"รัฐบาล" ยันแผนใช้ 5 แสนล้านเคร่งครัด วอนประชาชน มั่นใจบริหารเงินกู้โปร่งใส่
เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 นั้น พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว มีการกำหนดแผนการใช้เงินกู้อย่างชัดเจน โดยการใช้จ่ายต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด ซึ่งประกอบด้วย 3 แผนงาน ได้แก่ (1) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของ โควิด-19 วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ (2) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้ประกอบอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และ (3) แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน/โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ทั้งนี้ ในกรณีจำเป็น ครม.สามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการภายใน 3 วัตถุประสงค์นี้ได้ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
นายอนุชา กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐบาลได้มีการกำหนดอย่างชัดเจนในพ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 แผนงานดังที่กล่าวมาแล้วไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนได้มีความมั่นใจ ถึงเจตนาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างแท้จริง และขอให้ประชาชนได้มั่นใจถึงความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ 5 แสนล้าน และเจตนาของรัฐบาลในการใช้จ่ายเงินกู้นี้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 หรือ พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทนั้น ณ วันที่ 21 พฤษภาคม 2564 ครม. ได้มีมติอนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 287 โครงการ รวมวงเงินทั้งสิ้น 817,223 ล้านบาท และได้มีการเบิกจ่ายแล้ว จำนวน 680,099 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 83.22 ของ วงเงินที่ครม. อนุมัติ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 2563 มีอัตราตัวเลขที่หดตัวในปริมาณที่ดีกว่าที่หลายหน่วยงานอย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ IMF ได้คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ วงเงินกู้ส่วนที่ยังเหลืออยู่ใน พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทนั้น รัฐบาลได้เตรียมการที่จะออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งได้รับการอนุมัติในหลักการจากครม.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3,โครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” และโครงการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะเสนอรายละเอียดของโครงการเพื่อให้ครม.พิจารณาในระยะต่อไป
“สถานการณ์การระบาดของเชื้อ โควิด-19 ในระลอกนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ ทำให้ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเตรียมการรองรับผลกระทบจากการระบาดระลอกนี้ และมีความจำเป็นที่ต้องออกพ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทนี้ เพื่อให้มีงบประมาณเพิ่มเติมสำหรับใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอันเนื่องมาจากการระบาดของ โควิด-19 เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งสามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืนภายหลังจากการระบาดของโควิด-19 บรรเทาหรือยุติลง” นายอนุชา กล่าว
นายอนุชา กล่าวว่า ทั้งนี้ กรอบวงเงินกู้ 500,000 ล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก นี้เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมที่จะดำเนินมาตรการทางการคลังเพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของของ โควิด-19 ระลอกนี้ได้อย่างต่อเนื่องกับ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 สามารถขยายตัวได้เพิมขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ การออกพ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทในครั้งนี้ จะส่งผลให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ที่ร้อยละ 58.56 และยังอยู่คงภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ซึ่งรัฐบาลได้ระมัดระวังในการบริหารจัดการเงินกู้ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด โดยที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากลยังคงมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของประเทศไทยด้วย