รีเซต

'เขมทัตต์' ประกาศกร้าวไม่รับมติเยียวยาคืนคลื่น 2600 ย้ำอุทธรณ์แน่

'เขมทัตต์' ประกาศกร้าวไม่รับมติเยียวยาคืนคลื่น 2600 ย้ำอุทธรณ์แน่
มติชน
18 มิถุนายน 2563 ( 17:09 )
82
'เขมทัตต์' ประกาศกร้าวไม่รับมติเยียวยาคืนคลื่น 2600 ย้ำอุทธรณ์แน่

‘เขมทัตต์’ ประกาศกร้าวไม่รับมติเยียวยาคืนคลื่น 2600 ย้ำอุทธรณ์แน่

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับหนังสือที่ทำถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีผลกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กร ประกอบกับ อสมท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) จึงมีผลกระทบต่อผู้ถือหุ้น ซึ่งขอชี้แจงว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการคืนคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ โดยเฉพาะในขั้นตอนการเยียวยาและชดใช้ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ เมื่อมีการเรียกคืนคลืนความถี่ อสมท และเอกชนคู่สัญญาได้ทำการประมาณรายได้และค่าเสียโอกาสส่งให้ กสทช. โดยมูลค่าที่ได้ส่งไปคือ 50,000 ล้านบาท บนระยะเวลาถึอครองคลื่นความถี่ 15 ปี และได้มีการชี้แจงกับ กสทช. หลายครั้ง ซึ่งได้ยืนยันมูลค่าเสียโอกาสที่ 50,000 ล้านบาท กสทช. ไม่เคยสอบถามเลยว่า ต้องการได้รับเงินเยียวยาเท่าใด มีแต่เพียงขอให้ส่งประมาณการรายได้และกำไรของโคงการให้เท่านั้น ซึ่ง อสมท ได้ส่งประเมินรายได้รวมในการประกอบกิจการเป็นเวลา 15 ปี ไว้ที่ 226,830 ล้านบาท ตลอดเวลาที่ผ่านมา โดยยืนยันในมูลค่าความเสียหายที่ได้แจ้งไปมาตลอด และไม่เคยยอมรับมูลค่าเงินเยียวยาตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ อสมท และคู่สัญญา มีความพยายามที่จะให้บริการโทรทัศน์บอกรับสมาชิก โดยก่อนการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2600 เมกะเฮิรตซ์ ได้มีการลงทุนและการเตรียมการมาโดยตลอด จึงได้แจ้งกับ กสทช. ว่า หากมีการเรียกคืนคลื่นความถี่ ก็สมควรจะได้รับเงินเยียวยา ชดเชย และค่าเสียโอกาสให้สมกับการที่ได้ลงทุนมาตลอด 10 ปี ในการต่อสู้เรื่องการใช้คลื่นเพื่อทำธุรกิจและ 2 ปี ในการเรียกคืนคลื่นความถี่ ตลอดเวลาของการไปชี้แจงกับ กสทช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาการทดแทน ขดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 2500-2690 เมกะเฮิรตซ์ ของ กสทช. ซึ่งส่วนตัวไม่เคยทราบเลยว่า จะได้ค่าชดเชยมูลค่าเท่าใด จนสุดท้ายในการพิจารณาของ กสทช. ก็ได้ไปชี้แจง แต่ กสทช. มีความเห็นว่า การชี้แจงยังไม่ชัดเจน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงกลับมา 2 ประเด็น คือ อำนาจของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และการจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับคู่สัญญา หลังจากทำหนังสือชี้แจงแล้วตนยังได้ทำหนังสือแจ้งไปยังรัฐมนตรีไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีและสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ให้รับทราบ

 

“จุดยืนของเรื่องนี้ คือ กสทช. มีหน้าที่เยียวยาในการเรียกคืนคลื่นความถี่ โดยแบ่งการเยียวยาออกเป็น 3 ส่วนคือ มูลค่าที่ต้องทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทน ผมขอให้ กสทช. เร่งพิจารณาตามสัดส่วนที่เป็นธรรมตามที่คณะอนุกรรมการเยียวยาฯ มีความเห็น อสมท. เรียกร้องในส่วนที่ อสมท. จะต้องได้ ขอย้ำว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาผมไม่เคยทราบวงเงินเลยว่าจะได้รับเงินเยียวยาเท่าไร และเมื่อทุกอย่างไปต่อไม่ได้จะต้องยึดตามสัญญาที่มีอยู่ ผมจะอุทธรณ์มติเงินเยียวยา ของ กสทช. และไม่ทราบมติของ กสทช. ในส่วนของเงินเยียวยา ขอยืนยันว่าผมทำเพื่อผู้ถือหุ้นและพนักงาน ที่มีข่าวว่าผมยอมรับแบ่งเงิน 50:50 ไม่เป็นความจริง ผมไม่สนใจว่าตัวเลขของผู้เสียหายเท่าไร และผมก็ไม่เคยบอกว่าผมยอมรับตัวเลข 3,200 ล้านบาท สิ่งที่ผมทำได้และทำได้ดีที่สุดขององค์กรคือต้องไปบล็อกไม่ให้ กสทช. อนุมัติตามสัญญา เพราะไม่เช่นกัน อสมท. จะเสียเปรียบ” นายเขมทัตต์ กล่าว

 

นายเขมทัตต์ กล่าวว่า การอุทธรณ์จะเกิดขึ้นหลังจาก อสมท. ได้รับแจ้งมติที่ประชุม กสทช. จากนั้นจะแจ้งกับที่ประชุมผู้ถือหุ้น อสมท. เห็นว่า หาก กสทช. มีมติออกมาแล้วไม่คุ้มค่ากับที่องค์กรคาดหวัง เราต้องอุทธรณ์แน่นอน ส่วนที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รับคำร้องจากพนักงาน เข้าใจว่าเป็นผู้กำกับดูแลด้วยความเป็นห่วงเป็นใย อย่างไรก็ตาม หากยังตกลงกันไม่ได้ ก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะจบที่ศาลซึ่งจะทำให้การเยียวยามายัง อสมท. และคู่สัญญาต้องทอดเวลาออกไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง