รีเซต

‘ส.ภัตตาคาร’ ขอยาแรงอุ้มธุรกิจ วอนรัฐช่วยเหลือแบบเจาะจง หวั่นปิดตัวเพิ่มฉุดเศรษฐกิจรวม

‘ส.ภัตตาคาร’ ขอยาแรงอุ้มธุรกิจ วอนรัฐช่วยเหลือแบบเจาะจง หวั่นปิดตัวเพิ่มฉุดเศรษฐกิจรวม
มติชน
13 กรกฎาคม 2564 ( 04:29 )
33
‘ส.ภัตตาคาร’ ขอยาแรงอุ้มธุรกิจ วอนรัฐช่วยเหลือแบบเจาะจง หวั่นปิดตัวเพิ่มฉุดเศรษฐกิจรวม

 

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ ขอเรียกร้องไปยังพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยสั่งการช่วยเหลือแบบเจาะจงเฉพาะธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหาร ในพื้นที่ที่ประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดโควิด-19 สูงสุดและเข้มงวด ได้แก่ 1.ช่วยเยียวยาต้นทุนผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการลดค่าเช่าร้าน ทั้งในห้างสรรพสินค้าและนอกห้างสรรพสินค้า รวมถึงการลดค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายคงที่ จำนวน 60 วัน 2.ชดเชยรายได้ให้กับผู้ประกอบการ โดยประเมินจากฐานการชำระภาษีประจำเดือน เป็นเวลา 30 วัน 3.ออกมาตรการควบคุมค่า GP ของแพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่ให้ไม่เกิน 15% เป็นเวลา 30 วัน 4.อนุญาตให้แพลตฟอร์มส่งอาหารเดลิเวอรี่ สามารถรับชำระค่าสินค้าในโครงการคนละครึ่งได้ 5.จัดงบประมาณในการซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหาร เพื่อนำแจกจ่ายให้ตามแคมป์คนงานก่อสร้าง และชุมชนต่างๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอาหาร ซึ่งจะช่วยสร้างกระแสเงินสด และต่อลมหายใจให้ร้านอาหารได้ เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือ การประกอบอาชีพของตัวเองต่อไปได้ โดยจะเห็นว่าตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ระลอก 1-2 ที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารไม่เคยขอความช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล เพราะอยากได้แค่กลับมาประกอบอาชีพได้ตามปกติเท่านั้น แต่เนื่องจากโควิดรอบ 3 นี้ ทำให้สภาพคล่องของธุรกิจหมดลงแล้ว จึงอยากให้รัฐบาลช่วยเยียวยาธุรกิจให้ยืนอยู่รอดด้วย

 

 

 

 

นางฐนิวรรณ กล่าวต่อว่า รวมถึง 6.ขยายระยะเวลาชดเชยค่าแรง 50% และเยียวยาค่าแรง 2,000 บาท และ 3,000 บาทออกไปอีกเป็น 60 วัน 7.ยกเว้นการจัดเก็บภาษีทุกประเภทต่อกิจการภัตตาคารและร้านอาหารเป็นเวลา 6 เดือน 8.หยุดพักชำระเงินต้น และลดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ผู้ประกอบการกู้มา นับเฉพาะในช่วงวิกฤตการระบาดโควิดเท่านั้น 9.ปล่อยสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษให้กับกิจการภตัตาคารและร้านอาหารโดยเฉพาะ เนื่องจากมาตรการทางการเงินที่มีมายังเข้าไม่ถึงสินเชื่อดังกล่าว และได้รับการปฏิเสธจากธนาคารต่างๆ เพราะพิจารณาคุณสมบัติการกู้ในภาวะสถานการณ์ปกติ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ และ 10.ตั้งคณะกรรมการรวมทุกฝ่ายเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน สมาคมศูนย์การค้า สมาคมภัตตาคารไทย และเครือข่ายผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อทำงานร่วมกัน ในการเสนอแนวทางแก้ไขและการช่วยเหลือต่อไป

 

 

 

“มาตรการรัฐที่ยกระดับขึ้นสูงสุด 14 วัน เพื่อคุมการระบาดโควิด ลดการเสียชีวิตของประชาชน ผู้ประกอบการเข้าใจปัญหา และสถานการณ์วิกฤตครั้งนี้ดีมาก ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือเต็มที่เหมือนที่ผ่านมา แต่ก็ต้องยอมรับว่า มาตรการที่ออกมาล่าสุดเป็นการซ้ำเติมวิกฤตด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผู้ประกอบการมากขึ้น จากที่อยู่ในภาวะสาหัสอย่างหนักอยู่แล้ว สะท้อนได้จากเห็นกิจการต้องปิดตัวไปแล้วจำนวนมาก และกำลังทยอยปิดกิจการตามมาอีก ซึ่งหากยังไม่ได้รับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาแบบเฉพาะเจาะจงเพิ่มเติม จะทำให้ธุรกิจต้องปิดตัวถาวรจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อปัญหาเศรษฐกิจและสังคมตามมา เพราะธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่ธุรกิจอื่นอีกจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอเพื่อให้รัฐบาลช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเป็นระบบและทันเหตุการณ์ ก่อนที่ธุรกิจจะพังลง กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวม ซึ่งรัฐบาลจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลกว่านี้ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อได้” นางฐนิวรรณ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง