สธ.คาดกลางปี64 ขึ้นทะเบียน อย.วัคซีนโควิด พร้อมวางแผนรับถ่ายโอนเทคโนโลยีจากแอสตราเซนเนกา
รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผยแนวทางดำเนินการต่อภายหลังลงนามจองและซื้อวัคซีนโควิด 19 จากบริษัทแอสตราเซเนกา 26 ล้านโดส เร่งรับถ่ายทอดเทคโนโลยี คาดผลิตได้ในกลางปี 2564 พร้อมยื่นขึ้นทะเบียน อย. กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วางแผนจำนวนการผลิตและขนส่งให้เหมาะสม
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังกรมควบคุมโรคและสถาบันวัคซีนแห่งชาติลงนามจองซื้อและซื้อวัคซีนโควิด 19 จำนวน 26 ล้านโดสจากบริษัท แอสตราเซนเนกา จำกัด ว่า ประเทศไทยสามารถคัดกรอง คัดแยก ควบคุม กักกัน และรักษาโรคโควิด 19 ได้เป็นอย่างดี เหลือเพียงการมีวัคซีนเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้คนไทยมีวัคซีนโควิด 19 ใช้เป็นประเทศต้นๆ ของโลก ทั้งนี้ การลงนามกับบริษัทแอสตราเซนเนกาผ่านการพิจารณาอย่างรอบคอบว่าเกิดประโยชน์ ไม่ได้เป็นการลงนามสัญญาร่วมกับบริษัทที่บกพร่องในการทดลองตามข่าวลือแต่อย่างใด
โดยผลการทดลองในมนุษย์ระยะ 3 เบื้องต้นพบว่า การฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ครั้งแรกจำนวนครึ่งโดส ครั้งที่ 2 จำนวน 1 โดส มีประสิทธิผล 90 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การฉีด 2 ครั้ง ครั้งละโดสมีประสิทธิผล 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ถือว่าเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดคือ เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามประสิทธิผลของวัคซีนในระยะยาวต่อไปด้วย
นายอนุทิน กล่าวว่า สิ่งที่จะดำเนินการต่อภายหลังการลงนาม คือ การเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตวัคซีน จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและแอสตราเซนเนกา โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่มีศักยภาพในการผลิตยาชีววัตถุอยู่แล้วจะเป็นผู้รับการถ่ายทอด เพื่อผลิตวัคซีนให้ได้ตามมาตรฐาน จากนั้นจะยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้กระจายวัคซีนให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่อไป
"ข้อดีของการลงนามกับบริษัทแอสตราเซนเนกาคือ การได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีมาด้วย หากซื้ออย่างเดียวเราก็ต้องซื้อตลอดไป แต่การรับถ่ายทอดเทคโนโลยี ทำให้เราสามารถผลิตได้เอง อย่างวัคซีนที่จองซื้อก็จะเป็นการผลิตภายในประเทศด้วย ทำให้ช่วยลดค่าขนส่ง รวมถึงสามารถผลิตวัคซีนอื่นๆ ด้วยเทคโนโลยีเดียวกันได้ ถือเป็นความมั่นคงของประเทศด้านวัคซีน คาดว่าจะผลิตออกมาได้ในช่วงกลางปี 2564" นายอนุทินกล่าว
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ไม่รอให้ได้ผลการทดลองเสร็จสิ้นแล้วค่อยจองซื้อ เนื่องจากหากรอผลก็จะทำให้การผลิตล่าช้าไปอีก 8-9 เดือน แต่การจองซื้อและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีก่อน เมื่อผลการทดลองออกมาดี ก็สามารถผลิตและนำมาฉีดให้แก่ประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ยังมีอีก 95 ประเทศทั่วโลกที่จองซื้อ รวมกว่า 3 พันล้านโดส หากเรารอให้ถึงวันที่วิจัยทดลองสำเร็จแล้วค่อยซื้อ ก็อาจไม่สามารถซื้อได้
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เหตุผลที่ลงนามร่วมกับแอสตราเซนเนกา เนื่องจากการจัดเก็บวัคซีนใช้อุณหภูมิที่ 2-8 องศาเซลเซียส ไม่แตกต่างจากวัคซีนชนิดอื่น ทำให้สามารถจัดเก็บได้สะดวก บุคลากรมีความชำนาญ การผลิตในไทยช่วยประหยัดค่าขนส่งได้กว่าร้อยล้านบาท ส่วนกลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งจะแล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2563 โดยหลักๆ จะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพราะเป็นกลุ่มที่หากติดเชื้อจะกระทบระบบสาธารณสุขจะไม่มีผู้ดูแลผู้ป่วย ผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีความเสี่ยงอาการรุนแรงสูง หรือมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อสูง
นอกจากนี้ จะพิจารณาจากกำลังการผลิตในแต่ละเดือนเพื่อวางระบบการขนส่งให้เหมาะสม ซึ่งตามสัญญาความร่วมมือประเทศไทยจะผลิตเพื่อนำไปใช้ดูแลในภูมิภาคอาเซียนด้วยโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจะอนุญาตในการส่งออกต่อไปสำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนหากมีการฉีดจำนวนเป็นล้านโดสควรใช้สถานที่ใดมองว่าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมีศักยภาพในการให้บริการ โดยต้องเตรียมความพร้อมในการจัดเก็บและให้ความรู้ประชาชนในการฉีดวัคซีน