รีเซต

โฆษกรัฐบาล ย้ำ พ.ร.ก.เงินกู้5แสนล้าน มีกรอบใช้ชัดเจน-โปร่งใส เพื่อแก้เศรษฐกิจหลังโควิด

โฆษกรัฐบาล ย้ำ พ.ร.ก.เงินกู้5แสนล้าน มีกรอบใช้ชัดเจน-โปร่งใส เพื่อแก้เศรษฐกิจหลังโควิด
ข่าวสด
29 พฤษภาคม 2564 ( 11:27 )
80

 

โฆษกรัฐบาล ย้ำ พ.ร.ก.เงินกู้5แสนล้าน มีกรอบใช้ชัดเจน-โปร่งใส เพื่อแก้เศรษฐกิจหลังโควิด ส่วนเงินกู้1ล้านล้าน เบิกจ่ายไปแล้ว 680,099 ล้านบาท

 

 

วันที่ 29 พ.ค.2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการ
ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564จำนวน 5 แสนล้านบาท ว่า พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว กำหนดแผนการใช้เงินกู้ไว้ชัดเจน ต้องใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ภายใต้แผนงานหรือโครงการตามบัญชีแนบท้ายพระราชกำหนด 3 แผนงาน ได้แก่

 

 

1.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19วงเงิน 30,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแพทย์และสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีนภายในประเทศ

 

 

2.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา หรือชดเชยให้แก่ประชาชนในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 วงเงิน 300,000 ล้านบาท เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ช่วยผู้มีอาชีพและผู้ประกอบการ สามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง

 

 

3.แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 170,000 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับแผนงาน โครงการ เพื่อรักษาระดับการจ้างงาน กระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในกรณีจำเป็น คณะรัฐมนตรี สามารถอนุมัติปรับกรอบวงเงินภายใต้แผนงานหรือโครงการเพื่อให้การใช้จ่ายเงินสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้

 

 

ทั้งนี้เงินกู้ 5 แสนล้านบาท จะนำไปใช้เพื่อการอื่นนอกจาก 3 แผนงานไม่ได้อย่างเด็ดขาด จึงขอให้ประชาชนมั่นใจเจตนาของรัฐบาลเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคโควิด-19 และมั่นใจเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายเงินกู้ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

 

 

นายอนุชา กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเตรียมงบประมาณเพิ่มเติม 5 แสนล้านบาท รองรับผลกระทบจากการระบาดในระลอกนี้ เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศกลับมาสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน ภายหลังจากการระบาดบรรเทาหรือยุติลง โดยกรอบวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ภายใต้ พ.ร.ก นี้เป็นกรอบวงเงินที่เหมาะสมดำเนินมาตรการทางการคลัง เพื่อดูแลด้านการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือเยียวยา

 

 

ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดได้ต่อเนื่องกับ พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในช่วงปี 2564–2565 ขยายตัวได้เพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ประมาณการสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ร้อยละ 58.56

 

 

ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยทางการคลัง ตามที่รัฐบาลระมัดระวังการบริหารจัดการเงินกู้ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับสากล ยังคงมุมมองที่ดีต่อภาคการคลังที่แข็งแกร่งของประเทศไทยด้วย

 

 

สำหรับความคืบหน้าการใช้จ่ายตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจ และสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ในวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.อนุมัติโครงการแล้ว จำนวน 287 โครงการ วงเงิน 817,223 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 680,099 ล้านบาท หรือร้อยละ 83.22 ของ วงเงินที่อนุมัติ ส่งผลให้จีดีพี ในปี 2563 มีอัตราตัวเลขที่หดตัวในปริมาณที่ดีกว่าที่หลายหน่วยงาน

 

 

เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือที่ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ไว้ ส่วนวงเงินที่เหลือ รัฐบาลเตรียมออกมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่น ที่ครม.อนุมัติหลักการแล้ว เช่น โครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 โครงการ ”ยิ่งใช้ยิ่งได้” โครงการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง