รีเซต

'ความหวังสุดท้ายมวลมนุษยชาติ' เปิดฉากประชุม COP26 กู้วิกฤตโลกร้อน ผู้นำทั่วโลกหารือ ผลักดันอนาคตสีเขียว

'ความหวังสุดท้ายมวลมนุษยชาติ' เปิดฉากประชุม COP26 กู้วิกฤตโลกร้อน ผู้นำทั่วโลกหารือ ผลักดันอนาคตสีเขียว
TNN World
1 พฤศจิกายน 2564 ( 18:29 )
139
'ความหวังสุดท้ายมวลมนุษยชาติ' เปิดฉากประชุม COP26 กู้วิกฤตโลกร้อน ผู้นำทั่วโลกหารือ ผลักดันอนาคตสีเขียว

ข่าววันนี้ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือ COP26 เริ่มต้นขึ้นแล้วที่เมืองกลาสโกว์ สหราชาอาณาจักร มีผู้คนโลกคนใดเข้าร่วมการประชุมบ้าง และต้องจับตาอะไร TNN World รวบรวมมาให้แล้ว

 

ใครร่วมประชุมบ้าง?


COP26 ครั้งนี้ บรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ มากกว่า 100 คน จะได้พบกันแบบเจอตัวและเจรจากันอย่างเข้มข้นในวันจันทร์ (1 พฤศจิกายน) และอังคาร (2 พฤศจิกายน) นี้ เพื่อผลักดันให้โลกมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นในการแก้ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่สุดของมวลมนุษยชาติ


มีทั้งประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ, ผู้นำชาติ EU, นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย, นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทยเข้าร่วม


นอกจากนี้ ยังมีระดับผู้แทนของอีกเกือบ 200 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมในระยะสองสัปดาห์นี้ด้วย เพื่อให้โลกบรรลุข้อตกลงในการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตสีเขียวและสะอาดขึ้น โดยมีเป้าหมายว่า โลกต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากยุคก่อนอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเพดานที่กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2015 ในข้อตกลงปารีส


อโลก ชาร์มา ประธาน COP26 กล่าวในพิธีเปิดการประชุมเมื่อวันอาทืตย์ที่ผ่านมาว่า "COP26 คือความหวังสุดท้ายที่ดีที่สุดของเราแล้วในการรักษาอุณหภูมิไว้ที่ 1.5 เซลเซียสให้ได้” 

 

"สภาพอากาศรุนแรงหลายเป็นนิวนอร์มอล"


องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO ออกรายงานเกี่ยวกับสถานะของสภาพอากาศที่ชื่อว่า The State of the Climate report for 2021 ซึ่งเน้นย้ำว่า โลกกำลังเปลี่ยนต่อหน้าต่อตาเรา


WMO ระบุว่า สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น คลื่นความร้อนจัดและน้ำท่วมใหญ่ ได้กลายเป็น “new normal” ไปแล้ว


รายงานพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ย 20 ปี นับจากปี 2002 กำลังอยู่ในเส้นทางที่จะเกิน 1 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเป็นครั้งแรก รายงานยังเผยสถานการณ์อากาศที่เลวร้ายและรุนแรงแบบไม่ปกติในปีนี้ด้วย เช่น


- ฝนตกมากกว่าหิมะ เป็นครั้งแรก ทำสถิติที่ยอดของแผนน้ำแข็งกรีนแลนด์
- เกิดคลื่นความร้อนที่แคนาดาและบางพื้นที่ของสหรัฐฯ อากาศร้อนจัดเกือบแตะ 50 องศาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของรัฐบริทิช โคลัมเบีย
- Death Valley ที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ร้อนถึง 54.4 เซลเซียสในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน
- จีนเกิดฝนตกหนักมากเป็นประวัติการณ์ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แต่ปริมาณฝนเทียบเท่ากับหลายเดือน
- หลายพื้นที่ของยุโรปเผชิญน้ำท่วมรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล
- เกิดภัยแล้งติดต่อกันเป็นปีที่สองในบางพื้นที่ของอเมริกาใต้ ทำให้ปริมาณนี้ที่ลงสู่พื้นที่ล่มแม่น้ำลดลง ส่งผลต่อการเกษตร การขนส่ง และการผลิตพลังงาน
- ระดับน้ำทะเลของโลกเพิ่มสูงขึ้น โดยระหว่างปี 2013 – 2021 ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 4.4 มิลลิเมตร สูงขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ ช่วงปี 1993 – 2002 ที่เพิ่มขึ้น 2.1 มิลลิเมตร ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ระดับน้ำทะเลจะเพิ่มสูงเกินสองเมตรภายในปี 2100 และจะทำให้คนราว 630 ล้านคนทั่วโลกต้องพลัดถิ่นฐาน


อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่า โลกกำลังเปลี่ยนต่อหน้าต่อตาเรา จากก้นลึกของมหาสุทรไปถึงยอดภูเขาสูง จากธารน้ำแข็งที่ละลายมาสู่สภาพอากาศรุนแรงที่ไม่หยุดหย่อน ระบบนิเวศน์และชุมชนทั่วโลกกำลังเผชิญกับหายนะ 


"COP26 ต้องเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับผู้คนและโลกได้แล้ว”

 

เปิดผู้เล่นสำคัญในการประชุมโลกร้อน COP26


กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ UNFCCC นั้นมี 197 ประเทศร่วมลงนาม แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าทุกประเทศจะสามารถบรรลุฉันทามติในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศร่วมกันได้อย่างไร 

 

1. จีน


ขณะนี้ จีนคือผู้ปล่อยก๊าซคาร์บอนรายใหญ่สุดของโลก การกระทำของจีนในอนาคตอันใกล้นี้ จะเป็นตัวตัดสินว่า โลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายเรื่องการลดโลกร้อนได้หรือไม่ 


เมื่อปีที่แล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแผนว่าจีนจะปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงสุดในปี 2030 และจะสามารถเป็นกลางทางคาร์บอนได้ภายในปี 2060 จีนยังให้คำมั่นว่าจะระงับการสนับสนุนโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และจะเริ่มลดการใช้ถ่านหินภายในประเทศในปี 2026 


อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและปัญหาการขาดแคลนพลังงานในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้เชี่ยวชาญของจีนเริ่มถกกันว่า จีนอาจยังไม่พร้อมที่จะเคลื่อนไหวอย่างแข็งกร้าวในการแก้ปัญหาโลกร้อน

 

2. สหรัฐฯ


ในขณะนี้ สหรัฐฯคือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากเป็นอันดับสองของโลก แต่ ตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรวมแล้ว สหรัฐฯคือผู้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด


ในปีนี้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตัดสินใจนำสหรัฐฯกลับเข้าสู่การประชุมโลกร้อน หลังอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ไบเดนให้คำมั่นว่า ภายในปี 2030 สหรัฐฯจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ ราว 50-52% จากระดับที่ปล่อยในปี 2005 


อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงกลับเผขิญกระแสต้านในสภาคองเกรส ปัญหาเหล่านี้ในบ้านจะเป็นอุปสรรคสำหรับสหรัฐฯในการผลักดันให้จีน อินเดีย และบราซิล ทำอะไรมากกว่านี้

 

3. สหราชอาณาจักร


สหราชอาณาจักร เจ้าภาพการประชุม COP26 หวังว่า การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการทำพลังงานถ่านหินให้กลายเป็นอดีตไป ก่อนหน้านี้ สหราชอาณาจักรประกาศว่าจะปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และต่อมายังประกาศว่า ภายในปี 2035 จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 78% เมื่อเทียบกับระดับปี 1990 

 

4. สหภาพยุโรป


สหภาพยุโรป ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 8% ของโลก โดย EU ตั้งเป้าหมายใหม่ว่าจะลดการปล่อยก๊าซลงอย่างน้อย 55% จากระดับของปี 1990 ให้ได้ภายในปี 2030 และปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050  


คาดว่าปีนี้ EU จะผลักดันให้ที่ประชุม COP26 ออกกฎระเบียบให้นานาประเทศตั้งเป้าหมายที่เข้มข้นกว่านี้ทุกๆห้าปี

 

5. กลุ่มประเทศพัฒนาน้อย หรือ LDCs


LDCs มีสมาชิกคือประเทศยากจนที่สุด 46 ประเทศแต่มีประชากรรวมกันหนึ่งพันล้านคน อยู่ในแอฟริกา เอเชียแปซิฟิก และแคริเบียน ซึ่งเป็นประเทศเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งๆที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยสุด


คาดว่ากลุ่ม LDCs จะผลักดันให้กลุ่มชาติร่ำรวยต้องทำตามพันธะสัญญาในการจัดสรรงบประมาณปีละหนึ่งแสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยชาติกำลังพัฒนาในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ซึ่งที่ผ่านมา กลุ่มชาติร่ำรวย ยังไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้

 

6. กลุ่มประเทศทั่วไป


บราซิล แอฟริกาใต้ อินเดีย และจีน อยู่ในกลุ่มดังกล่าว จึงทำให้กลุ่มนี้มีประชากรรวมกันมากที่สุดและมีเศรรษฐกิจที่กำลังพัฒนา จึงทำให้มีการสร้างมลพิษมาก แต่ละประเทศเรียกร้องให้กลุ่มชาติร่ำรวยจัดสรรงบรับมือโลกร้อนให้มากกว่าเดิม และเรียกร้องให้ใช้หลักการของความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความว่า ชาติร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศมาก ต้องรับผิดชอบต่อปัญหานี้มากกว่าชาติอื่นๆ

 

เรื่อง : ธันย์ชนก จงยศยิ่ง
ภาพ : ALAIN JOCARD / AFP

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง