รีเซต

"ttb analytics" ชี้ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมภาวะการเงินครัวเรือน หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19

"ttb analytics" ชี้ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมภาวะการเงินครัวเรือน หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19
มติชน
29 เมษายน 2565 ( 14:08 )
63
"ttb analytics" ชี้ค่าครองชีพพุ่งซ้ำเติมภาวะการเงินครัวเรือน หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19

ttb analytics เผยแนวโน้มรายได้สุทธิครัวเรือนไทยปี 2565 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ารายได้ ประกอบกับภาระผ่อนจ่ายหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยกดดันแนวโน้มกำลังซื้อ เพิ่มความเปราะบางต่อภาวะการเงินของครัวเรือนไทย หลังผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19

 

เศรษฐกิจไทยในปี 2565 กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 อย่างค่อยเป็นค่อยไปและมีความเสี่ยงมาก เนื่องจากการแพร่ระบาดจากโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอนและมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่ยังส่งผลกดดันต่อการฟื้นตัวของกิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศอยู่ ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้น ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งตัว และเศรษฐกิจไทยในระยะเวลาข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงยังคงระมัดระวังการจ้างงานใหม่ และหากจำเป็นต้องจ้างแรงงานเพิ่มเติมจะเป็นการจ้างงานชั่วคราวมากกว่าประจำ เพื่อให้สามารถควบคุมต้นทุนและปรับจำนวนการจ้างงานได้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยข้างต้นส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องหลังจากผ่านจุดต่ำสุดของวิกฤตโควิด-19 แต่ยังมีความเปราะบางอยู่ สะท้อนได้จากภาวะการจ้างงานที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำโดยเฉพาะการจ้างงานที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว โดยภาพรวมอาจต้องใช้เวลานานอย่างน้อย 2 ปีกว่าระดับรายได้นอกภาคการเกษตรจะฟื้นตัวกลับมาถึงช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่วนการจ้างงานในภาคเกษตรแม้ยังมีอยู่มาก แต่มาจากพวกแรงงานย้ายกลับถิ่นหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 ในปี 2563 ประกอบกับการผลิตในภาคเกษตรที่ค่อนข้างน้อย จึงสร้างรายได้ให้แก่แรงงานต่ำกว่าเศรษฐกิจประเภทอื่น ๆ อยู่มาก

 

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มรายได้ครัวเรือน จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (ข้อมูลจาก SES: Socio-Economic Survey) พบว่าในปี 2564 ครัวเรือนไทยมีรายได้ต่อเดือนเฉลี่ยราว 23,500 บาท ซึ่งเมื่อหักรายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินออกไป อาทิ เงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในปี 2565 รายได้ครัวเรือนจะมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ประกอบกับภาวะการจ้างงานโดยรวมที่ยังคงเปราะบาง ส่งผลให้ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยจะมีรายได้ต่ำกว่านี้มาก และรายได้อาจมีความไม่แน่นอนสูง ด้วยเหตุนี้ รายได้ของครัวเรือนไทยโดยภาพรวมจึงยังมีความเปราะบาง และไม่สามารถรองรับปัจจัยที่ไม่คาดคิดได้มากนัก

ขณะเดียวกัน การเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกหลังเกิดวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารสดที่กำลังสะท้อนถึงการเข้าสู่วิกฤตอาหารทั่วโลก ได้ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าในประเทศไทยในหมวดดังกล่าวปรับขึ้นอย่างรวดเร็ว ต้นทุนค่าครองชีพที่แพงขึ้นถือเป็นปัจจัยกดดันเพิ่มเติมต่อกำลังซื้อของครัวเรือนไทยในทุกกลุ่ม และลดทอนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนด้วย โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่มีสัดส่วนการบริโภคอาหารสดและเชื้อเพลิงสำหรับใช้ใน

บ้านและการเดินทางในระดับสูง ซึ่งมีการปรับราคาเร่งตัวมากที่ราว 15-16% จากระยะเดียวกันปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับราคาสินค้าในหมวดอื่น ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนไทยในกลุ่มที่มีรายได้รวม 25,000-50,000 บาทต่อเดือน จะเพิ่มขึ้นจาก 68% ในปี 2564 มาอยู่ที่ราว 75% ในปี 2565 นี้ สำหรับครัวเรือนกลุ่มที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 15,000-25,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 80% มาอยู่ที่ 87% และครัวเรือนกลุ่มรายได้รวม 15,000 บาท จะเพิ่มขึ้นจาก 90% เป็น 98%

ทั้งนี้ จากผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี 2564 (Household Socio-Economic Survey: SES) พบว่า ครัวเรือนไทยจะมียอดหนี้สินรวมโดยเฉลี่ยประมาณ 208,000 บาทต่อครัวเรือน เมื่อสมมติให้ระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ที่ 5 ปีและอัตราดอกเบี้ย 5% ต่อปี ครัวเรือนไทยโดยรวมจะมีภาระผ่อนส่งหนี้สินราว 4,400 บาทต่อเดือน โดยเมื่อคำนวณสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิหลังหักค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน พบว่า สัดส่วนดังกล่าวของครัวเรือนกลุ่มรายได้ที่ 25,000-50,000 บาทต่อเดือน จะอยู่ที่ 0.88 ครัวเรือนกลุ่มรายได้ 15,000-25,000 บาท มีสัดส่วนอยู่ที่ 0.95 ขณะที่ครัวเรือนกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท มักมีรายได้ไม่เพียงพออยู่แล้ว ส่วนใหญ่จึงมักเป็นหนี้นอกระบบ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันและดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนใหญ่คิดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ จึงทำให้ไม่สามารถคำนวณหาสัดส่วนดังกล่าวได้ แต่จากผลสำรวจ SES ปีล่าสุด พบว่าครัวเรือนไทยมียอดหนี้นอกระบบรวมราว 3,800 บาทต่อครัวเรือน ซึ่งคาดว่ามาจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อพิจารณาสัดส่วนภาระผ่อนหนี้สินต่อรายได้สุทธิดังกล่าวพบว่า ครัวเรือนไทยส่วนใหญ่มีภาระผ่อนหนี้ต่อเดือนค่อนข้างสูงตามสภาพปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยที่เรื้อรังมานาน มีเงินสดเก็บออมไว้ใช้ในยามฉุกเฉินน้อยมาก โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มรายได้รวมต่ำกว่า 25,000 บาทลงมาที่ส่วนใหญ่ไม่เหลือเงินเก็บ ในกรณีเช่นนี้ หากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเปราะบางให้แก่ภาวะการเงินของครัวเรือนไทย

ด้วยสถานการณ์ที่รายได้สุทธิของครัวเรือนไทยในปี 2565 ปรับลดลงจากปีก่อนตามค่าครองชีพที่แพงขึ้น ประกอบกับภาระผ่อนชำระหนี้สินที่ยังมีอยู่ในระดับสูง ภาครัฐควรจัดการฟื้นฟูกิจกรรมเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศให้กลับมาใกล้เคียงปกติให้ได้มากที่สุด มีการดูแลระดับราคาสินค้าโดยรวมไม่ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ออกมาตรการบรรเทาค่าใช้จ่ายแก่ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบริหารจัดการหนี้อย่างเหมาะสม โดยช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและหาทางแก้ไขหนี้นอกระบบ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ควรหาวิธีลดรายจ่าย ประคองรายได้ที่มีอยู่ พร้อมหาช่องทางเพิ่มเติมรายได้ และบริหารจัดการหนี้ครัวเรือนอย่างเหมาะสม เช่น ขอเจรจาปรับลดภาระผ่อนจ่ายต่อเจ้าหนี้ลงชั่วคราว เพื่อประคับประคองตนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตค่าครองชีพทับซ้อนวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ไปให้ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง