รีเซต

8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ กทม.กางแผนรับมือฝนถล่ม น้ำท่วมซ้ำซากใจกลางเมือง

8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมกรุงเทพฯ กทม.กางแผนรับมือฝนถล่ม น้ำท่วมซ้ำซากใจกลางเมือง
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2567 ( 15:20 )
61
ฝนตก น้ำท่วม รถติด เป็นฝันร้ายของชาวกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในจุดพื้นที่ลุ่มต่ำ น้ำท่วมซ้ำซากใจกลางเมือง ในวันฝนตกหนักหากชาวกรุงฯขับรถยนต์ออกจากบ้านมาแล้ว บางครั้งก็ต้องวัดดวงว่าจุดที่เดินทางผ่านจะท่วมแค่ไหน จะท่วมนานเท่าไหร่ หรือ สุดท้ายต้องกลายเป็นผู้ประสบภัยจอดรถแช่น้ำ เพื่อรอการระบาย และ ต้องใช้บริการรถลากจูงเพื่อนำรถยนต์เข้าอู่เสียเงิน เสียทองในการฟื้นชีพรถยนต์คู่ใจ   

โดยกรมอุตุนิยมวิทยา เปิดเผยว่า ช่วงวันที่ 11-13 ก.ค.67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ (ลมฝน) จะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนาม ทำให้ฝนบ้านเรายังมีต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และด้านรับมรสุม (ภาคใต้ฝั่งอันดามันและภาคตะวันออก)
ทำให้ กทม. เร่งเข้าไปตรวจสอบ 8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่สำคัญใจกลางเมือง และ เป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่น โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน  ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาของชาวกรุงฯทุกครั้งเมื่อฝนตกหนัก ต้องเผชิญกับการจราจรติดขัด เสี่ยงรถดับ รถเสีย จากน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก  8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมสำคัญ ประกอบด้วย 


1.บ่อสูบน้ำดูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 เขตราชเทวี 


2. ถนนพระรามที่ 9 บริเวณแยก อสมท. เขตห้วยขวาง


3. ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญา เขตจตุจักร


4.ถนนแจ้งวัฒนะ ช่วงวงเวียนบางเขน เขตบางเขน


5.ทำนบกั้นน้ำคลองลำผักชี ข้างตลาดยิ่งเจริญ เขตบางเขน 


6.ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ บริเวณหน้าอาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) เขตหลักสี่ 


7.โครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 กับถนนประชาชื่น (ถนนหมายเลข 10) เขตหลักสี่ 


8.ถนนแจ้งวัฒนะ ซอยแจ้งวัฒนะ 14 บริเวณบึงสีกัน เขตหลักสี่

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าการเข้าตรวจสอบ 8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่สำคัญ  ซึ่งกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแก้ไขระบบระบายน้ำพร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน  
ซึ่งการเตรียมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่การรับมือเฉพาะหน้า แต่ยังเป็นการติดตามความคืบหน้าก่อนจะเข้าสู่ช่วงฝนตกหนักในปีนี้ โดยกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการปรับปรุงระบบระบายน้ำในถนนสายหลัก เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำ 

โดยเฉพาะ 8 จุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ กทม. ลงพื้นที่สำรวจ และ ติดตามการแก้ไขปัญหาถือเป็นจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่สำคัญซึ่งกรุงเทพมหานครได้ปรับปรุงแก้ไขระบบระบายน้ำพร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้หลายโครงการได้ดำเนินการแล้วเสร็จ สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังใน แต่ละพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โดยจุดแรกได้ลงพื้นที่จุด คือ บ่อสูบน้ำคูน้ำสารวัตรทหารที่ 11 ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี  ซึ่งจุดนี้เป็นโครงการก่อสร้างระบบระบายน้ำในรูปแบบ Pipe jacking เป็นพื้นที่แก้มลิงที่สามารถจุน้ำได้อยู่ที่ 20,000 ลูกบาศก์เมตร สามารถหน่วงน้ำได้อยู่ที่ 6000 ลูกบาศก์เมตร  เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วมถนนศรีอยุธยา และถนนพระรามที่ 6 ซึ่งผลการดำเนินการไปแล้วกว่าร้อยละ 90 มีกำหนดแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2567 โดยขณะดำเนินการโครงสร้างและติดตั้งเครื่องสูบน้ำแล้วเสร็จหมดแล้ว ส่วนที่เหลือรอการไฟฟ้าติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้า ช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ถนนพระราม 6 

ส่วนจุดที่ 2 คือ ถนนพระรามที่ 9 บริเวณ แยก อสมท. ลงตรวจสอบการก่อสร้างบ่อสูบนำถนนพระรามที่ 9 ตอนลำรางแยก อสมท.เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซอยทวีมิตร โดยจุดนี้ดำเนินการแล้วเสร็จเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะระบายน้ำท่วมขังได้ดีขึ้น 

จุดที่ 3 คือ ถนนรัชดาภิเษก ช่วงบริเวณหน้าศาลอาญาติดตามความก้าวหน้าการก่อสร้างท่อลอดถนนรัชดาภิเษก และแผนการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ ผลการดำเนินการร้อยละ 90 กำหนดแล้วเสร็จกรกฎาคม 2567

นอกจาก 8 จุดเสี่ยงสำคัญ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังพบปัญหาน้ำท่วมรวม 737 จุด  


แบ่งเป็นปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด  


ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด 

ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำเหนือน้ำหนุน 120 จุด แบ่งเป็น


- แก้ไขแล้วเสร็จ 26 จุด 
- แล้วเสร็จบางส่วน 38 จุด 
- อยู่ระหว่างดำเนินการ 36 จุด 
- อยู่ระหว่างประสานเอกชนและหน่วยงานราชการ 9 จุด 

ปัญหาน้ำท่วมจากน้ำฝน 617 จุด แบ่งเป็น


- การแก้ไขปัญหาของสำนักระบายน้ำ 144 จุด 
- การแก้ไขปัญหาของสำนักงานเขต 473 จุด

ทั้งหมดเป็นการเตรียมการ และ แผนรับมือฝนตกหนัก ในช่วงท้ายฤดูฝน ปี 2567 ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งชาวกรุงฯส่วนใหญ่หวังว่าการเตรียมพร้อมในปี 2567 นี้ จะช่วยให้การเดินทางในวันฝนตกหนักจะไม่กลายเป็นฝันร้ายเหมือนในอดีต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง