รีเซต

เปิดอาการโรค "พยาธิปอดหนู" รุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ อาหารที่มักพบพยาธิปอดหนู เช็ก!

เปิดอาการโรค "พยาธิปอดหนู" รุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้ อาหารที่มักพบพยาธิปอดหนู เช็ก!
Ingonn
3 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:41 )
607

เป็นอีกข่าวที่อวสาน "กุ้งแช่น้ำปลา" โดยพบผู้ป่วยโรค "พยาธิปอดหนูขึ้นตา" จากการรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ เป็นประจำ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา ทำให้ข้าราชการสาววัย 40 ปี ตาบอด พบเป็นผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก ขณะที่ทั่วโลกพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย พบมากที่สุดในภาคอีสานของประเทศ ซึ่ง "พยาธิปอดหนู" เป็นอีกโรคที่ใกล้ตัวมาก เพราะเกิดจากอาหารที่เรานิยมกินในปัจจุบัน วันนี้ TrueID จึงจะพาไปรู้จักกับ "พยาธิปอดหนู" มีอาการอย่างไร อันตรายและรุนแรงแค่ไหน อาหารแบบไหนที่ต้องเฝ้าระวัง

 

"พยาธิปอดหนู" คืออะไร

พยาธิปอดหนู (Angiostrongylus cantonensis) เป็นพยาธิตัวกลมในสกุล Angiostrongylus ซึ่งตัวเต็มวัยที่แบ่งออกเป็น 2 เพศ ได้แก่ เพศผู้และเพศเมีย พบครั้งแรกในค.ศ. 1935 จากเส้นเลือดปอดหนูที่มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มันจะชอบเข้าไปอยู่ในหลอดเลือดแดงใหญ่ของปอดหนู บางครั้งอาจพบอยู่ที่หัวใจซีกขวาของหนูได้เช่นกัน ก็เลยเรียกว่า “พยาธิปอดหนู” สามารถพบพยาธิปอดหนูได้ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และหมู่เกาะแปซิฟิก คนติดเชื้อเกิดจากการรับประทานอาหารไม่สุกที่ปรุงจากหอยหรือทาก บางครั้งติดเชื้อจากการรับประทานพาราเทนิกโฮสต์และผักที่มีการปนเปื้อนระยะติดต่อ 

 

วงจรชีวิต"พยาธิปอดหนู"

พยาธิตัวเต็มวัยเพศผู้และเพศเมียอาศัยอยู่ที่เส้นเลือดแดงในปอดหนู เพศผู้และเพศเมียผสมพันธุ์กันออกไข่ ต่อมาตัวอ่อนฟักออกจากไข่เป็นตัวอ่อนระยะที่ 1 และปนออกมากับอุจจาระของหนู ตัวอ่อนจะไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ ในระยะนี้หากคนรับประทานอาหารปรุงสุกๆดิบ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ 

 

ภาพจาก InsidePitlok

 

ภาพจาก InsidePitlok

 

 

อาการโรค"พยาธิปอดหนู"

พยาธิปอดหนูทําให้เกิดโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะฟักตัวของการแสดงอาการกินเวลาประมาณ 7 – 30 วัน หลังจากที่ได้รับระยะติดต่อ โดยมีอาการดังนี้

  1. อาการเริ่มแรกจะมีไข้เป็น ๆ หาย ๆ
  2. ปวดท้อง
  3. คลื่นไส้
  4. อาเจียน
  5. ปวดศีรษะบริเวณหน้าผาก คอแข็ง  
  6. บางรายมีอาการตาพร่ามัว เนื่องจากพยาธิมีการเดินทางเข้าตา 
  7. มีอาการเกร็งตามกล้ามเนื้อ สูญเสียการทรงตัว 
  8. บางรายรุนแรงถึงเป็นอัมพาตและเสียชีวิตได้

 

ความรุนแรงของอาการ "โรคพยาธิปอดหนู"

ความรุนแรงของโรคมากน้อยขึ้นอยู่กับจํานวนพยาธิที่ได้รับเข้าไปและการตอบสนองของร่างกายต่อพยาธิ การตรวจวินิจฉัยที่แน่นอน (definitive diagnosis) ของโรคพยาธิปอดหนูในคน คือ การตรวจพบพยาธิที่ตา แต่สามารถทําได้น้อยราย วิธีการตรวจ วินิจฉัยที่สามารถทําได้ คือ การซักประวัติ การตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือการตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา

 

อาหารที่เสี่ยงพบ "พยาธิปอดหนู"

  1. หอยชนิดต่าง ๆ แบบสุก ๆ ดิบ ๆ ทั้งหอยน้ำจืด หอยบก ทาก
  2. พาราเทนิก เช่น กบ, คางคก, ลูกอ๊อด, กุ้งน้ำจืด, ปลาน้ำจืด และตะกวด เป็นต้น
  3. ทานผักสดหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนตัวอ่อนระยะติดต่อ

 

อัตราการติดเชื้อของพยาธิปอดหนูในหอยเชอรี่ในไต้หวันมีอัตรา 21 % จีน 42 – 69 % และเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น 10 – 39% ในประเทศไทยพบว่ามีการนําหอยโข่งมาปรุงเป็นอาหารท้องถิ่นจึงทําให้เกิดการติดเชื้อพยาธิปอดหนู แต่ปริมาณหอยโข่งที่ติดเชื้อพยาธิปอดหนูมีอัตราที่ต่ํากว่าอัตราการติดเชื้อจากการกินหอยเชอรี่ 

 

ยารักษาโรคพยาธิปอดหนู 

ปัจจุบันยังไม่มียาที่มีความจําเพาะในการรักษาโรคที่เกิดจากพยาธิปอดหนู ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน การให้ยาแก้ปวดก็สามารถที่จะระงับอาการของโรคได้ ส่วนในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีภาวะเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาด้วยยา prednisolone

 

ภาพจาก InsidePitlok

 

 

ข้อมูล บทความวิชาการ พยาธิปอดหนูและโฮสต์/ตัวกลางในธรรมชาติ , หมอแล็บแพนด้า , InsidePitlok

ภาพจาก InsidePitlok

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง