รีเซต

นับถอยหลังโหวตนายกฯคนที่ 30 ชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย

นับถอยหลังโหวตนายกฯคนที่ 30  ชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย
TNN ช่อง16
11 กรกฎาคม 2566 ( 15:02 )
47
นับถอยหลังโหวตนายกฯคนที่ 30  ชี้ชะตาอนาคตประเทศไทย



ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ จะเป็นยกแรกของการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่ยังคงมีคำถามว่า หากการโหวตรอบแรกไม่ผ่าน จะทำอย่างไร และขั้นตอนการโหวตต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ? 


การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผ่านการโหวตเลือกในที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือ ส.ส. 500 คน และ ส.ว. 250 คน รวม 750 คน แต่จะต้องได้เสียงโหวตสนับสนุนไม่น้อยกว่า 376 เสียง โดยปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้การเสนอชื่อผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อตามที่พรรคการเมืองได้แจ้งไว้ต่อ กกต. และต้องเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป การเสนอชื่อต้องมี ส.ส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ 


สำหรับผู้ถูกเสนอชื่อชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุมรัฐสภา เพราะตามรัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องปรากฏตัวในที่ประชุมรัฐสภาวันดังกล่าว และหากมีการเสนอชื่อแคนดิเดตมากกว่า 1 คน ไม่ต้องลงคะแนนลับ แต่สามารถกระทำได้อย่างเปิดเผย โดยการขานชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ 


กระบวนการนี้ จะทำให้เห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. แต่ละคนให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ หรืองดออกเสียงให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนใด และจะเห็น ส.ส. ที่โหวตสวนทางกับมติพรรค หรือที่เรียกกันว่า " ส.ส. งูเห่า” ด้วย 

แต่หากโหวตแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง สามารถโหวตวนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาเอาไว้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 และ ปี 2550 ที่กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็นนายกรัฐมนตรี 


ด่านหินของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่มีเสียงรวมกันอยู่ที่ 311 เสียงในขณะนี้ ยังต้องการเสียงของสมาชิกรัฐสภาสนับสนุนอีก 65 เสียง เพื่อให้ได้ครบ 376 เสียง ในการส่ง "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ให้ขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 30 ของประเทศไทย แต่จะฝ่าด่านนี้ไปได้หรือไม่ คงต้องจับตากันต่อไป 






เรียบเรียงโดย : อริสา แสงอำพันธ์

ภาพ TNN ข่าวเที่ยง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง