รีเซต

“หยดเลือด หยาดเหยื่อ และล้มล้าง” ทำไม “กาแฟ” เป็นแรงขับเคลื่อน “การเลิกทาส” ในบราซิล

“หยดเลือด หยาดเหยื่อ และล้มล้าง” ทำไม “กาแฟ” เป็นแรงขับเคลื่อน “การเลิกทาส” ในบราซิล
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2567 ( 15:41 )
19
“หยดเลือด หยาดเหยื่อ และล้มล้าง” ทำไม “กาแฟ” เป็นแรงขับเคลื่อน “การเลิกทาส” ในบราซิล

ในมิติมนุษยชน การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ทำให้เกิดความเป็น “อารยะ” มากที่สุด นั่นคือ “การเลิกทาส” เพราะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าคนเท่ากัน และรื้อทำลายระบบเจ้าขุนมูลนาย สร้างการเป็นปัจเจกบุคคล เลือกทางเดินของตนได้อย่างแท้จริง


ส่วนมากแล้ว มักจะให้เหตุผลในการเลิกทาสนั้น ๆ ว่า มาจากแรงกดดันระหว่างประเทศ การมีพลังทางสังคม การเคลื่อนไหวมวลชน หรือกระทั่งเป็นความกรุณาปราณี


แต่ใครเลยจะรู้ ว่าในประเทศอันยิ่งใหญ่ในละตินอเมริกานาม “บราซิล” ที่นอกจากเป็นประเทศใหญ่ที่เลิกทาสช้าที่สุดในภูมิภาค [ปี 1888] ยังไม่ได้มีแรงขับมาจากเหตุผลที่กล่าวมา หากแต่มาจาก “กาแฟ” อย่างไม่น่าเชื่อ


เนื่องในโอกาสวันที่ 13 พฤษภาคม เป็นวันเลิกทาสผิวดำของบราซิล เราไปดูตื้นลึกหนาบางของประเด็นนี้กัน


กาแฟขม อย่าอมไว้นาน


ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจวิธีการครอบครองที่ดินในบราซิลเสียก่อน บราซิลคืออาณานิคมของโปรตุเกส และโปรตุเกสปกครองด้วยระบอบราชาธิปไตย ดังนั้น ในยุคทองของการสำรวจ (Age of Discover) กษัตริย์ถือเป็นนายหน้าจัดหาเงินทุนเพื่อให้นักสำรวจไปแสวงหาดินแดน เพื่อขยายพื้นที่และบารมี


เมื่อค้นพบ พื้นที่จะกลายเป็นของกษัตริย์แต่ในนาม เพราะในทางปฏิบัติ กษัตริย์ได้มอบหมายให้นักสำรวจจัดสรรพื้นที่ในการปกครองกันเอง โดยที่กษัตริย์จะรับเพียงทรัพยากรที่ค้นพบทั้งบนดินและใต้ดิน หรือกำไรจากการค้าหรือภาษีเท่านั้น เพราะไม่สามารถเสด็จพระราชดำเนินไปยังสถานที่ห่างไกลพระราชบัลลังก์ได้


หมายความว่า นักสำรวจได้รับพระราชทานที่ดินมหาศาล เป็นกรรมสิทธิ์ของตน สามารถถวายการจัดสรรพื้นที่ตามพระราชวินิจฉัยภายหลังได้ ดังนั้น พื้นที่ในดินแดนโลกใหม่นี้ จึงเป็นเรื่องของการครอบครองเพื่อ “สถานะทางสังคม (Social Status)” เป็นหลัก ก็คือครอบครองไว้อวดยศฐาบรรดาศักดิ์ นักสำรวจหลายคนส่วนใหญ่ก็มีฐานะเดิม คือ ยากจน พวกเขาได้เปลี่ยนสถานะจากผลงานเหล่านี้นั่นเอง


ที่ดินที่ได้มานั้น ส่วนมากไม่ได้ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพราะเป้าประสงค์หลักในโลกใหม่ คือการดูดทรัพยากร โดยเฉพาะแร่ทองและแร่เงิน กลับไปถวายกษัตริย์ ตามที่ได้ตกลง ดังนั้น ส่วนมากความสำคัญจึงอยู่ที่ “การสะสมทาส” เพื่อมาใช้เป็นแรงงานในการขุดทรัพยากรเป็นหลัก


สำหรับบราซิล ไม่เหมือนอาณานิคมอื่น ๆ ที่สเปนเข้าครอบครอง ที่มีทาสชนพื้นเมืองอยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นเม็กซิโก [แอ็ซเท็ค] หรือเปรู [อินคา] เพราะบราซิล ซึ่งเป็นอาณานิคมโปรตุเกส มีชนพื้นเมืองน้อยมาก ๆ จึงต้องนำเข้า “ทาสผิวดำ” มาโดยเฉพาะ


ทาสผิวดำพวกนี้ ส่วนมาก เจ้าที่ดินในบราซิล ซื้อมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในดินแดนแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียเงินค่านายหน้าไม่มากนัก เพราะโปรตุเกสส่วนใหญ่เป็นเจ้าอาณานิคมในแอฟริกา แต่ก็มีบางครั้ง ที่ต้องทำการค้ากับอาณานิคมอังกฤษ ด้วยเหตุผลการขยายประชากรทาสผิวดำ ที่มีสรีระแข็งแรงและทนงาน เพื่อให้มาเป็นทาสต่อในอนาคต


ซ้ำร้าย บราซิลเองไม่ได้อุดมด้วยทรัพยากรมากเท่าอาณานิคมสเปน ดังนั้น การทำการเกษตรจึงเป็นทางออกสำคัญที่จะนำกำไรและภาษีถวายแก่กษัตริย์ได้แบบทันท่วงที แน่นอนว่า ทางตอนเหนือของบราซิล มีอ้อยป่าที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก จึงเกิดเป็นเกษตรกรรมไร่อ้อยขึ้น ก่อนที่ในภายหลัง จะค้นพบพืชตระกูลเบอร์รี ที่เรียกว่า “กาแฟ” 


นั่นคือจุดเริ่มต้นสู่จุดจบของทาสผิวดำในบราซิล


อิสรภาพกลิ่นกาแฟ


ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1850 ภายหลังจากที่บราซิลประกาศอิสรภาพ บราซิลคือประเทศที่ส่งออกกาแฟเพื่อการแปรรูปมากที่สุดในโลก 


ที่มา: https://web.archive.org/web/20150912214606/https://www.web-books.com/Classics/ON/B0/B701/27MB701.html


แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า บราซิลไม่ได้ตั้งใจปลูกกาแฟแบบจริงจัง เพียงแต่ตอนนั้น อุปสงค์การบริโภคกาแฟของชาติตะวันตกเพิ่มมากขึ้น เป็นผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้เกิดวิถีชีวิตแบบใหม่ของชนชั้นกลาง ที่ชอบจิบเครื่องดื่มกาเฟอีนเพื่อเพิ่มพลังในการทำงาน และเป็นเครื่องดื่มยามว่างเว้นจากการทำงานได้อีกด้วย [วิธีคิดเดียวกับ การนั่งชิลล์ในสตาร์บัค ณ ปัจจุบัน]


ประกอบกับเจ้าที่ดิน แม้จะพ้นยุคอาณานิคมไปแล้ว แต่ก็ยังเสมือนเสือนอนกิน ต้องการเพียงกำไร และได้มรดกเป็นทาสติดที่ดินมาจากรุ่นสู่รุ่น


แต่แล้ว เมื่อโลกเดินไปข้างหน้า ผู้คนต้องเปลี่ยนแปลงตามโลกให้ทัน นั่นคือบรรดา “ชาวไร่กาแฟ” พวกเขาเป็นผู้เล็งเห็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของที่ดิน ด้วยการปลูกกาแฟให้มากขึ้น แทนที่จะครอบครองไว้โดยเจ้าที่ดินเพื่อสถานะทางสังคมอย่างเดียว


พวกเขาได้ทำการเช่าที่ดิน และแน่นอน ที่ดินมาทาสก็มา เพราะเป็นทาสติดที่ดิน เพื่อทำการเกษตรเพื่อการส่งออกอย่างจริงจัง นับเป็นโชคสองชั้น ขั้นแรกที่ดินมีมูลค่าเพิ่ม ขั้นต่อมาเจ้าที่ดินเป็นเสือนอนกินมากขึ้น ได้กำไร ไม่ต้องคุมงานเอง


นานวันเข้า กลุ่มชาวไร่กาแฟเหล่านี้ เล็งเห็นว่า การใช้ระบบเจ้าที่ดินในบราซิลนั้นไม่สมเหตุสมผลอย่างมาก เพราะอย่าลืมว่า ชาวไร่กาแฟไม่มี “ปัจจัยการผลิตของตนเอง” แม้แต่ประการเดียว ที่ดินก็ไม่ใช่ของตนเอง ทาสแรงงานก็ไม่ใช่ ระบบการเกษตรก็ไม่ใช่ ซึ่งวันดีคืนดี เจ้าที่ดินสามารถที่จะริบทุกสิ่งทุกอย่างไปจากพวกเขาได้ จะด้วยมีเหตุผลหรือไม่ก็ตาม


การคิดเช่นนี้เหมือนเห็นแก่ตัว แต่ในช่วงเวลาที่กาแฟสามารถทำกำไรได้มหาศาล การที่ผู้ประกอบการขาดปัจจัยการผลิตของตนเอง ย่อมไม่สามารถที่จะคิด “ขยายกิจการ” ให้สอดรับกับอุปสงค์ตลาดได้ อย่างน้อย ปัจจัยการผลิตด้านแรงงาน ก็ต้องมีเป็นของตนเอง เพื่อให้เกิดการผลิตกาแฟที่ขยายฐานมากยิ่งขึ้น พัฒนาจีดีพี และนำประเทศสู่การเป็นมหาอำนาจในภูมิภาคด้านเศรษฐกิจอย่างแท้จริง


จึงเกิดกระแสเรียกร้องจากบรรดานายทุนกาแฟ ให้อย่างน้อย ๆ ยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน และให้ทำสัญญาในลักษณะ “สัญญาจ้าง” กับพวกตน โดยจะทำการจ่ายค่าจ้างให้ตามกำลังที่ผลิตได้ ไม่ใช่ค่าจ้างเพียงน้อยนิดจากเจ้าที่ดิน แรงงานจะได้เกิดการพัฒนาตนเอง และจูงใจให้ผลิตกาแฟออกมาได้มาก ๆ 


ดังที่ อังเดร เรโบคาซ (André Rebouças) นายทุนกาแฟรายหนึ่ง ยืนกรานว่า หากปราศจากอิสรภาพ อุตสาหกรรมย่อมไม่เกิด อิสรภาพคือพระมารดาผู้ปกปักษ์อุตสากรรมทั้งมวล


แน่นอน เรื่องพวกนี้ใช่ว่ารัฐบาลจะไม่เห็น และด้วยแรงกดดันด้านเศรษฐกิจและธุรกิจ ส่งผลให้ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 1888 รัฐบาลออกกฎหมาย Lei Áurea ซึ่งเป็นกฎหมายที่เลิกทาสผิวดำกว่า 700,000 คน ให้เป็นแรงงานอิสระ แต่ยังคงไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกับพวกผิวขาวในประเทศ


จะเห็นได้ว่า การสืบหาสาเหตุนั้น เป็นสิ่งที่ใช่ว่าจะฟันธงได้ง่าย ๆ เพราะบางครั้งบางที เหตุผลเล็ก ๆ เหตุผลหนึ่ง ก็อาจจะส่งผลมากกว่าเหตุผลที่บุคคลทั่วไปรับเชื่อกัน ก็เป็นได้ 


Exclusive by วิศรุต หล่าสกุล


แหล่งอ้างอิง




ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง