รีเซต

สธ. คาด 5 สถานการณ์โควิด หากไม่เข้มมาตรการ อาจติดเชื้อวันละ 2.8 หมื่นราย

สธ. คาด 5 สถานการณ์โควิด หากไม่เข้มมาตรการ อาจติดเชื้อวันละ 2.8 หมื่นราย
มติชน
11 เมษายน 2564 ( 14:29 )
244

 

ข่าววันนี้ 11 เมษายน ที่ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 ว่า สำหรับประเทศไทยวันนี้เพิ่มขึ้น 967 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล(รพ.) 530 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 434 ราย และเดินทางจากต่างประเทศ 3 ราย มีผู้ติดเชื้อสะสม 32,625 ราย หายแล้ว 28,214 ราย เสียชีวิตสะสม 97 ราย ส่วนตั้งแต่ระลอกใหม่ 1 เม.ย.เป็นต้นมา ติดเชื้อสะสม 4,314 ราย การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ฉีดแล้วกว่า 5 แสนโดส เป็นเข็มแรก 485,957 ราย  ครบ 2 เข็ม 69,439 ราย

 

“เมื่อเทียบกับหลายประเทศเรายังควบคุมโรคได้ดี เพราะหลายประเทศเพียงวันเดียวยอดติดเชื้อก็เกินยอดสะสมของเราแล้ว แต่เพื่อให้เราปลอดภัยมากขึ้น จะควบคุมให้ผู้ติดเชื้อในประเทศไม่เกินขีดความสามารถการรักษาพยาบาล เพื่อลดการเสียชีวิต ตอนนี้อัตราป่วยตายเรา 0.3% น้อยกว่าทั่วโลก 7-8 เท่า” นพ.โสภณ กล่าว

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีการติดเชื้อแล้ว 70 จังหวัด ซึ่งเชื่อมโยงจากสถานบันเทิง จากข้อมูลถึงวันที่ 10 เม.ย. ในกรุงเทพมหานคร(กทม.)รายงานติดเชื้อสะสม 1,114 ราย เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง 823 ราย และค้นหาเชิงรุกในชุมชน 234 ราย จ.เชียงใหม่เริ่มจากผู้ติดเชื้อ 9 รายแรกที่นำเชื้อมาสู่สถานบันเทิงเชียงใหม่และทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก ดังนั้น ผู้ที่เคยไปสถานที่เสี่ยง เช่นสถานบันเทิงต้องเฝ้าระวังสังเกตอาการอย่างน้อย 14 วันจากวันที่ไปครั้งสุท้าย หากมีอาการให้ไปตรวจโดยเร็ว และป้องกันตนเองไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น โดยเฉพาะผู้สุงอายุและเด็กในครอบครัว

 

นพ.โสภณกล่าวว่า กองระบาดวิทยา และสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ทำแบบจำลองคณิตศาสตร์เพื่อคาดประมาณจำนวนผู้ป่วยในระยะ 1 เดือนข้างหน้า โดยเปรียบเทียบ 5 สถานการณ์ที่ไม่มีมาตรการและมีมาตรการเพิ่มขึ้น พบว่า 1.หากไม่มีมาตรการใดๆ เลยปล่อยให้การติดเชื้อเป็นไปโดยธรรมชาติ ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 1,308 รายต่อวัน สูงสุด 28,678 รายต่อวัน เฉลี่ย 9,140 รายต่อวัน 2.กรณีมีมาตรการปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัด ต่ำสุด 817 รายต่อวัน สูงสุด 7,244 รายต่อวัน เฉลี่ย 2,996 รายต่อวัน ลดลง 32.8%

 

3.ปิดสถานบันเทิงและเพิ่มมาตรการส่วนบุคคล เช่น สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง ล้างมือ สแกนไทยชนะ ติดเชื้อต่ำสุด 476 รายต่อวัน สูงสุด 1,589 รายต่อวัน เฉลี่ย 934 รายต่อวัน การติดเชื้อลดลงอีก 10.2% 4.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล และลดกิจกรรมการรวมตัว หรือจัดงานปลอดภัยมากขึ้น จำกัดคนเข้าร่วม ผู้ติดเชื้อต่ำสุด 378 รายต่อวัน สูงสุด 857 รายต่อวัน เฉลี่ย 593 รายต่อวัน ลดลงอีก 6.5% และ 5.กรณีปิดสถานบันเทิง มีมาตรการส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัว และเพิ่มมาตรการองค์กรหลังสงกรานต์ เช่น ทำงานที่บ้าน การแพร่เชื้อก็จะลดลงอีก โดยติดเชื้อต่ำสุด 303 รายต่อวัน สูงสุด 483 รายต่อวัน เฉลี่ย 391 รายต่อวัน ลดลงอีก 4.3%

 

นพ.โสภณ กล่าวว่า การปิดสถานบันเทิงใน 41 จังหวัด ไม่อยากให้มองแค่ตัวเลขจังหวัด เพราะจังหวัดอื่นหากมีสถานการณ์ก็สามารถปิดได้ แต่ขอให้สถานบันเทิงใน 36 จังหวัดที่เหลือเข้มมาตรการ เข้มงวดตรวจคัดกรองคนเข้าใช้บริการ เน้นย้ำสวมหน้ากากทั้งทางเข้าและสถานบริการ ตรวจหาเชื้อกลุ่มเสี่ยง เช่น มีทางเดินหายใจ มีประวัติไปใช้สถานบันเทิงในจังหวัดพบผู้ติดเชื้อมาก่อน และต้องติดตามภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ติดเชื้อจะลดลงสอดคล้องกับมาตรการที่กำหนดหรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะดีคงไว้ ถ้ายังมีผู้ติดเชื้ออยู่ก็ต้องเพิ่มมาตรการขึ้นต่อไป

 

“สรุปสถานการณ์ยังน่าห่วง เพราะกระจายหลายจังหวัด แต่ยังจัดการได้ ถ้าทุกหน่วยงานร่วมมือกัน โดยต้องเพิ่มมาตรการ 4 ด้าน คือ 1.มาตรการสังคม คือ ลดกิจกรรมชุมนุมสังสรรค์ ลดการเดินทางข้ามจังหวัดที่ไม่จำเป็น ผู้นำชุมชนค้นหาติดตามผู้เดินทางจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อป้องกันแพร่เชื้อ 2.มาตรการสาธารณสุข คือ คัดกรองเชิงรุก เมื่อทราบว่าติดเชื้อนำเข้าสู่การรักษา เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อต่อ และดูแลผู้ที่มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ป้องกันเสียชีวิต โดยมีการตั้ง รพ.สนาม เพื่อรองรับการดูแลอย่างทั่วถึง รวมถึงให้วัคซีนประชาชนที่เสี่ยง 3.มาตรการส่วนบุคคล คือ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง สแกนไทยชนะ วัดอุณหภูมิ หากมีอาการสงสัยตรวจหาเชื้อ ผู้ที่มีความเสี่ยงให้กักตัว 14 วัน แยกสิ่งของเครื่องใช้ไม่ปะปนกับคนครอบครัว และ 4.มาตรการองค์กร ทั้งรัฐและเอกชน เน้นย้ำการทำงานจากที่บ้าน จัดประชุมหรือจัดการเรียนการสอนออนไลน์” นพ.โสภณกล่าว

 

เมื่อถามถึงกรณีเตียงรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19  นพ.โสภณกล่าวว่า ประเทศไทยนำผู้ติดเชื้อมารักษาใน รพ. แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบสถานการณ์คนมาตรวจและกลับไปรอที่บ้าน เพราะมีระยะเวลารอฟังผล บางคน 1 วันหรือข้ามวัน ขณะนี้ สธ.ประสานงานให้บริหารจัดการเตียงอย่างเป็นระบบ โดยเปิดเบอร์ 1668 เพื่อให้ประสานจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่มีเตียงรักษา นอกจากนี้ ยังมีการบริหารนำผู้ที่รักษาแล้วอาการดีขึ้นย้ายไปอยู่ในโคฮอร์ดวอร์ด หรือ รพ.สนามที่จะเปิดขึ้นใหม่ ก็จะนำรายใหม่เข้าสู่การรักษาได้ ทำให้รับผู้ติดเชื้อได้เพิ่มขึ้น เชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้นใน 1-2 วันนี้ เช่น วันนี้ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเปิด รพ.สนาม 470 เตียง นำคนรักษาอาการดีไม่มีภาวะแทรกซ้อนไปอยู่ กองทัพก็มีการตั้งรพ.สนามเพิ่มขึ้น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพประสาน รพ.เอกชน และโรงแรมตั้งเป็นสถานที่ดูแลคนอาการดีขึ้นแล้วย้ายไปรักษา รพ.ปกติก็มีการรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง