รีเซต

ยากูซ่าญี่ปุ่นดิ้นรน ไร้โทรศัพท์ใช้ เหตุบริษัทโทรคมนาคมเล็งยกเลิกสัญญาณ 3G

ยากูซ่าญี่ปุ่นดิ้นรน ไร้โทรศัพท์ใช้ เหตุบริษัทโทรคมนาคมเล็งยกเลิกสัญญาณ 3G
TNN ช่อง16
28 มิถุนายน 2565 ( 10:03 )
142

ความขัดแย้งระหว่างแก๊งยากูซ่าในญี่ปุ่นปะทุขึ้นอย่างรุนแรง เริ่มต้นขึ้นในวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา หนึ่งในสมาชิกสมาชิกแก๊ง 'ยามากูจิ-กูมิ' จงใจขับรถไปชนทางเข้าออกบ้านของนายทาดาชิ อิเดะ สมาชิกแก๊งศัตรู 'ยามากูจิ-กูมิ โกเบ' ซึ่งทั้ง 2 แก๊งนี้ มีความขัดแย้งกันในอดีตตั้งแต่แยกจากออกจากกัน และเหตุการณ์นี้แม้จะไม่มีใครบาดเจ็บ แต่มันก็ทำให้สถานการณ์ดุเดือดขึ้นเรื่อย ๆ 

และในวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีการยิงปืนกว่า 10 นัด ไปยังประตูทางเข้าบ้านของนายคุนิโอะ อิโนะอุเอะ หัวหน้าแก๊ง 'ยามากูจิ-กูมิ โกเบ' เหตุการณ์ความรุนแรงนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะขาดแคลนเม็ดเงินที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เรียกเก็บค่าคุ้มครอง ค้าอาวุธ ธุรกิจเกี่ยวกับตลาดมืดต่าง ๆ ซึ่งเคยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ 

วิถีชีวิตหรูหรา แต่โทรศัพท์ราคาถูก

หลาย ๆ คนอาจคิดว่ายากูซ่าในญี่ปุ่น จะใช้ชีวิตหรูหรา ทานอาหารแบบอะลาคาร์ท ทั้งเสื้อผ้าชุดสูทราคาแพง เพียบพร้อมไปด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นจริงเช่นนั้น

แต่สำหรับอุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร เช่น มือถือสมาร์ตโฟน กลุ่มแก๊งอาชญากรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นเหล่านี้ ไม่อาจเลี่ยงไปใช้โทรศัพท์สมัยใหม่ได้ พวกเขายังจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์แบบฝาพับรุ่นเก่า เหตุเนื่องจากโทรศัพท์เหล่านี้ใช้สัญญาณ 3G ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนปี 2011 และโทรศัพท์เหล่านี้เองที่ทำให้พวกเขายังไม่ต้องติดคุก 


ข้อนี้กำลังกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกของเหล่ายากูซ่า เพราะบริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ 3 แห่ง ของญี่ปุ่น ได้แก่ Au, SoftBank และ DoCoMo เตรียมยุติการให้บริการสัญญาณ 3G ในเร็ว ๆ นี้


กฎหมายกีดกันองค์กรอาชญากรรม


เรื่องมันเกิดจากที่รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศได้บังคับใช้พระราชกฤษฎีกากีดกันองค์กรอาชญากรรม (Boryokudan Haijo Jorei Law) ซึ่งบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2011 ที่ผ่านมา เพื่อป้องกันไม่ให้บรรษัทห้างร้านทำธุรกิจกับสมาชิกแก๊งยากูซ่า ตั้งแต่นั้นมา สัญญาของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กำหนดให้ผู้ลงทะเบียนต้องสาบานตนว่าไม่ใช่สมาชิกของกลุ่มอาชญากรรม เพื่อหลีกเลี่ยงบทลงโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนเยน ในกรณีที่ผู้ลงทะเบียนเป็นสมาชิกแก๊งอาชญากร


แม้สัญญาดังกล่าวอาจจะถูกปลอมแปลงได้เพียงแค่โกหกไปให้พ้น ๆ  แต่เหล่ายากูซ่ายิ่งต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้นว่าจะตัดสินใจทำ หรือไม่ทำอะไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่สมาชิกระดับสูงของแก๊งกำลังถูกตำรวจกดดันอย่างหนัก โดยตำรวจกำลังมองหาข้ออ้างในการจับกุมพวกเขา และยิ่งกับการฉ้อโกงในสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ หรือธุรกรรมที่เกิดขึ้นในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบธุรกิจของพวกเขาได้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น หรืออธิบายคือ เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมตัวสมาชิกแก๊งยากูซ่าได้ง่าย ๆ หากพิสูจน์ได้ว่ามีการโกหกเกิดขึ้น 


ที่มาของรูปภาพ Reuters


เหตุการณ์ที่เป็น talk of the town ของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นในปี 2017 เมื่อนายคุนิโอะ อิโนอุเอะ หัวหน้าระดับสูงของแก๊งยากูซ่า ยามากูจิ-กุมิ โกเบ ที่กล่าวไปในเบื้องต้น ถูกจับในข้อหาฉ้อโกง เมื่อเขาและผู้สมรู้ร่วมคิดร่วมมือกันเพื่อซื้อโทรศัพท์เครื่องใหม่ ราคาโทรศัพท์นั้นไม่แพง แต่ธุรกรรมซื้อขายโทรศัพท์ครั้งนี้ทำให้ตำรวจจังหวัดเฮียวโงะสามารถบุกตรวจค้นสำนักงานใหญ่ของกลุ่มและสอบสวนสมาชิกกลุ่มคนอื่น ๆ ได้เพิ่มเติม ซึ่งหากนับความเสียหายเป็นตัวเงินก็คงหลักล้าน 


ส่วนปี 2019 สมาชิกยากูซ่าระดับล่างคนหนึ่งถูกจับในข้อหาฉ้อโกงสัญญา โดยเขาระบุตอนสมัครงานพาร์ทไทม์ที่ไปรษณีย์แห่งหนึ่งว่าเขาไม่ได้เป็นสมาชิกแก๊งใด ๆ แต่ปรากฎว่าแท้จริงแล้วเป็นสมาชิกยากูซ่า เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อปี 2020 ที่ตำรวจจังหวัดฮอกไกโดจับกุมสมาชิกยากูซ่าวัย 46 ปีในข้อหาฉ้อโกง เพราะในปี 2018 เขาลงทะเบียนเปิดสัญญาณโทรศัพท์ โดยในสัญญามีการสาบานตนที่ระบุว่าเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแก๊ง

 

ด้วยเหตุปัจจัยเหล่านี้ การจะได้เห็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าระดับสูงใช้สมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ แทบจะไม่มี เนื่องจากสมาชิกยากูซ่าสะดวกใจใช้ซิมการ์ดโทรศัพท์ที่จดทะเบียนก่อนปี 2011 มากกว่า เหตุด้วยกฎหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง แต่เมื่อเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือยังคงก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว และการที่บรรษัทต่าง ๆ กำลังจะยกเลิกสัญญาณ 3G ก็จะสร้างปัญหาให้เหล่าแก๊งอาชญากรรมต่าง ๆ อย่างหนัก


อดีตสมาชิกยากูซ่าต้องดิ้นรน

ปัจจุบันกำลังมีสมาชิกองค์กรอาชญากรรมจำนวนมากกำลังดิ้นรนหางานทำ หลังจากเลิกเป็นยากูซ่า โดยมีเพียง 3.5% เท่านั้นที่สามารถหางานทำได้


อดีตสมาชิกแก๊งอายุ 40 ปีรายหนึ่งที่อาศัยในโตเกียว ซึ่งออกจากแก๊งมาตั้งแต่ปี 2013 เผยถึงปัญหาที่เหล่าบรรดาอดีตยากูซ่าต้องเจอ โดยเขาชี้ว่า อุตสาหกรรมธนาคารมีกฎห้ามไม่ให้ผู้ที่เป็นยากูซ่าเปิดบัญชีธนาคารภายในเวลา 5 ปีหลังจากที่พวกเขาออกจากแก๊งค์ สิ่งนี้ทำให้พวกเขายิ่งต้องอธิบายให้นายจ้างฟังว่าทำไมพวกเขาถึงเปิดบัญชีธนาคารไม่ได้ และปัญหาเหล่านี้ยิ่งทำให้การหางานยากขึ้น

ที่มาของรูปภาพ Reuters



“ผมอาจได้เป็นพนักงานบริษัทเพราะความเข้าใจของนายจ้าง แต่ผู้คนมากมายที่ถึงแม้พวกเขาจะพยายามหางานทำแต่ก็ไม่มีใครจ้าง เพราะการมีรอยสักหรือปลายนิ้วที่ขาดหายไป (การลงโทษสมาชิกในแก๊ง) ทั้งมีคนอีกนับไม่ถ้วนที่หางานไม่ได้ และจบลงที่การไปสู่วิถีเก่า ๆ คือการกลับไปอยู่กับแก๊งเดิม และเริ่มขายยาเสพติด” อดีตสมาชิกแก๊งยากูซ่าระบุ

ทั้งนี้ ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า จากการติดตามและตรวจสอบประวัติ เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา มีอดีตสมาชิกแก๊งราว 5,900 คนลาออกจากองค์กรอาชญากรรม แต่มีเพียง 210 คนเท่านั้นที่สามารถหางานทำได้

อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสังเกตว่า กฎหมายที่มีอยู่ จะเป็นดาบสองคมที่บีบบังคับให้คนที่เคยเลือกเส้นทางผิด ต้องเป็นองค์กรนอกกฎหมายไปตลอดชีวิต และไม่สามารถกลับเข้าสู่อาชีพสุจริตหรือไม่ หรือการใช้กฎหมายแบบตาต่อตา ฟันต่อฟันเช่นนี้ จะทำให้ผู้คนเกรงกลัว และไม่กล้าทำผิดกฎหมายหรือไปข้องแวะเกี่ยวกับยากูซ่า ที่อาศัยเป็นเงามืดอยู่คู่กับสังคมญี่ปุ่นมาหลายร้อยปี ซึ่งโจทย์เหล่านี้เป็นปัญหาใหญ่ของสังคมญี่ปุ่นต้องขบคิดต่อไป

ที่มาของข้อมูล mainichi.jp, asiaone.com, thenewzealandtimes.com

ที่มาของรูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง