แบงก์ชาติ 24 แห่ง เตรียมใช้ สกุลเงินดิจิทัล หรือ CBDC ใน 7 ปี
ธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements-BIS) เปิดเผยผลสำรวจธนาคารกลาง 86 แห่ง เมื่อปลายปีที่แล้วว่า ธนาคารกลางประมาณ 24 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจเกิดใหม่และเขตเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว จะมีสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency-CBDC) หมุนเวียนในระบบภายในสิ้นทศวรรษ หรือในปี 2573
ปัจจุบัน ธนาคารกลางทั่วโลกกำลังศึกษาและดำเนินการเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัลสำหรับรายย่อย (retail) ระหว่างประชาชนและบริษัทห้างร้าน เพื่อไม่ให้ภาคเอกชนเข้ามาคุมระบบการชำระเงินดิจิทัล ท่ามกลางการใช้เงินสดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่ธนาคารกลางบางแห่งกำลังพัฒนา CBDC สำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน (wholesale)
โดยสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางส่วนใหญ่จะใช้สำหรับรายย่อย ซึ่งธนาคารกลาง 11 แห่งดำเนินการในส่วนนี้แล้ว เพิ่มเติมจากบาฮามาส แคริบเบียนตะวันออก จาเมกา และไนจีเรีย
ส่วนการใช้งานสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน มีธนาคารกลาง 9 แห่งที่อาจจะเปิดตัวเวอร์ชั่น CBDC
คณะผู้จัดทำรายงานระบุว่า การเพิ่มประสิทธิภาพการชำระเงินข้ามพรมแดนเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนหลักสำหรับธนาคารกลางในการพัฒนา CBDC เพื่อทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน
เมื่อปลายเดือนมิถุนายน ธนาคารกลางสวิส ระบุว่า เตรียมเปิดตัว CBDC สำหรับทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่อง CBDC ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อริเริ่มโครงการนำร่อง “ยูโรดิจิทัล” ซึ่งอาจจะเปิดตัวในปี 2571 นอกจากนี้ ยังมีโครงการนำร่องในจีนที่เข้าถึงประชาชน 260 ล้านคน ส่วนอีก 2 เขตเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่ ได้แก่ อินเดียและบราซิล ก็วางแผนจะเปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลในปีหน้า
BIS ระบุด้วยว่า ในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เกิดความวุ่นวายในตลาดคริปโทเคอร์เรนซี รวมถึงการล่มสลายของ “เทอร์รายูเอสดี” (TerraUSD) ซึ่งเป็นสเตเบิลคอยน์รายใหญ่อันดับ 4 ของโลก และการล้มละลายของ FTX แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซีรายใหญ่ ประกอบกับการล้มละลายของธนาคาร “ซิลิคอน วัลเลย์” (SVB) และ “ซิกเนเจอร์” ที่ให้บริการเกี่ยวกับคริปโทฯ ซึ่งแม้จะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดการเงินแบบดั้งเดิม แต่ก็นำไปสู่การเทขายสินทรัพย์คริปโทฯ จำนวนมาก
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN