ทำอย่างไรดี? ลูกเปิดเทอมทั้งที แต่พ่อแม่มีความกังวลใจ

Back To School! เข้าช่วงเปิดเทอมแบบนี้ นับเป็นช่วงเวลาที่น้อง ๆ วัยเรียนหลายคน
ตื่นเต้นและดีใจที่จะได้กลับไปใช้เวลากับเพื่อน ๆ ที่โรงเรียน รวมไปถึงคุณพ่อคุณแม่ที่รู้สึกอุ่นใจ และหายเหนื่อยไปพร้อม ๆ กัน ถึงจะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่การบริหารจัดการและดูแลลูก ๆ นั้น ก็เป็นเรื่องที่ใช้พลังงานไม่น้อย แต่เปิดเทอมแล้วก็ใช่ว่าจะสบายใจ เพราะมีเรื่องอีกมากมายที่ผู้ปกครองมักจะกังวลใจและเป็นห่วงลูก ๆ
จะเตรียมความพร้อมและรับมือกับความกังวลที่เกิดขึ้นได้อย่างไร? วันนี้ Me Center มีคำแนะนำจากธีรวรรณ ดีบ้านคลอง และ เบญญารัศม์ จันทร์เปล่ง นักจิตวิทยาคลินิก Me Center มาฝาก
ความกังวลของพ่อแม่เมื่อลูกเปิดเทอม
1. กังวลเรื่องการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวจากการปิดเทอมไปเปิดเทอม ต้องตื่นเช้า เข้านอนเร็ว หรือการที่ลูกต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ ๆ โรงเรียนใหม่ ขึ้นชั้นเรียนใหม่ เพื่อนใหม่ ฯลฯ
2. กังวลเรื่องการเรียน กลัวลูกจะเรียนไม่ทันเพื่อน กลัวเรียนไม่เข้าใจ กลัวเรียนในห้องแล้วความรู้ไม่พอที่จะทำให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนดี ๆ หรือมหา’ลัย ดี ๆ ได้
3. กังวลเรื่องความปลอดภัย (ทั้งด้านสุขภาพและอุบัติเหตุ) กลัวว่าลูกจะได้รับอันตรายตอนเดินทางไปโรงเรียน ตอนอยู่โรงเรียน หรือกลับจากโรงเรียน เช่น การถูกลืมในรถ อุบัติเหตุต่างๆ หรือ ถูกลูกหลงจากการทะเลาะวิวาทในที่สาธารณะ ฯลฯ รวมถึงกังวลเรื่องสุขภาพ และโรคติดต่อ กลัวเรื่องโรคติดต่อในโรงเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก
4. กังวลเรื่องการเลือกคบเพื่อน กลัวลูกจะเลือกคบเพื่อนที่ไม่ดี ซึ่งอาจนำไปสู่สังคมหรือทางที่ไม่เหมาะไม่ควร
5. กังวลเรื่องพฤติกรรมลูกที่อาจจะเปลี่ยนไป เช่น ก้าวร้าว พูดคำหยาบ ไม่เหมาะสม กลัวลูกจะมีพฤติกรรมที่ไม่ดี เลียนแบบผู้ใหญ่ หรือติดมาจากกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน
6. กังวลเรื่องการถูกบูลลี่/ ถูกรังแก กลัวว่าลูกจะถูกทำให้เป็นตัวตลกและอับอาย ถูกกลั่นแกล้งรังแก ถูกล้อ สร้างความกระทบกระเทือนทางใจ สร้างความรู้สึกไม่ดีกับผู้ปกครองที่ไม่สามารถปกป้องดูแลลูกได้ หรือแม้แต่สร้างความรู้สึกที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับลูกได้ สร้างความรู้สึกไม่สบายใจและกังวลใจให้กับผู้ปกครอง
7. กังวลเรื่องความเครียดของลูก กลัวลูกเครียด กดดัน หรือเหนื่อยเกินไป
วิธีจัดการความกังวล เตรียมความพร้อมผู้ปกครอง
1. แยกความจริง ออกจากความกังวล
พิจารณาดูก่อนว่า เป็นความจริง หรือเป็นสิ่งที่เรากังวล บางครั้งความกังวลทำให้เราไม่อยู่กับความเป็นจริง เพราะไปคิดถึงเหตุการณ์หรือสถานการณ์ล่วงหน้า และมักคิดในเชิงที่ร้ายแรงไว้ก่อน หากเป็นจริง เราสามารถจัดการสถานการณ์นั้นได้ตามความเหมาะสม
2. พาตัวเองมาอยู่กับปัจจุบัน
เมื่อความกังวลมากขึ้นเรามักไม่อยู่กับปัจจุบัน ลองพิจารณาจากเหตุการณ์ปัจจุบันก่อนว่าเป็นอย่างไร แนวโน้มที่จะเกิดสิ่งนั้นมากน้อยแค่ไหน หากสิ่งที่คิดที่กังวลไม่เกิดจะเป็นอย่างไร การนำตัวเองมาอยู่กับปัจจุบันอาจทำได้โดยการค่อย ๆ หายใจเข้าลึก ๆ ช้า ๆ ยาว ๆ จดจ่อที่การหายใจ ไม่โฟกัสสิ่งอื่น
3. เราควบคุมได้แค่บางอย่าง ไม่ใช่ทุกอย่าง
ค่อย ๆ ทำความเข้าใจว่าเราไม่สามารถควบคุมทุกอย่างที่จะเกิดขึ้นได้ (ปรับความคิด) แต่ถ้าหากเราทำทุกอย่างที่คิดว่าทำได้ในขณะนั้นแล้ว ขอให้เป็นเรื่องของกระบวนการในการจัดการ
4. สื่อสารพูดคุยด้วยคำพูดทางบวกไม่ใช่ความกลัว
ไม่พูดอะไรที่เป็นคำพูดที่บ่งบอกถึงความกังวลหรือความกลัว ให้ลูกรู้สึกตาม อาจใช้คำถามปลายเปิด เช่น “วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง”
5. ค่อยๆเข้าใจโลกของลูก
ให้ลูกมีความรู้สึกว่าผู้ปกครองก็เป็นเพื่อนคนหนี่งของตนเอง จะทำให้ผู้ปกครองทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูก และสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้แก่ลูกได้ง่ายขึ้น และหากกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูก อาจสอบถามจากครูประจำชั้นว่าลูกถึงโรงเรียนหรือยัง หรือใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ในการสื่อสาร
หากสนใจปรึกษาจิตแพทย์ และนักจิตวิทยาคลินิก ติดต่อได้ที่
Me Center คริสตัล ดีไซน์ เซนเตอร์ (CDC) ชั้น 2
โทร 085-355-2255
Me Center ศูนย์สมองและสุขภาพจิต ชั้น 8 โรงพยาบาลอินทรารัตน์
โทร 02-481-5555 ต่อ 8300
Line Official: @mecenter (https://lin.ee/mCheDsu)