รีเซต

ซีอีโอส.อ.ท.วอนรัฐตรึงค่าไฟ-ก๊าซ ขึ้นราคาฉุดศก. ซ้ำเติมธุรกิจ

ซีอีโอส.อ.ท.วอนรัฐตรึงค่าไฟ-ก๊าซ ขึ้นราคาฉุดศก. ซ้ำเติมธุรกิจ
มติชน
3 มีนาคม 2565 ( 12:32 )
45

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 15 เดือนมีนาคม 2565 หัวข้อ “ปรับขึ้นค่าไฟ-ก๊าซ กระทบเศรษฐกิจแค่ไหน” จากผู้บริหาร 150 ราย จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า กรณีภาครัฐจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซ ทั้งก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ต่อเนื่องนั้น จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และยังเป็นการซ้ำเติมปัญหาให้แก่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการมีความจำเป็นจะต้องปรับราคาสินค้าขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชน ดังนั้น จึงเสนอขอให้ภาครัฐพิจารณาคงอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ในรอบเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2565 เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบดังกล่าว นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อประหยัดพลังงาน และหันมาผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองภายในโรงงานอุตสาหกรรม

 

ผลสำรวจแบ่งเป็น 6 คำถาม ประกอบด้วย ปัจจุบันค่าไฟฟ้าและพลังงานคิดเป็นสัดส่วน 10-20% ของต้นทุนการผลิต มากถึง 38.7% และมีสัดส่วนมากกว่า 30% คิดเป็น 15.3% ต่อมากรณีภาครัฐมีการปรับค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซฯต่อเนื่อง มีความกังวงจะกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก 56.7% ขณะที่ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าและราคาก๊าซ ราคาสินค้าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากต้นทุนพลังงานที่อยู่ระดับสูง มากถึง 87.3% รองลงมาคือกระทบภาระค่าครองชีพของประชาชน 82.0% เร่งอัตราเงินเฟ้อให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น คิดเป็น 51.3% และทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก คิดเป็น 41.3%

 

นอกจากนี้ยังถามถึงมาตรการที่มีประสิทธิภาพบรรเทาผลกระทบของประชาชนและภาคธุรกิจ พบว่า 80.7% ต้องการให้คงอัตราค่าเอฟทีเดือนพฤษภาคม-สิงหาม 2565 ขณะที่ 59.3% ต้องการมาตรการความร่วมมือลดการใช้ไฟฟ้า โดยคืนผลประหยัดไฟฟ้าที่ลดได้ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า และ 53.3% ต้องการให้ตรึงราคาขายปลีกก๊าซชั่วคราว และ 52.7% ต้องการมาตรการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มในส่วนของผู้มีรายได้น้อย ขณะที่การรับมือผลกระทบของภาคอุตสาหกรรมพบว่า จะปรับปรุงกระบวนการผลิต เพื่อประหยัดพลังงาน 82.0% นอกจากนี้ยังมีคำถามถึงแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าและพลังงาน ปี 2565 ของภาคอุตสาหกรรม พบว่า 77.3% เพิ่มขึ้นจากปี 2564


ข่าวที่เกี่ยวข้อง