตใหม่ๆ ได้หรือไม่ ขณะที่การระบาดโควิด-19 ก่อแผลเป็นในส่วนของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น หนี้ธุรกิจ และหนี้สาธารณะของภาครัฐในระดับสูง ซึ่งอาจต้องมองว่าตลาดทุนจะเข้ามาเป็นส่วนช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร

 

“นโยบายภาครัฐที่ทำให้กังวลใจคือ การหารายได้ของรัฐบาล ผ่านการจัดเก็บภาษีขายหุ้นและภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล เน้นการหารายได้มากกว่า แทนที่จะสนับสนุนให้ตลาดทุนช่วยเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น โดยตลาดทุนคือ ตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มคนที่มีเงินออมกับผู้ที่ต้องการเงินทุน เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมทางธุรกิจหรือกิจกรรมของรัฐ ซึ่งจะต้องพัฒนาให้เติบโตร่วมกันได้ทุกส่วน” นายนณริฏ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง