รีเซต

โปรเจ็กต์แสนล้าน! คมนาคม ชู "Land Bridge" เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค

โปรเจ็กต์แสนล้าน! คมนาคม ชู "Land Bridge" เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย ศูนย์กลางเดินเรือภูมิภาค
TNN ช่อง16
1 มีนาคม 2564 ( 11:49 )
491

ปัจจุบันการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับกลุ่มประเทศทางด้านมหาสมุทรอินเดีย ต้องเปลี่ยนถ่ายสินค้าทั้งนำเข้า-ส่งออก ผ่านช่องแคบมะละกา (สิงคโปร์) ซึ่งเป็นเส้นทางที่อ้อมและมีระยะไกล การจราจรทางน้ำคับคั่ง มีความหนาแน่นของปริมาณเรือสูงถึง 1 แสนลำ/ปี และคาดว่าจะเต็มศักยภาพในปี 2467 และในปี 30ปีข้างหน้าจะหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีก 4 เท่าตัว 

กระทรวงคมนาคม  จึงได้เดินหน้าโครงการแลนด์บริจด์ พัฒนาระบบคมนาคมเชื่อมต่อ 2 ชายฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน  บูรณาการรูปแบบการขนส่งเชื่อมโยง 2 ท่าเรือ ได้แก่ ท่าเรือระนองแห่งใหม่ และท่าเรือชุมพร โดยออกแบบให้เป็นท่าเรือที่ทันสมัยหรือ Smart Port ควบคุมการบริหารจัดการด้วยระบบออโตเมชั่น  โดยพื้นที่จะมีระดับพื้นที่ลึกประมาร 15 เมตร เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่สามารถเทียบได้

นอกจากนี้ จะสร้างรถไฟทางคู่ จากท่าเรือชุมพรไปยังท่าเรือระนองแห่งใหม่ ซึ่งมีเส้นทางหลายทางเลือก แต่เส้นทางที่โครงการเลือกศึกษา ได้แก่ 1.สถานีขุนกะทิง จ.ชุมพร 2.สถานีบ้านนา 3.สถานีวังใหม่ 4.สถานีปากจั่น 5.สถานีกระบุรี 6.สถานีบางใหญ่ 7.สถานีละอุ่น 8.สถานีท่าเรือระนอง 9.สถานีระนอง ซึ่งอยู่ในแผนเส้นทางรถไฟยุทธศาสตร์ไทย-จีน ซึ่งหลังจากสินค้า มาลงที่ท่าเรือระนอง ก็สามารถ ขนสินค้า ไปที่ท่าเรือ Colombo หรือ ท่าเรือ มหินทรา ราชปักษา ของศรีลังกา ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญ ของโครงการ (belt and road initiative)

โครงการ Land Bridge จะสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(Motorway) เชื่อมท่าเรือชุมพรไปยังท่าเรือระนองแห่งใหม่ คู่ขนาน ไปกับทางรถไฟ  เชื่อมโยง  2 ท่าเรือเข้าหากัน  โดยทั้ง 2 ระบบขนส่งจะมีระยะทางใกล้เคียงกันคือประมาณ 120 กิโลเมตร

 

นอกจากนี้ จะสร้าง-การขนส่งแบบ Pipeline หรือการขนส่งโดยใช้ระบบท่อที่สะดวกในการขนส่งประเภทของเหลวหรือก๊าซ โดยจะสร้างคู่ขนานบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องตามแผนบูรณาการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองเชื่อมต่อแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ (MR-MAP)ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินของภาคประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษา ความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) คาดใช้เวลาศึกษาประมาณ 1 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปี 2565 งบประมาณราว 68 ล้านบาท   

โดยขอบเขตการศึกษา ประกอบด้วย 1.ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ การเงิน วิศวกรรม สังคม 2.ออกแบบรายละเอียดเบื้องตันและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) 3.จัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ 4.วิเคราะห์จัดทำรูปแบบการพัฒนาและการลงทุน และ 5.สร้างความเข้าใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านตลอดระยะเวลาดำเนินงาน

คาดว่าตลอดทั้งโครงการดังกล่าว จะใช้งบประมาณลงทุนรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP สัดส่วนการลงทุนเบื้องต้นจะแบ่งเป็นเอกชนไทย 30% ต่างชาติ 70% ตามที่ นายก ฯ ให้กรอบไว้ ตลอดทั้งโครงการคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการภายใน 30 เดือน หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างทั้งหมดพร้อมกัน แล้วเสร็จไม่เกิน 3 ปี


ทั้งนี้ เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางเรือลงได้ถึง 2 วัน และส่งผลให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค หรือเป็นทางลัดของเส้นทางการเดินเรือระหว่างมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ช่วยสร้างโอกาส สร้างงาน รายได้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต




ข่าวที่เกี่ยวข้อง