ดีอีเอส เข้าร่วม“องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพฯ”เอ็มโอยูบิ๊กดาต้าข้อมูลสุขภาพ
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือ “โครงการพัฒนาเพิ่มคุณภาพการบริการด้านการแพทย์ และสาธารณสุขผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล” วันนี้ (17 มี.ค.65) ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยเป็นอย่างมาก เป็นเหตุผลสำคัญที่ต้องนำข้อมูลขนาดใหญ่มาช่วยในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข และการวิเคราะห์เพื่อพัฒนางานบริการ จำเป็นต้องอาศัยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange) อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ได้มีความร่วมมือของ 12 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงกลาโหม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรุงเทพมหานคร ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ สภากาชาดไทย มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จับมือกันในชื่อ “องค์กรภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ” จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับ “คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข” เชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ เพื่อเป็นคลังข้อมูล ประโยชน์ต่อสาธารณสุขไทย
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ เนื่องจากองค์กรภาคีเครือข่ายฯ ทั้ง 12 หน่วยงาน ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพระหว่างกัน หวังพัฒนาเป็นคลังข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเครือข่ายสาธารณสุขไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ที่ผ่านมามีการทำงานร่วมกันของดีอีเอส สธ. และ อว. ได้นำร่องในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพผ่านระบบ Health Link ซึ่งปัจจุบันมีโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง ที่สามารถเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลนั้นได้สำเร็จ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข นำโดย ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.อุดม คชินทร ที่ต้องการปฏิรูประบบบริหารจัดการฐานข้อมูล และการสื่อสารของประเทศให้มีประสิทธิภาพสามารถรองรับสถานการณ์การระบาดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต” นายชัยวุฒิกล่าว
ขณะที่ ภายใต้ความร่วมมือจากหน่วยงานทั้ง 12 องค์กร จะช่วยให้เกิดประโยชน์จากการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล ที่ปัจจุบันกระจัดกระจายอยู่ในฐานข้อมูลของหน่วยบริการต่างๆ โดยการจัดทำข้อตกลงร่วมกันพัฒนาการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพ (Health Information Exchange : HIE) จากระเบียนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Personal Health Record : PHR) ของแต่ละฝ่ายระหว่างกัน ทำให้เกิดประโยชน์ของการบูรณาการข้อมูลเพื่อสนับสนุนนโยบายด้านสาธารณสุขของประเทศ ความครอบคลุมทั่วถึงของประชาชนที่มีสิทธิเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ การบริการแพทย์ทางไกล เป็นต้น
โดยมองว่าจะเป็นก้าวสำคัญ สู่การสร้างความร่วมมือพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มกลางการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพของประเทศ (National Health Information Platform) ซึ่งจะมีคลังข้อมูล (Big Data) ด้านสาธารณสุขขนาดใหญ่ สำหรับโครงการฯ นี้ จะเริ่มนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 ซึ่งจะนำไปสู่การปฏิรูประบบการบริการและการรักษาประชาชนของประเทศในระยะต่อไป