รีเซต

How To อยู่ร่วมกับ “LGBT” ต้อนรับ “Pride Month” พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

How To อยู่ร่วมกับ “LGBT” ต้อนรับ “Pride Month” พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
Ingonn
1 มิถุนายน 2565 ( 09:54 )
1.1K
How To อยู่ร่วมกับ “LGBT” ต้อนรับ “Pride Month” พ่อแม่ควรปฏิบัติตัวอย่างไร

ความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หากพบว่าลูกเราเป็น "LGBT" พ่อแม่หลายคนอาจมีความรู้สึกสับสน ปะปนกับความเป็นห่วง ว้าวุ่นหรือโทษตัวเอง และอาจไม่รู้ว่าจะนำพาชีวิตของตัวเองและลูกไปในทิศทางไหน ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล เพราะโลกใบนี้มีหลากหลายเพศ มีหลายมุมมองที่จะให้คำนิยาม และไม่ได้มีแค่หญิงหรือชายในแบบที่เรารู้จัก 

 

"เปรียบเสมือนเราอยู่ในทุ่งดอกไม้หลากสี เราจะทำอย่างไรจึงไม่เผลอทำลายและมีความสุขในการเห็นความงามของสวนดอกไม้ร่วมกัน"

 

วิธีการที่ง่ายที่สุดในการเข้าใจกันและกันสำหรับพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานเป็น LGBT คือการพูดคุยกันอย่างตรงๆ ไม่อ้อมค้อม และเต็มไปด้วยความเข้าใจ ไม่มีความโกรธ วันนี้ TrueID จึงได้รวบรวมเคล็ดลับสำหรับครอบครัวสีรุ้ง เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 

รู้จักคำศัพท์เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ 

บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เป็นคำที่ใช้ในการเรียกรวมบุคคลที่นิยามตนเองว่าไม่ใช่ผู้ชายและผู้หญิงตามที่ความรู้ ความเชื่อและสังคมวัฒนธรรมได้นิยามและกำหนดไว้

กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยใช้อักษรย่อดังนี้


L = Lesbian (เลสเบี้ยน) คือ หญิงรักหญิง


G = Gay (เกย์) คือ ชายรักชาย


B = Bisexual (ไบเซ็กชวล) คือ หญิงหรือชาย ที่รักได้ทั้งเพศเดียวกัน และเพศตรงข้าม


T = Transgender/Transsexual (ทรานส์เจนเดอร์/ทรานส์เซ็กซ์ชวล) คือ คนข้ามเพศ

 

ปัจจุบันเวลาทำให้ทัศนคติเปลี่ยนไป และภาษาที่ใช้พูดคุยเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เป็นผลให้คำว่า L.G.B.T. เริ่มมีการหยิบยกมาใช้มากขึ้น และมีการเพิ่มตัวอักษรบางตัวเพื่อสื่อถึงการมีอยู่ของเพศทางเลือกต่างๆ ที่เพิ่มขึ้น

 

Q = Queer (เควียร์) คือ คนที่ออกนอกกรอบในเรื่องเพศแบบสุดขั้ว ไม่ยึดติดกับเพศใดๆ


หรือในขณะเดียวกัน “Q” ก็สามารถหมายถึง Questioning (เควสชั่นนิ่ง) คือ “การตั้งคำถาม” ซึ่งเป็นตัวแทนของคนที่ไม่แน่ใจในรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง

I = Intersex (อินเตอร์เซ็กซ์) คือ ภาวะเพศกำกวม ผู้ที่เกิดมามีสองเพศ (ทางกายภาพ)


A = Asexual (เอเซ็กซ์ชวล) คือ เพศที่ไร้ความรู้สึกทางเพศ ไม่มีอารมณ์ทางเพศกับเพศไหนๆ


และตัว Plus หรือ บวก (+) ที่ต่อท้ายด้านหลัง มีความหมายถึงเพศทางเลือกที่มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย

กลายมาเป็นคำว่า L.G.B.T.Q.I.A.+ นั่นเอง!

 

 

 

 

อย่างไรก็ตามการอธิบายหรือการให้คำนิยามดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม และอาจยังมีเพศอีกมากมายที่รอการให้นิยาม

 

ท่ามกลางคลังคำของศัพท์หรือคำนิยามอันหลากหลายเหล่านี้ อาจทำให้บรรดาผู้ปกครองมีความวิตกกังวลว่าจะเรียก บุตรหลานที่มีความหลากหลายทางเพศว่าอะไรดีเพื่อให้เป็นการไม่ทำร้ายหรือสร้างความไม่สบายใจให้ลูก 

 

วิธีที่จะตัดความกังวลและสร้างการสื่อสารที่เรียบง่าย คือใช้วิธีถามตรง ๆ จากลูกหรือบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เรากำลังสื่อสารด้วยว่าพึงพอใจหรือปรารถนาจะให้ใช้คำเรียกแบบไหนอย่างไร เข้าใจและมีความเคารพซึ่งกันและกัน

 

สิ่งที่ผู้ปกครองควรปฏิบัติตัวอย่างไร เมื่อมีลูกหลาน LGBTQ+

1.ไม่เปรียบเทียบ


ผู้ปกครองต้องไม่เปรียบเทียบลูกหลานของตนเองกับเด็ก ๆ คนอื่น เพราะนั่นจะเป็นการลดทอนความมั่นใจและความนับถือในตัวเองของเขาลง สร้างความรู้สึกกดดันเมื่อต้องอยู่ร่วมกับครอบครัว และส่งผลให้ลูกหลานไม่กล้าที่จะพูดคุยเปิดใจหรือเปิดเผยตัวตนมากนักเมื่อต้องอยู่กับครอบครัว บางคนอาจพยายามหลีกเลี่ยงการพบปะครอบครัวไปเลยเพราะความอึดอัดใจ

 

2.สื่อสารกันบ่อย ๆ


พยายามหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกันได้ เพื่อให้ได้ใช้เวลาอยู่ด้วยกันให้มากขึ้น อาจเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติในเชิงบวก เปิดใจรับฟังกัน หรือเรื่องทั่วไปที่เจอในชีวิตประจำวัน 

 

3.สนับสนุน


ไม่ใช่แค่เฉพาะเรื่องเรียน แต่ให้ลองสังเกตความชอบ งานอดิเรกของลูกหลาน ว่าเขามีความสนใจในด้านไหน ให้ชื่นชมและสนับสนุน แต่อย่าชื่นชมจนเกินจริง

 

4.อย่าควบคุมจนเกินไป


ไม่แปลกที่ผู้ปกครองจะรู้สึกเป็นห่วงลูกหลาน กลัวว่าจะไปเจอกับผู้ไม่ประสงค์ดี เมื่อไม่ได้อยู่ในสายตาของคนในครอบครัวตลอดเวลา แต่ก็ควรให้โอกาสเขาได้ลองเรียนรู้การใช้ชีวิต ได้มีประสบการณ์ที่หลากหลายดูบ้าง อย่าคิดจะควบคุมเด็กเอาไว้ตลอดเพียงเพราะเป็นห่วง เพราะในอนาคตเขาก็ต้องออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้างแบบที่ไม่มีผู้ปกครอง 

 

5.ไม่เลือกปฏิบัติ


ไม่เลือกปฏิบัติทั้งต่อตัวเด็กเองและคนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน หรือมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรก็ตาม โดยอาจเริ่มต้นจากการที่คิดว่า อยากให้คนอื่นปฏิบัติกับเราแบบไหน เราก็ปฏิบัติแบบนั้น เพื่อเป็นตัวอย่างให้กับลูกหลาน พร้อมทั้งแสดงให้เห็นว่าเรามีการเปิดใจรับความแตกต่างของคน

 

6.อบรมเรื่องสุขภาวะอนามัย


ไม่ว่าจะเป็นลูกหลานเพศใดก็ตาม ควรได้รับการอบรมเรื่องวิธีการดูแลสุขอนามัยของตนเองตั้งแต่ยังอายุน้อย เพื่อที่จะสามารถดูแลตนเองได้ดีเมื่อเติบโตขึ้น เมื่อมีสุขอนามัยที่ดีก็จะส่งผลให้สุขภาพดีตามไปด้วย 

 

How To อยู่กับความหลากหลายทางเพศอย่างเข้าใจ

 

 

 

 

 

 

 

ข้อมูลจาก คู่มือบ้านนี้มีความหลากหลาย สสส. , motherhood

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง