"TDRI"แนะรัฐเร่งคุย"สหรัฐฯ"หวั่นเสียเปรียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีสหรัฐอเมริกา และจีนบรรลุข้อตกลงพักการเก็บภาษีศุลกากรระหว่างกันเป็นเวลา 90 วัน โดยทั้งสองประเทศจะลดภาษีศุลกากรซึ่งกันและกัน โดยจีนจะลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ จากร้อยละ 125 เหลือเพียงร้อยละ 10 ขณะที่สหรัฐฯ จะลดภาษีสินค้านำเข้าจากจีนจากร้อยละ 145 เหลือร้อยละ 30
โดยผลลัพธ์จากการเจรจาครั้งนี้ส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ เก็บจากจีน ร้อยละ 30 ต่ำกว่าภาษีที่สหรัฐฯ เก็บจากไทยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 36 สร้างความกังวลต่อสถานะการแข่งขันทางการค้าของไทย
ด้าน ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ข้อตกลงดังกล่าวส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการค้าโลกเพียงในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากนโยบายการขึ้นภาษีตอบโต้ของประธานาธิบดีทรัมป์ที่ผ่านมาเป็นความพยายามแก้ไขปัญหาการขาดดุลทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การประกาศขึ้นภาษีในอัตราสูงกับเกือบทุกประเทศทั่วโลกส่งผลกระทบในแง่ลบต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ และทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า จึงเป็นเหตุผลให้สหรัฐฯ ต้องการเร่งบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ โดยเร่งด่วน โดยก่อนหน้านี้ได้เจรจากับอังกฤษ และล่าสุดคือจีน
ดร.นณริฏยัง มองว่า การที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีในอัตราที่สูงมากในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น เป็นกลยุทธ์เพื่อกดดันให้ประเทศต่างๆ เข้ามาเจรจาต่อรอง ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ภาษีอาจจะลงมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10
สำหรับประเทศไทย ความกังวลอยู่ที่การที่จีนได้รับอัตราภาษีจากสหรัฐฯ เพียงร้อยละ 30 ซึ่งต่ำกว่าอัตราที่ไทยถูกเก็บที่ร้อยละ 36 ขณะที่ไทยยังไม่ได้มีการเจรจากับสหรัฐฯ มากนัก ความไม่แน่นอนนี้อาจส่งผลให้นักลงทุนชะลอการตัดสินใจลงทุน รอดูสถานการณ์ว่าอัตราภาษีจะปรับเปลี่ยนอย่างไรในอนาคต
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไทยควรเร่งเจรจากับสหรัฐฯ โดยเร็ว เนื่องจากประเทศที่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนจะได้เปรียบในแง่ของความสามารถในการแข่งขันทางการค้า
สำหรับอัตราภาษีตอบโต้ที่สหรัฐฯ เก็บกับประเทศในอาเซียน มีอัตราดังนี้ กัมพูชา ร้อยละ 49 ลาว ร้อยละ 48 เวียดนาม ร้อยละ 46 เมียนมา ร้อยละ 44 ไทย ร้อยละ 36 อินโดนีเซีย ร้อยละ 32 มาเลเซีย ร้อยละ 24 บรูไน ร้อยละ 24 ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 17 และสิงคโปร์ ร้อยละ 10