“คามิคาเซ่” ไม่ได้ช่วยญี่ปุ่นรอดจากมองโกลรุกราน แต่เป็น “เอลนีโญ” ต่างหาก!
“คามิคาเซ่” หลายคนอาจจะรู้จักในนามฝูงบินหน่วยกล้าสังเวยชีพของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่มาจริง ๆ นั้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่าเป็น “ลมเทพเจ้า” ที่มาปัดเป่าภัยคุกคามกองเรือของมองโกล ที่นำทัพโดย กุบไล ข่าน จนไม่กล้ามารุกรานอีกเลย
เรื่องนี้เป็นตำนาน ที่ไม่เคยได้รับการพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่?
แต่มีงานศึกษาออกมาว่า พอมีความเป็นไปได้ แต่ลำพังเพียงคามิคาเซ่ไม่ได้ทำให้กองทัพอันเกรียงไกรของมองโกลต้องแตกพ่าย แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติระดับ “เอลนีโญ” ต่างหาก
งานศึกษาหนึ่ง Depositional evidence for the Kamikaze typhoons and links to changes in typhoon climatology เสนอสิ่งที่น่าสนใจว่า ในช่วงปี 1274 - 1281 ซึ่งตรงกับระยะเวลาที่มองโกลพยายามยกพลขึ้นบกชายฝั่งญี่ปุ่น บริเวณอ่าวอิมาริ ละทะเลสาบไดยะ ตรงเกาะคิวชู ได้เกิดพายุหลงฤดูขนาดใหญ่ ตามข้อมูลสถิติพายุใต้ฝุ่นย้อนหลัง ทั้งจากเอกสารกรมอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่น หรือบันทึกจากต่างประเทศ
มันเป็นเรื่องยากมากที่จะเกิดพายุขนาดใหญ่ที่จะจมกองเรือเรือนแสนลงได้ เพราะตอนนั้นเป็นเดือนพฤศจิกายน ไม่ใช่ฤดูมรสุม
แต่เมื่อเทียบเคียงกับชุดข้อมูลสถิติใต้ฝุ่นของญี่ปุ่นในช่วง 70s - 90s จะพบว่า ได้มีพายุหลงฤดูเช่นเดียวกันในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นผลมาจาก “เอลนีโญ” ที่ทำให้สภาพอากาศของโลกแปรปรวน
จึงทำให้มีการตรวจสอบจนพิสูจน์ได้ว่า เหตุการณ์ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ตรงกันกับเอลนีโญ เพราะในอีกซีกโลกหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน ดันเกิดน้ำท่วมนอกฤดูกาล หรือไม่ก็ประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก
มาถึงตรงนี้ ก็อาจจะบอกได้ว่า ในยุคที่ยังไม่มีงานศึกษาเรื่องสภาพอากาศอย่างจริงจัง กุบไล ข่าน ก็อาจจะคำนวนเงื่อนไขเรื่องฟ้าฝนมาดีแล้ว แต่อาจจะนึกไม่ถึงว่าจะมีเอลนีโญเกิดขึ้นมาจนกองเรือของเขาแตกพ่าย
Chronicles by วิศรุต หล่าสกุล
แหล่งอ้างอิง