ไฟเขียว! จัดรถรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพ เข้ารับบริการครอบคลุมรพ. 11 แห่ง
รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2567 ณ ห้องประชุม ชั้น 8 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง โดยมีนายสุนทร สุนทรชาติ รองปลัดกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
ในการประชุมวันนี้คณะกรรมการฯ มีการพิจารณาโครงการ ได้แก่
1. โครงการติดตาม สนับสนุน และเสริมพลังการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนสาขา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คณะอนุกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพเขตและผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง 50 เขต ได้รับการสนับสนุน และเสริมพลังในการดำเนินงานกองทุนฯ อีกทั้งเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
2. โครงการจัดบริการพาหนะรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขของโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ โดยกรุงเทพมหานครได้มีการดำเนินงานโครงการรถบริการสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครด้านเดินทางดี เป็นหนึ่งในนโยบายที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนพิการและผู้สูงอายุโดยเฉพาะผู้ที่ใช้วีลแชร์ ซึ่งมีข้อจำกัดในการเดินทาง ให้สามารถเดินทางได้อย่างเท่าเทียม จากสถิติคนพิการและผู้สูงอายุที่มารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ ปีงบประมาณ 2566 พบว่ามีคนพิการที่นั่งรถเข็นและเปลนอน ประมาณ 15,000 คน และผู้สูงอายุที่เคลื่อนไหวลำบาก ประมาณ 90,000 คน ซึ่งจำเป็นต้องใช้รถบริการดังกล่าว
ประกอบกับการให้บริการที่ผ่านมา คนพิการและผู้สูงอายุเข้าถึงบริการได้ยาก การให้บริการไม่ครอบคลุม และการให้บริการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของคนพิการและผู้สูงอายุ สำนักการแพทย์จึงหาแนวทางเพื่อทำให้การบริการมีความยั่งยืนและมีการบริการที่ดีขึ้น เนื่องจากคนพิการและผู้สูงอายุที่ใช้รถนั่งหรือรถเข็นมีความจำเป็นต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ซึ่งขนส่งมวลชนทั่วไปยังไม่ครอบคลุม ประกอบกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีการจัดบริการพาหนะรับ-ส่งผู้ทุพพลภาพเพื่อเข้ารับบริการสาธารณสุขจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพมหานคร
ดังนั้น โรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธฺโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลนคราภิบาล โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน โรงพยาบาลรัตนประชารักษ์ และโรงพยาบาลบางนากรุงเทพมหานคร จึงได้จัดทำโครงการนี้ เพื่อให้ผู้ทุพพลภาพได้เข้ารับบริการอย่างทั่วถึง มีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และได้การดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นชอบ โดยให้นำข้อเสนอจากคณะกรรมการไปดำเนินการ ซึ่งเป็นการปรับในรายละเอียดของโครงการบางส่วนให้มีความเหมาะสมมากขึ้น
ในการนี้ รองผู้ว่าฯ ทวิดา ได้แจ้งในที่ประชุมเพิ่มเติมว่า กรุงเทพมหานครจะมีการตรวจสุขภาพในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างในเดือนธันวาคม ซึ่งจะทำให้ได้ข้อมูลสุขภาพและนำมากำหนดนโยบายด้านสุขภาพรวมถึงจัดทำโครงการส่งเสริมสุขภาพให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น