โควิด-19 : ศธ. ยืนยัน 1 ก.ค. เปิดเทอมแน่ กางตารางเปิด-ปิดภาคเรียนนักเรียนประถม-มัธยม

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เคาะวันเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)
ศธ. ประกาศเลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ของโรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมศึกษาใหม่ เป็นวันที่ 1 ก.ค. 2563 พร้อมปรับเวลาการเปิด-ปิดเทอมใหม่ เพื่อให้การเปิดเทอมในปีการศึกษา 2564 กลับมาเป็นปกติ
ภาคเรียน | ระยะเวลาเปิดภาคเรียน | ระยะเวลาปิดภาคเรียน |
---|---|---|
1/2563 | 1 ก.ค.-13 พ.ย. (93 วัน) | 14-30 พ.ย. (17 วัน) |
2/2563 | 1 ธ.ค.-9 เม.ย. (88 วัน) | 10 เม.ย.-16 พ.ค. (37 วัน) |
การเปิดเทอมของนักเรียนในปีนี้ต้องล่าช้ากว่าปกติถึง 45 วัน ซึ่งเป็นไปตามความเห็นชอบของที่ประชุม ครม. เมื่อ 7 เม.ย. 2563 หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
- เลื่อนเปิดเทอม นักเรียน-ครู-กระทรวงศึกษาฯ รับมืออย่างไร
- เมื่อการเรียนการสอนต้องดำเนินต่อไป ห้องเรียนออนไลน์คือคำตอบ ?
- เด็กในสหราชอาณาจักรเรียนอย่างไรช่วงล็อกดาวน์
- ศบค.เตรียมยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะ 2 คาดเปิดกิจการเพิ่มได้ 17 พ.ค.นี้
นางรักขณา ตัณฑวุทโฑ รองปลัด ศธ. ในฐานะรองโฆษก ศธ. แถลงยืนยันว่า การเปิดภาคเรียนจะไม่เลื่อนออกไปจากวันที่ 1 ก.ค. แน่นอน การเรียนการสอนจะเกิดขึ้นไม่ว่าจะเรียนที่บ้านหรือโรงเรียน ซึ่งการตัดสินใจจะขึ้นอยู่กับการประเมินสถานการณ์โควิด-19 และสำรวจความต้องการของครู นักเรียน และผู้ปกครอง
"หากพื้นที่ไหนเป็นปกติ ก็มาเรียนในห้องเรียน หากพื้นที่ไหนยังไม่ปลอดภัย ก็ต้องมาคุยกัน" รองโฆษก ศธ.กล่าว
สำหรับแผนบริหารจัดการการศึกษานอกโรงเรียน ในกรณีสถานการณ์ไวรัสมรณะยังไม่คลี่คลายนั้น นางรักขาชี้แจงว่า ศธ. จะดำเนินการจัดการศึกษาผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยการเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมฯ (DLTV) 17 ช่องที่ได้รับการจัดสรรจาก กสทช. แบ่งเป็น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 15 ช่องสำหรับการเรียนการสอนนักเรียนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 1 ช่อง และสำนักงานการคณะกรรมการการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) 1 ช่อง ส่วนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จะเรียนผ่านระบบออนไลน์
อย่างก็ตามในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ในวันที่ 6-7 มิ.ย. ตามปฏิทินการรับนักเรียนของ ศธ. นางรักขณายืนยันว่าต้อง "สอบในห้องเรียน" เท่านั้น แต่จะมีกระบวนการจัดการให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านสาธารณสุข
เธอยังนำคำกล่าวของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศธ. ที่ฝากมาถึงผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อให้มั่นใจในการจัดการของ ศธ. โดยระบุว่า "เด็กนักเรียนทุกคนล้วนเป็นลูกหลานของเรา และเป็นอนาคตของประเทศ เราจะพยายามผ่านวิกฤตไปให้ได้ด้วยประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการด้านการศึกษา"
ส่วนคำถามที่ว่าหากผู้ปกครองประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ และไม่มีเงินรองรับการเรียนผ่านระบบทีวีดาวเทียมและออนไลน์ของบุตรหลาน ศธ. จะดูแลช่วยเหลืออย่างไรนั้น รองโฆษกกระทรวงหญิงไม่ได้ตอบคำถามตรง ๆ แต่บอกเพียงว่า "ขอให้ความมั่นใจว่า ศธ. จะดูแลความพร้อมในการจัดการศึกษาครั้งนี้" และ "ผู้ปกครองที่กังวลว่าที่บ้านไม่พร้อมเรียน ช่วงวันที่ 18 พ.ค.-30 เม.ย. เป็นช่วงที่เราจะทดสอบระบบ หากมีปัญหาอะไรให้บอกไปทางโรงเรียน ศธ. พร้อมสนับสนุนทุกอย่าง"
ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในไทย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงว่า ไทยมียอดผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่ 4 ราย เสียชีวิต 1 ราย รวมมียอดผู้ป่วยสะสม 3,004 ราย ในจำนวนนี้มี 2,787 รายที่รักษาหายกลับบ้านแล้ว และมีผู้เสียชีวิตสะสม 56 ราย
สำหรับผู้เสียชีวิตรายล่าสุด เป็นชายไทยอายุ 58 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อ 19 มี.ค. ด้วยอาการเป็นไข้ ปวดกล้ามเนื้อ และหายใจลำบาก ก่อนได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ในเวลาต่อมา
ยอดนิยมในตอนนี้
