10 ตัวเลขงบการเงินต้องรู้ ก่อนเอกซ์เรย์ “หุ้นธนาคาร”

หุ้นในกลุ่มธนาคารถือว่าเป็นหุ้นกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความซับซ้อนในเรื่องของตัวเลขผลประกอบการ ที่จะมีความแต่งต่างจากหุ้นในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งการอ่านงบการเงินในหุ้นกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้สามารถวิเคราะห์ความสามารถ และความแข็งแกร่งของธนาคารแต่ละแห่งได้ ซึ่งตัวเลขงบการเงินต่าง ๆ ที่มีความสำคัญ และห้ามมองข้าม มีดังนี้
Total Income หรือรายได้รวม เป็นตัวเลขที่บ่งบอกว่าแต่ละธนาคารสาารถสร้างรายได้จากการประกอบธุรกิจมากน้อยเพียงใด และมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมาอย่างไร ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูง หรือยิ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี สะท้อนภาพของธุรกิจที่กำลังเติบโต
Interest Income หรือรายได้จากดอกเบี้ย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นรายได้หลักของธนาคาร จากการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูง หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี แต่ต้องระวังความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยซึ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ก็อาจจะทำให้รายได้จากดอกเบี้ยปรับตัวลดลงตามไปด้วย
Non Interest Income หรือรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย เป็นรายได้อีกประเภทหนึ่งของธนาคารซึ่งหลักก็จะมาจากค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าบริหารจัดการสินทรัพย์ หรือรายได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป็นต้น ซึ่งตัวเลขในกลุ่มนี้ยิ่งสูง หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี เพราะเป็นรายได้ที่มีกำไรสูง และยิ่งธนาคารไหนมีสัดส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่สูง จะช่วยลดความผันผวนจากรายได้รวมได้
Cost To Income หรือค่าใช้จ่ายต่อรายได้ เป็นการวัดความสามารถในการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่าย ๆ ของแต่ละธนาคารว่าใครจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าในการสร้างรายได้ ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งต่ำ หรือลดลงต่อเนื่องยิ่งดี เพราะสามารถสะท้อนประสิทธิภาพในการดำเนินงานที่สูง และเพิ่มความสามารถในการทำกำไร
Net Profit หรือกำไรสุทธิ เป็นตัวเลขบรรทัดสุดท้ายในงบการเงินว่าแต่ละธนาคารสามารถทำกำไรสุทธิได้เท่าไหร่ เมื่อหักต้นทุน และค่าใช้จ่ายทุกอย่างออกหมดแล้ว ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูง หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี ยิ่งดี เพราะจะแสดงความสามารถในการทำกำไรที่สูงของธนาคาร
Loan or Credit Growth หรือการเติบโตของสินเชื่อ เป็นตัวเลขที่บอกภาพรวมว่าแต่ละธนาคารสามารถขยายฐานการให้สินเชื่อให้เติบโตต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะการปล่อยสินเชื่อก็เป็นรายได้หลัก ๆ ของธนาคาร ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูง หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี สะท้อนถึงโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และความเชื่อมั่นของลูกค้า
Net Interest Margin (NIM) หรือส่วนต่างดอกเบี้ย บางคนก็อาจจะใช้คำว่า Spread ก็ได้ เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่าย กับดอกเบี้ยที่ได้รับ ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูง หรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยิ่งดี แสดงถึงส่วนต่างของดอกเบี้ยรับ และจ่ายที่สูง ซึ่งก็จะสะท้อนไปยังกำไรสุทธิของธนาคาร
Expected Credit Loss (ECL) หรือตั้งสำรองขาดทุนสำหรับหนี้ที่สงสัยจะสูญ เป็นตัวเลขตามมาตรฐานทางบัญชีที่แต่ละธนาคารจะต้องกันสำรองเงินส่วนหนึ่งไว้ สำหรับสินเชื่อ หรือหนี้ที่มีโอกาสจะกลายเป็นหนี้สูญ เพื่อไม่ให้กระทบกับผลการดำเนินงานรวมของธนาคาร ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งต่ำ หรือลดลงต่อเเนื่องยิ่งดี แสดงถึงคุณภาพสินเชื่อที่ดี
Non Perfoming Loan (NPL) หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นตัวเลขที่บอกสัดส่วนของหนี้ที่เป็นหนี้สูญ ไม่สามารถเรียกชำระหนี้ได้ เมื่อเทียบกับการปล่อยสินเชื่อทั้งหมดของธนาคาร ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งต่ำ หรือลดลงต่อเเนื่องยิ่งดี แสดงถึงคุณภาพสินเชื่อที่ดี
Coverage Ratio หรือเงินสำรองต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นตัวเลขที่แสดงว่าแต่ละธนาคารมีการสำรองเงินไว้สำหรับหนี้สูญ หรือ NPL ในสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งตัวเลขนี้ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงถึงความแข็งแกร่งของการเงินต่อหนี้เสีย โดยเฉลี่ยในอุตสาหกรรมเงินสำรองก็จะอยู่ที่ 200-300% ของ NPL
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
