รีเซต

"รัฐ-เอกชน" พร้อมฝ่าด่าน สงครามการค้า "สหรัฐฯ-จีน" เจรจาบนพื้นฐาน รักษาสัมพันธ์-ผลประโยชน์ชาติ

"รัฐ-เอกชน" พร้อมฝ่าด่าน สงครามการค้า "สหรัฐฯ-จีน" เจรจาบนพื้นฐาน รักษาสัมพันธ์-ผลประโยชน์ชาติ
TNN ช่อง16
1 พฤษภาคม 2568 ( 14:31 )
11

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน "Mission Thailand ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ" โดยมีนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน เข้าร่วมบนเวที ซึ่งมีการกล่าวถึงแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย การกำหนดแนวทางในการเจรจา "ภาษีสหรัฐฯ" รวมถึงการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ เพื่อฝ่าด่านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยเน้นย้ำการรักษาสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ และรักษาผลประโยชน์ชาติ

โดยในประเด็นการเจรจาภาษีกับสหรัฐฯ คุณพิชัยยืนยันว่าจะยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ไม่ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศได้รับผลกระทบ และไม่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับประเทศต่าง ๆ ลดลง ซึ่งเรียกว่าเป็นการเจรจาแบบได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย หรือ วิน-วิน พร้อมระบุว่า รัฐบาลจะใช้วิธีการนำเข้าเฉพาะสินค้าที่เรามีการนำเข้าเป็นปกติอยู่แล้ว โดยจะใช้วิธีการย้ายแหล่งนำเข้าจากประเทศอื่น ๆ มายังสหรัฐฯ ซึ่งก็จะพิจารณาปัจจัยในเรื่องของราคาประกอบด้วย โดยจะต้องเป็นราคาที่แข่่งขันได้ ไม่สูงกว่าต้นทุนการนำเข้าจากประเทศอื่น ซึ่งก็จะไม่ไปกระทบกับภาคเอกชนในประเทศอย่างแน่นอน

ขณะที่นายเกรียงไกร ก็กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่ามาตรการภาษีสหรัฐฯอาจจะกระทบการส่งออกของไทย แต่ถ้าหากมีการบริหารจัดการที่ดี ภาคการส่งออกก็ยังสามารถไปต่อได้ ภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่ต้องลดกำลังการผลิตลง แต่อาจจะเพิ่มกำลังผลิตในบางสินค้าด้วยซ้ำ เช่น การนำเข้าข้าวโพดเพิ่มเติมจากสหรัฐฯ และนำมาแปรรูปเพื่อส่งออกเพิ่มมูลค่าสินค้า และมูลค่าเศรษฐกิจที่สูงขึ้นได้ ซึ่งในหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น อาหารสัตว์ และอาหารสัตว์เลี้ยง ที่สามารถเปิดตลาดใหม่ ๆ ได้นอกเหนือจากสหรัฐฯ และเอกชนไทยก็ยังมีกำลังการผลิตที่เหลือพอพร้อมรองรับการผลิตที่สูงขึ้นได้ในอนาคต

ซึ่งการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯไม่ใช่เพียงการนำเข้าที่สูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการบริหารพอร์ตสินค้านำเข้าให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถแข่งขันได้ ทั้งในเรื่องของพลังงาน และอาหารเพื่อการแปรรูป ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพสูง

ในขณะที่ประเทศไทยก็จะได้รับโอกาสเพิ่มขึ้นจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ โดยนายพิชัยกล่าวว่า จุดประสงค์หนึ่งที่ทางสหรัฐฯต้องการจากการกำหนดมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ คือการย้ายฐานผลิตของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นใน 3 ลักษณะคือ

-การย้ายฐานการผลิตกลับมายังสหรัฐฯ หรือ Re-Shoring จากประเทศอื่น ๆ ซึ่งก็อาจจะทำไม่ได้ในหลายอุตสาหกรรม อาจจะทำได้ในลักษณะลงทุนเพิ่ม หรือกระจายการลงทุน แต่การย้ายฐานจากต่างประเทศกลับไปสหรัฐฯนั้นอาจจะทำได้ยาก เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของต้นทุนแรงงาน วัตถุดิบ ตลาดรองรับ ที่อาจจะเสียเปรียบกว่าเมื่อย้ายกลับไปยังสหรัฐฯ

-การย้ายฐานการผลิตมายังประเทศที่เปก็นพันธมิตร หรือมีความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐฯ หรือ Friend Shoring อย่างเช่นในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทยมรความพร้อมอย่างมากในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และเป็นจุดยุทธศาสตร์กึ่งกลางขงภูมิภาค สามารถประสานความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดีกับทั้ง 2 ขั้วอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือสหรัฐฯ ก็จะเป็นโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนให้เข้ามายังประเทศไทยเพิ่มเติมได้ในอนาคต

-การย้ายฐานการลิตมายังประเทศใกล้เคียงสหรัฐฯ หรือ Near Shoring เช่น แคนาดา และเม็กซิโก ซึ่งก็ถือว่าเป็นอีหนึ่งตัวเลือกที่ทางสหรัฐฯต้องการ แต่ก็อาจจะมีอุปสรรคเช่นเดียวกันในเรื่องของ ต้นทุนแรงงาน และวัตถุดิบที่อาจจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันไม่ได้

ในขณะที่มาตรการในการเจรจาที่จะต้องไม่กระทบกับเอกชนไทย นายเกรียงไกรระบุว่า ปัจจุบันมีสินค้า 24 รายการที่ได้รับผลกระทบแล้ว จากทั้งหมด 47 รายการ ซึ่งในอนาคตอาจจะสูงขึ้นกว่านี้ หากสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯรุนแรงขึ้น

ในประเด็นนี้นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลได้ติดตามอย่างใกล้ชิดโดยมีมาตรการที่จะจำกัดสินค้าที่เป็น Old Technology ไม่ให้เข้าสู่ประเทศไทย สนับสนุนให้อุตสาหกรรมไทยลงทุนในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้น มีการตรวจโรงงาน และสินค้าป้องกันการสวมสิทธิ การปรับปรุง Local Content ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 40% การผลักดันให้ต่างชาติสามารถที่จะใช้สิทธิที่ดินได้ 99 ปี ของทั้งรัฐ และเอกชน โดยที่ดินของรัฐเมื่อครบสัญญา 99 ปีก็จะกลับมาเป็นของรัฐ ส่วนที่ดินเอกชนเมื่อครบ 99 ปี ก็จะถูกโอนมาเป็นของรัฐเช่นเดียวกัน ซึ่งก็จะช่วยสนับสนุนการลงทุน โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ก็จะได้ประโยชน์ รวมถึงการเร่งแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่าง ๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไข

ต้องยอมรับว่าการเจรจาหาทางออกในเรื่องของภาษีสหรัฐฯนั้นละเอียดอ่อน และมีความซับซ้อน ซึ่งกระบวนการ หรือแนวทางในการเจรจาจะต้องมีความครอบคลุม ชัดเจน และรอบคอบ และที่สำคัญต้องไม่ทำให้ไทยเสียเปรียบมากจนสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงยังรักษาระดับความสัมพันธ์กับประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นได้ดีอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง