นายกรัฐมนตรีนัดถกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 19 พ.ย.นี้ ดันแจกเงินดิจิทัลเฟส 2
นายกรัฐมนตรีนัดถกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 19 พ.ย.นี้ ดันแจกเงินดิจิทัลเฟส 2เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน หวังดันจีดีพีโตเกิน 3%
#ทันหุ้น นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่มี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน วันที่ 19 พ.ย. 67 นี้ จะมีการหารือกันในหลายประเด็น ทั้งเรื่องภาพรวมเศรษฐกิจ การลงทุน และเรื่องอื่นๆ ที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว โดยรัฐบาลอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตให้เกินกว่า 3%
สำหรับโครงการเติมเงินหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเลต เฟส 2 นั้น เรื่องนี้ก็จะมีแนวทางที่ต้องมีการหารือในหลักเกณฑ์ที่จะดำเนินการในระยะต่อไป เพราะรัฐบาลเพิ่งเติมเงินให้กลุ่มเปราะบาง 14 ล้านคนเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ต้องดูช่วงเวลาที่เหมาะสมจะทำมาตรการนี้ด้วย หากเศรษฐกิจโตก็ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าเศรษฐกิจยังไม่โตก็ต้องทำในมาตรการนี้ ซึ่งเป็นมาตรการระยะสั้นต่อไป
ทั้งนี้ ดิจิทัล วอลเล็ตเป็นเครื่องมือที่ได้ประโยชน์หลายด้าน ทำให้คนได้เรียนรู้ระบบดิจิทัล ซึ่งสามารถเชื่อมกับนโยบายภาครัฐได้ ซึ่งเป็นนโยบายหลัก ๆ ที่เราอยากเห็น แต่ต้องดูความพร้อมของระบบ ถ้าในช่วงเวลาที่จะใช้มาตรการระบบแพลตฟอร์มดิจิทัลมีความพร้อมก็อาจจะพิจารณาใช้ในส่วนนี้ได้
นายพิชัยกล่าวว่า ขณะเดียวกันรัฐบาลจะมีการรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งได้มีการหารือกับสถาบันการเงินมาแล้ว โดยสิ่งที่รัฐบาลทำคือ เข้าไปช่วยปรับโครงสร้างหนี้เก่า เช่น การให้จ่ายหนี้ลดลง การยืดหนี้ เพื่อลดภาระของลูกหนี้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้สามารถไปต่อได้ และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องเร่งทำ คือ การผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงสินเชื่อให้มากขึ้น โดยต้องแก้ปัญหาหนี้เก่า
“สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นคือการเข้าไปช่วยให้ประชาชน มีภาระการผ่อนลดลง แต่ตัวหนี้เท่าเดิม เพื่อไม่ให้สร้างวินัยทางการเงินที่ไม่ถูกต้อง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการแฮร์คัท ลดตัวหนี้ เพราะเรื่องแฮร์คัทที่ผ่านมา เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เป็นการคุยกันระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงินแต่ละรายมากกว่า โดยตอนนี้ข้อเสนอใหญ่ ๆ มีการหารือกันแล้ว ยังเหลือบางเรื่องที่ต้องตกลงในรายละเอียด ซึ่งส่วนตัวอยากให้จบเร็วที่สุด ถ้าจบก็เสนอให้คณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจได้เลย แต่ถ้าไม่จบ ก็ต้องรายงานความคืบหน้า”
ส่วนข้อเสนอของสถาบันการเงินในการลดเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลง 0.23% นั้น ถือเป็นรายละเอียดใหญ่ ๆ ที่มองว่าหากเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนก็ต้องทำ
ขณะที่ การสรรหาประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีกระแสเลือกนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เข้ามาดำรงตำแหน่งดังกล่าวนั้น ขณะนี้ ยังไม่ได้รับรายงานผลการสรรหา จากคณะกรรมการสรรหาฯ และส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียด ทราบจากข่าวเช่นเดียวกัน