รีเซต

กรอ. จับมือ เมติ กระตุ้น 3,000 โรงงานทั่วประเทศ สกัดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหล

กรอ. จับมือ เมติ กระตุ้น 3,000 โรงงานทั่วประเทศ สกัดอุบัติเหตุแอมโมเนียรั่วไหล
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 22:50 )
20

นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) เปิดเผยว่า กรอ. และ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น (เมติ) ได้ร่วมมือกันในโครงการความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาตรฐานด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็น ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ใช้ระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น เจ้าหน้าที่ กรอ. ผู้ประกอบกิจการผลิตระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม และภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อเป็นการวางรากฐานความเข้าใจใน กฎระเบียบ มาตรฐาน ความปลอดภัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมในระบบทำความเย็น

สำหรับความร่วมมือในปี 2565 กรอ. และ เมติ ได้จัดให้มีการสัมมนา “เตรียมความพร้อมเพื่อก้าวสู่ระบบทำความเย็นอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และจัดทำเป็นคู่มือเพิ่มพูนทักษะความรู้ที่มีอยู่เดิมของผู้ประกอบกิจการโรงงานให้ดีขึ้น พร้อมกับการสร้างทักษะใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์ในการใช้งานระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นอย่างปลอดภัย

 

จากสถิติอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในโรงงานอุตสาหกรรมในปี 2564 จำนวนอุบัติเหตุ 92 ครั้ง มีสาเหตุจากแอมโมเนียรั่วไหล จำนวน 5 ครั้ง คิดเป็น 5.43% ของอุบัติเหตุทั้งหมด โดยระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น นิยมใช้กันมากในโรงงานผลิตน้ำแข็งหลอด โรงงานผลิตน้ำแข็งซอง และห้องเย็น ซึ่งมีการประกอบกิจการกว่า 3,000 โรงงานทั่วประเทศ เมื่อเกิดการรั่วไหลของแอมโมเนีย

 

นอกจากความเสียหายด้านทรัพย์สินแล้ว ยังนำไปสู่ความเดือดร้อนแก่ชุมชนโดยรอบ รวมทั้งส่งผลให้สัตว์น้ำตายหากรั่วไหลสู่แหล่งน้ำสาธารณะอีกด้วย กรอ. จึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงานที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น รวมถึงระบบความเย็นประเภทอื่นๆ

 

“นอกจากนี้ กรอ. ยังได้มีการจัดทำร่างกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรอง เรื่อง กำหนดมาตรการความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในโรงงาน แก้ไขเพิ่มเติม จากฉบับปี พ.ศ. 2555 เพื่อลงรายละเอียดวิธีการจัดการที่จะทำให้ระบบทำความเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นมีความปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน” นายวันชัยกล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง