รีเซต

หุ้นไทยยังไม่ปลอดภัย จับตาแรงขายเพิ่มเดือน มิ.ย. หลังไร้ปัจจัยบวกใหม่หนุนตลาด แถมปัจจัยเสี่ยงเพียบ

หุ้นไทยยังไม่ปลอดภัย จับตาแรงขายเพิ่มเดือน มิ.ย. หลังไร้ปัจจัยบวกใหม่หนุนตลาด แถมปัจจัยเสี่ยงเพียบ
มติชน
2 มิถุนายน 2563 ( 08:37 )
105
หุ้นไทยยังไม่ปลอดภัย จับตาแรงขายเพิ่มเดือน มิ.ย. หลังไร้ปัจจัยบวกใหม่หนุนตลาด แถมปัจจัยเสี่ยงเพียบ

 

นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยในเดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา ยังไม่เกิดปรากฏการณ์แรงขายในเดือนพฤษภาคม (Sell in May) ตามที่คาดไว้ โดยดัชนีในเดือนพฤษภาคมฟื้นตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 อีก 3.2% เทียบกับเดือนเมษายน ทำให้นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันเหลือติดลบเพียง -15% จากที่ลงลึกไปถึง 39% หากนับที่จุดต่ำสุดของรอบที่ดัชนีลงไปแตะระดับ 969 จุด เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2563 ซึ่งสาเหตุคาดว่ามาจาก 2 ปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ 1.จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ลดลงในอัตราเร่งตั้งแต่กลาง เมษายน ที่ผ่านมา จนสามารถคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้เร็วกว่าที่ตลาดคาด

 

ซึ่งหากย้อนไปดูวิกฤตซับไพร์มและน้ำท่วม จะพบว่าดัชนีหุ้นมักฟื้นตัวก่อนผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) และกำไรต่อหุ้นของ ตลาดหลักทรัพยฯประมาณ 1-2 ไตรมาส และ 2.สภาพคล่องที่เติมเข้ามาในระบบเศรษฐกิจทั้งนโยบายการเงิน อาทิ จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลดดอกเบี้ย, ชะลอการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย, ปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงนโยบายการคลัง

 

โดยเฉพาะเงินเยียวยาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งคาดว่าสูงถึง 1.7 แสนล้านบาท เนื่องจากมีการปรับเพิ่มจำนวนกลุ่มอาชีพอิสระจาก 14 ล้านคน เป็น 16 ล้านคน และมีการโอนเงินย้อนหลังส่วนที่ยังไม่ได้ของเดือนเมษายน กว่า 8 ล้านคน ทั้งยังมีการอนุมติเงินช่วยเหลือเกษตรกรอีกกว่า 10 ล้านคนด้วย โดยให้ระวังแรงขายในเดือนมิถุนายนนี้แทน

 

นายณัฐพลกล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตาม หลังประเมินว่าจะมีน้ำหนักกดดันตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายนนี้ มี 5 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน ที่น่าจะมีความรุนแรงขึ้น จากก่อนหน้านี้เป็นสงครามการค้าและเทคโนโลยี หลังจากนี้จะนำไปสู่การเมืองระหว่างประเทศของชาติพันธมิตรแต่ละฝั่ง โดยคาดว่าโควิด-19 จะเป็นตัวเร่งให้แต่ละประเทศกำหนดนโยบายการค้าใหม่ เพื่อไม่ให้กระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน 2.สภาพคล่องในระบบการเงินโลกจะลดลงชั่วคราว จากการเร่งออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินของหลายประเทศ อาทิ ประเทศไทยที่เงินเยียวยาชุดแรกมาจากงบรายจ่ายปี 2563 ประมาณ 7 หมื่นล้านบาท และกู้แบงก์ในประเทศอีก 7 หมื่นล้านบาท

 

หลังจากนี้คาดว่าจะเห็นการระดมเงินผ่านพันธบัตรมากขึ้น โดยหากอิงเม็ดเงินเยียวยาที่ต้องใช้ในเดือนมิถุนายน ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท คาดว่ากระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มเติม จากที่ออกไปแล้ว 5 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าออกจำหน่ายทั้งสิ้น 2 แสนล้านบาท 3.ปัจจัยในประเทศขาดแรงสนับสนุนใหม่ หลังจากมีการคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว 3 เฟสครอบคลุมเกือบทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ

 

ขณะที่มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เริ่มได้เร็วสุดเป็นเดือนกรกฎาคมนี้ และต้องผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก่อน 4.มูลค่าหุ้น (แวลูเอชั่น) ของตลาดหุ้นไทยมีความตึงตัวแล้ว และ 5.อิงการฟื้นตัวของรอบวิกฤตในอดีต พอเข้าสู่สัปดาห์ที่ 12-14 มักมีการพักตัวเพื่อลดความร้อนแรงลง ซึ่งวิกฤตโควิด-19 รอบนี้ ดัชนีฟื้นจากจุดต่ำสุดมาแล้ว 11 สัปดาห์

 

กลยุทธ์ในการลงทุนที่แนะนำคือ พักเงินในกลุ่มหุ้นปลอดภัย และหุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะแม้ว่าเดือนมิถุนายน จะมีโอกาสได้แรงหนุนจากกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (เอสเอสเอฟ) พิเศษโค้งสุดท้าย แต่จากการติดตามเม็ดเงินไหลเข้าทั้ง 18 กองทุนในช่วงเดือนเมษายนพฤษภาคม ที่ผ่านมา พบว่าอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.8 พันล้านบาท ทำให้คาดว่าแรงซื้อตลอด 3 เดือน (เม..-มิ..) จะน้อยกว่าที่เคยคาดไว้ประมาณ 6 พันล้านบาท จึงไม่น่าช่วยหนุนดัชนีหุ้นได้มากนัก จึงแนะนำให้เลือกลงทุนในหุ้นที่มีกระแสเงินสดมั่นคงและมีค่าเบต้าต่ำ ได้แก่ADVANC/ DTAC/ INTUCH/ CPALL/ BGRIM/ BCH/ BEM/  AMATA” นายณัฐพลกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง