“สันติ”หนุนไอแบงก์ ขยายสาขาภาคใต้ เป็น 100 สาขา
วันนี้ (26 พ.ค.63) นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ว่า ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ถือเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนชาวไทยมุสลิม ดังนั้น การดำเนินงานของไอแบงก์นอกเหนือจากการรับฝากเงิน การปล่อยสินเชื่อแล้ว จำเป็นต้องเข้าไปช่วยยกระดับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจท้องถิ่นให้กับชุมชนมุสลิม
ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งด้วย โดยจำเป็นต้องปรับบทบาทใหม่เพื่อให้ชาวมุสลิมสามารถเข้าถึงการบริการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารมาตั้งแต่เริ่มต้น เข้าไปช่วยเหลือให้ชาวมุสลิมมีความมั่นคงในชีวิต ปล่อยสินเชื่อในทุกเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างงาน โดยเฉพาะเกี่ยวข้องกับอาหารฮาลาล ส่งเสริมฮาลาลในกลุ่ม SMEs รายย่อย เพื่อสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานเติบโตและพัฒนามากขึ้น
ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ให้กับชาวมุสลิม โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐตามบทบาทและภารกิจใหม่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพให้กับชาวมุสลิม ไอแบงก์ยังสามารถร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Bank ในโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนาอาชีพ
นอกจากนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยังฝากให้ผู้บริหารธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยไปเร่งเพิ่มสาขาในภาคใต้ที่ยังมีน้อย ขณะนี้มีสาขาในภาคใต้อยู่เพียง 40 สาขา จากทั่วประเทศ 100 สาขา ดังนั้น ควรขยายสาขาในภาคใต้ให้ครบทุกอำเภอ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือชาวมุสลิมที่ส่วนใหญ่อาศัยภาคใต้จำนวนมาก ตามนโยบายและภารกิจที่ตั้งไว้ โดยเชื่อว่าหากทำได้ตามนโยบายที่วางไว้จะทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศและประเทศในตะวันออกกลาง และในอีกหลายประเทศที่อยากช่วยชาวมุสลิมมาร่วมลงทุนกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ช่วยทำให้ธนาคารเข้มแข็งขึ้น จะได้ไม่ต้องพึ่งพาการเพิ่มทุนจากรัฐบาลในอนาคต
อย่างไรก็ตาม หากไปดูโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝาก ยังมีสัดส่วนของลูกค้าชาวมุสลิมน้อยมาก โดยใน เดือนมีนาคม สินเชื่อกว่า 54,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ลูกค้ารายใหญ่จำนวน 27,174 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 19 ลูกค้า SMEs จำนวน 7,825 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 14 และลูกค้า Retail จำนวน 19,930 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 37 เมื่อแบ่งสัดส่วนลูกค้าสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 37,844 ราย พบว่า เป็นลูกค้ามุสลิมจำนวน 12,215 รายสัดส่วนร้อยละ 32 และส่วนที่เหลือเป็นลูกค้าไม่ใช่ชาวมุสลิมจำนวน 25,629 ราย สัดส่วนร้อยละ 68
สำหรับ เงินฝากส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่ร้อยละ 46 วงเงิน 36,686 ล้านบาท ลูกค้ารายกลางร้อยละ 21 วงเงิน 1,600 ล้านบาท และลูกค้าย่อยร้อยละ 33 วงเงิน 26,364 ล้านบาท โดยธนาคารมีลูกค้าเงินฝากประมาณ 890,000 ราย ในจำนวนนี้ร้อยละ 58 เป็นลูกค้าที่เป็นมุสลิม หรือประมาณ 513,089 ราย และเป็นลูกค้าไม่ใช่มุสลิมร้อยละ 42 หรือ 376,740 ราย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- จับตา ครม. พิจารณามาตรการเยียวยาโควิด-19 เด็กแรกเกิด คนแก่ คนพิการ
- สรรพสามิตเตรียมเรียกผู้ประกอบการค่ายรถถกหาช่องลดภาษี 50 %
- เปิดตัว www.เราไม่ทิ้งกัน-ด้านการเงิน.com ดูแลผู้ได้รับผลกระทบโควิด
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNThailand
Youtube Official : TNNThailand