รีเซต

SPCG รายได้แตะ 4.7 พันล. ปรับขึ้นค่าเอฟทีหนุนกำไร

SPCG รายได้แตะ 4.7 พันล. ปรับขึ้นค่าเอฟทีหนุนกำไร
ทันหุ้น
22 มีนาคม 2565 ( 17:34 )
172
SPCG รายได้แตะ 4.7 พันล. ปรับขึ้นค่าเอฟทีหนุนกำไร

ข่าววันนี้ SPCG ตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2565 ที่ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.76% เน้นคุมต้นทุนรักษาระดับกำไร แย้มปรับค่า FT หนุนผลงานครึ่งปีหลังเด้ง เดินหน้าลงทุนโซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่น-อีอีซีต่อเนื่อง ซุ่มเจรจาร่วมทุน-ควบรวมกิจการ คาดชัดเจนเร็วๆ นี้

 

นายพิพัฒน์  วิริยธรานนท์  ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ SPCG เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมทั้งปี 2565 ที่ประมาณ 4.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7% จากปีก่อนที่มีรายได้ 4.5 พันล้านบาท หลังสถานการณ์โควิด-19เริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น พร้อมกันนี้จะพยายามรักษาระดับกำไรสุทธิไว้ไม่ให้ต่ำกว่า 2.7 พ้นล้านบาท ทรงตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า

 

จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้ารวมทั้งปีได้กว่า 388 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่จำหน่ายได้ที่ 386 ล้านหน่วย โดยบริษัทจะยังคงดำเนินนโยบายในการบริหารจัดการลดต้นทุนด้านต่างๆ เพื่อให้ต้นทุน O&M (Operating & Maintenance) สำหรับธุรกิจโซลาร์ฟาร์มลดลงได้ต่อเนื่องจากเมื่อปี 2564 ที่สามารถลดลงได้ถึง 26.1 ล้านบาท

 

*โซลาร์ฟาร์มญี่ปุ่นคืบ

“ปีนี้บริษัทมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะสิ้นสุดการรับเงินค่าแอดเดอร์ค่าไฟในปีนี้อีก 4 โครงการส่งผลให้ ณ สิ้นปี 2565จะมีโครงการที่สิ้นสุดค่าแอดเดอร์ทั้งสิ้น 9 โครงการ แต่บริษัทก็เดินหน้าปรับลดต้นทุนการดำเนินงานลง ควบคู่กับการลงทุนโครงการต่างๆ เข้ามาชดเชยอย่างต่อเนื่อง”

 

สำหรับโครงการโซลาร์ฟาร์ม 2 โครงการในญี่ปุ่น ปัจจุบันมีความคืบหน้ามากขึ้น โดยโครงการ Ukujima Mega Solar Project ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 480 เมกะวัตต์ (MW) มูลค่าการลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 178,758 ล้านเยน หรือประมาณ 60,000ล้านบาท ซึ่งบริษัทถือหุ้น 17.92% หรือคิดเป็นเงินจำนวน 9,000 ล้านเยน หรือประมาณ 2,700 ล้านบาท บริษัทจะชำระเงินงวดที่เหลือภายในไตรมาส 3/2565ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างขั้นตอนการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในปี 2566-2567และคาดว่าจะเริ่มมีกำไรตั้งแต่ช่วงปี 2567 เป็นต้นไป

 

*ขึ้นค่า FT หนุนกำไร

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าFT) ในรอบเดือน พฤษภาคม – สิงหาคม 2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จะส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเร่งตัวขึ้นแตะที่ 4 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันที่ราคายังแบกภาระขาดทุนอยู่ประมาณ 0.12 บาทต่อหน่วย อีกทั้งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

“แม้ว่าในระยะสั้นสถานการณ์ระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ส่งผลให้ต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะราคาน้ำมันเร่งตัวขึ้น แต่ราคาต้นทุนอุปการณ์และแผงโซลาร์ยังไม่ปรับขึ้นราคา แต่บริษัทก็ติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมต้นทุนไว้ให้อยู่ในระดับที่ลูกค้าจะสามารถติดตั้งได้ และหากต้นทุนเร่งตัวขึ้น บริษัทก็ยังคงมีกำไร”

 

*ศึกษาร่วมทุน-ควบรวม

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) กำลังการผลิตรวม 500 เมกะวัตต์ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดนั้น บริษัทได้ซื้อที่ดิน และอยู่ระหว่างการพัฒนา ควบคู่กับการวางแผนบริหารจัดการทางการเงิน คาดว่าจะมีความชัดเจนตามลำดับ

 

ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการเติบโตผ่านการจัดตั้งกิจการร่วมค้า (JV) หรือการเข้าควบรวมกิจการ (M&A) อย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรหลายราย พร้อมกันนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าที่มีความสนใจติดตั้งโซลาร์รูฟ ซึ่งมีความคืบหน้าพอสมควรคาดว่าจะมีความชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 นี้

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง