โควิด-19 ระบาดหนักในญี่ปุ่น เหล่า ‘เกอิชา’ ซึ่งเป็นอาชีพบริการเองก็กระทบหนัก

Editor’s Pick: เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในญี่ปุ่น เหล่า ‘เกอิชา’ ซึ่งเป็นอาชีพบริการเองก็กระทบหนัก จนวัฒนธรรมล้ำค่านี้ของญี่ปุ่น เสี่ยงขาดผู้สืบทอด
บริษัทผู้ให้บริการเกอิชาแห่งหนึ่งจึงใช้แรงเฮือกสุดท้าย ระดมทุนทางอินเทอร์เน็ต แต่ที่ต้องตกใจ คือ เสียงตอบรับของชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศ ที่ร่วมสมทบทุนสนับสนุน เพื่อให้เกอิชายังคงอยู่ต่อไป
โฉมสคราญผู้สร้างความเริงรมย์
เกอิชา (Geisha) คือ สตรีผู้ชำนาญศิลปะและผู้สร้างความเริงรมย์ให้กับแขกบุรุษเพศ ถือเป็นอาชีพดั้งเดิมที่เคยรุ่งเรืองในอดีตของญี่ปุ่น และปัจจุบัน ก็ยังหลงเหลือให้เห็นในหลายเมืองใหญ่
แต่เมื่อโควิด-19 ถล่มญี่ปุ่น เกอิชา ซึ่งเป็นอาชีพบริการแบบซึ่งหน้า ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิดเช่นกัน นำมาสู่ทางออกใหม่ที่เหล่าสตรีในอาภรณ์กิโมโนงามสง่าคงไม่คาดคิดกับการพึ่งพาโลกออนไลน์
การระดมทุนแบบ ‘คราวด์ฟันดิง’ ผ่านโลกอินเทอร์เน็ต กำลังช่วยอนุรักษ์ประเพณีและธุรกิจอันเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่น อย่างชุมชนเกอิชา ในเมืองนีงาตะ ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น
คนรุ่นใหม่ไม่สนใจเป็นเกอิชาแล้ว...โควิดยิ่งซ้ำเติมหนัก
อันที่จริง อาชีพเกอิชาประสบปัญหามาหลายปีแล้ว พร้อมคนรุ่นใหม่สนใจมาฝึกฝนเป็นเกอิชาน้อยลง ส่วนหนึ่งเพราะต้องใช้เวลาฝึกยาวนาน ขัดเกลาทักษะการใช้เครื่องดนตรีและเริงระบำ อีกทั้ง ลูกค้ากระเป๋าหนักที่จะมาใช้บริการพวกเธอก็ลดน้อยลง ท่ามกลางตัวเลือกความบันเทิงใหม่ ๆ ที่สะดวกสบาย มากกว่าการต้องเดินทางมาหาเหล่าเกอิชาด้วยตนเอง
ชุมชนเกอิชาในเมืองนีงาตะ ถือว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนาน เรียงรายด้วยร้านน้ำชา ร้านอาหาร หอจัดเลี้ยง สถานที่ให้เหล่าเกอิชาได้ออกไปจัดการแสดงและบริการลูกค้า, แต่เมื่อโควิดระบาด กิจการเหล่านี้ก็ต้องหยุดไป เพราะรัฐบาลร้องขอให้หยุดการดื่มกินนอกบ้าน และพยายามห่างจากผู้อื่น
“สำหรับเกอิชา ข้อห้ามเหล่านี้ทำให้พวกเธอทำหน้าที่ไม่ได้เลย ปีที่แล้ว โควิดทำให้พวกเราลำบากกันมาก” มิยูกิ ทานาฮาชิ กล่าว เธอเป็นผู้ดูแลเกอิชา 12 คน ที่ทำงานให้กับบริษัท Ryuto Shinko Co.
“เราสูญเสียรายได้ 90%”
บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นในปี 1987 ถือเป็นบริษัทแรกในญี่ปุ่นที่พยายามผสมผสานการประกอบธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อฝึกสอนและจัดจ้างเกอิยา โดยใช้เว็บไซต์เพื่อแนะนำเกอิชาในสังกัดแต่ละคน รวมถึงส่งพวกเธอไปจัดแสดงในหลายพื้นที่ทั่วเมือง แต่การให้บริการเหล่านี้ ต้องหยุดชะงักไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
“ในช่วงแรก เราหวังว่าปัญหาจะจบเสียที แต่ก็กลายเป็นว่า โควิดคงอยู่กับเราไปอีกนาน” ทานาธาชิ กล่าวกับ This Week in Asia
“ก่อนหน้านั้น งานก็มีน้อยอยู่แล้ว พอเจอแบบนี้ เราสูญเสียรายได้ 90% ของธุรกิจไปเลย เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด”
ภารกิจต่อลมหายใจ 10 ล้านเยนใน 51 วัน
นั่นจึงนำมาสู่มาตรการฉุกเฉินชั่วคราว ด้วยการระดมเงินทุนจากอินเทอร์เน็ต ด้วยวิธีการ ‘คราวด์ฟันดิง’ เพื่อช่วยต่อสานป่านธุรกิจ จนผ่านพ้นโควิดไปได้ แต่ผลลัพธ์กลับทำให้เธอคาดไม่ถึง
“ตอนแรก เราตั้งเป้าที่ 10 ล้านเยน (2 ล้าน 8 แสนบาท) เพื่อสนับสนุนกิจการของเราในปีนี้ โดยแคมเปญเริ่มเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา นาน 51 วันจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน เราใช้รูปแบบ ‘ได้หรือไม่ได้เลย’ หมายความว่า ถ้าเราทำยอดได้ไม่ตามเป้า เราจะคืนเงินให้กับผู้บริจาคทั้งหมด” ทานาฮาชิ อธิบาย
ทางบริษัทโพสต์แคมเปญดังกล่าวผ่านสังคมออนไลน์ พวกเกอิชาด้วยกันเอง ก็ใช้ช่องทางสังคมออนไลน์ส่วนตัว เพื่อบอกแขก ๆ ให้ช่วยสนับสนุน
ทะลุ 7 ล้านบาทไปแล้ว และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
แคมเปญของพวกเธอได้รับเงินสนับสนุนอย่างมากมาย, เพียง 11 วันแรก ก็ได้รับเงินเกิน 10 ล้านเยนแล้ว จนตอนนี้ ต้องปรับเป้าหมายใหม่เป็น 20 ล้านเยน หรือกว่า 5.6 ล้านบาท แต่ก็ทำทะลุเป้าเช่นกัน เพราะตอนนี้ ระดมเงินได้กว่า 25.15 ล้านเยน หรือกว่า 7.1 ล้านบาทแล้ว
ผู้บริจาคมีตั้งแต่ 3 พันเยน ไปถึงคนหนึ่งมากถึง 3 ล้านเยนเลยทีเดียว, ทานาฮาชิตกใจมาก และดีใจ ที่ผู้คนทั่วญี่ปุ่นร่วมกันสนับสนุนวัฒนธรรมเกอิชา
หน้าแคมเปญมีผู้สนใจเข้ามาให้กำลังใจกว่า 400 ข้อความ “พยายามเข้า” “สู้ ๆ นะ”, ข้อความหนึ่งอ่านว่า “พวกคุณคือส่วนสำคัญของวัฒนธรรมนีงาตะ ผมสนับสนุนพวกคุณ”
ชุมชนเกอิชาแห่งนีงาตะ
ทอม นากาโนะ เจ้าหน้าที่กรมการท่องเที่ยวและการประชุมของจังหวัดนีงาตะ ยอมรับว่า เกอิชาสำคัญต่อวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมาก
“นีงาตะเป็นเมืองท่าที่สำคัญของเส้นทางขนส่งแนวชายฝั่ง ‘คิตามาเอะ’ เพื่อการค้าข้าวในยุคเอโดะและเมจิ จึงมีผู้คนมาเยี่ยมเยียนเมืองนี้มาก”
“วัฒนธรรมร้านอาหารแบบ ‘เรียวเท’ และเกอิยา มีประวัติตั้งแต่สมัยนั้นแล้ว พวกเธอจะคอยให้บริการผู้มาเยือนในย่านฟูรุมาจิ” ทอม นากาโนะ เล่า และวันนี้ เขายอมรับว่า เหล่าเกอิชาแห่งนีงาตะ กลายเป็นความภาคภูมิใจของชาวเมืองไปแล้ว