รีเซต

10 เทคนิค เก็บเงินแสน ภายใน 1 ปี มนุษย์เงินเดือน ทำได้สบาย

10 เทคนิค เก็บเงินแสน ภายใน 1 ปี มนุษย์เงินเดือน ทำได้สบาย
TNN ช่อง16
30 กรกฎาคม 2565 ( 16:50 )
270

เก็บเงิน 1 แสน เชื่อว่าเป็นหนึ่งในเป้าหมายของใครหลายคน โดยอาจจะเป็นเป้าหมายในการเริ่มต้น ที่จะนำไปสู่การซื้อบ้าน หรือรถก็ได้ ยิ่งถ้าใครมีงานประจำ มีรายได้สม่ำเสมอน่าจะไม่ยากจนเกินไป 


ดังนั้น TNN ONLINE จึงจะนำ 10 วิธี เก็บเงิน 1 แสนบาท ภายใน 1 ปีเริ่มต้นสานฝันด้วยเงินก้อนแรกกัน 

1.แบ่งบัญชีใช้งานให้ชัดเจน

เป็นวิธีเบื้องต้นที่แนะนำต่อๆกันมา ว่าถ้าอยาก เก็บเงิน 1 แสนบาท ให้ได้ ควรมีการแยกบัญชีให้ชัดเจนเลย บัญชีเงินเก็บห้ามใช้ บัญชีเงินสำรอง บัญชีรายจ่ายจำเป็นแต่ละเดือน บัญชีค่าใช้จ่ายประจำ  เป็นต้น เพื่อให้เห็นจำนวนเงินที่เราสามารถใช้ได้จริงมากขึ้น และส่วนนี้จะทำให้เราเป็นหนี้ได้น้อยลงด้วย

 

2.การเก็บเงิน 1 แสนบาทเป็นรายวัน

การเก็บเงินตามจำนวนวัน เป็นวิธีที่อาจเคยได้ยินกันมาแล้วบ้าง โดยให้เก็บตามจำนวนเพิ่มขึ้นตามวัน ยกตัวอย่างเช่น วันที่ 1 เก็บ 1 บาท วันที่ 2 เก็บ 2 บาท วันที่ 365 เก็บ 365 บาท ใน 1 ปี จะได้เงินประมาณเกือบ 70,000 บาทเลย แต่เก็บสูงสุดเพียงแค่หลักร้อยเท่านั้น หรือบางคนอาจมีวิธีการใช้เงินวันละ 300 บาท ถ้าเหลือก็นำมาหยอดกระปุก ก็ถือว่าเป็นวิธีการเก็บเงินแสนบาท ฉบับมนุษย์เงินเดือนที่ไม่กดดันตัวเองมากจนเกินไป


3.เก็บเงินวันละ 275-300 บาท

เป็นอีกหนึ่งวิธีของการเก็บเงินรายวัน ถ้าคนที่มีฐานเงินเดือนค่อนข้างสูงหน่อย ก็อาจเก็บเป็นค่าแรงขั้นต่ำไปเลย  แต่ถ้าฐานเงินเดือนไม่ได้สูงมากก็อาจจะหาเป็นรายได้เสริมเพื่อให้จำนวนเงินมีมากขึ้น หรือแบ่งครึ่งเพื่อเก็บก็ได้ ถึงระยะเวลาอาจจะนานขึ้นหน่อย แต่อยากน้อยเราได้เริ่มลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง การเก็บเงิน 1 แสนบาทก็จะอยู่ไม่ไกลแล้ว 

 

4.การเก็บเงินแบบรายเดือน

บางคนการเก็บเงินรายวันอาจจะไม่ใช่ทาง หรือไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่ เพราะอาจจะเก็บถี่เกินไป ให้ลองเปลี่ยนมาแบ่งเก็บเป็นรายเดือนแทน  แต่ถ้าเป้าหมายคือ เก็บเงินแสน จะต้องแบ่งเก็บประมาณเดือนละ 8,400 บาท  อาจจะนำไปฝากธนบัตรรัฐบาล กองทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าของเงินให้เพิ่มขึ้น หรือบางคนน่าจะเคยเก็บกันเยอะ แบ่ง 10%-20% ของเงินเดือน อันนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยเราก็ได้ตั้งใจเก็บ เมื่อทำต่อเนื่องเรื่อย ๆ เงินก็จะมีมูลค่าเพิ่มถึง 1 แสนบาทได้

 

5. ลดการซื้อของที่ยังไม่จำเป็น 

เชื่อว่าเวลาต้องการซื้ออะไรสักอย่างทุกคนต้องคิดก่อนซื้อ และต้องเลือกที่ดีที่สุด ว่าของนั้นๆเราจำเป็นต้องใช้ไหม  แต่อาจจะมีบางอย่างที่เกินความจำเป็นก็ได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ ถ้ายังใช้งานได้ดีปกติ ก็ของให้ลองทบทวนดูก่อนว่า จำเป็นจริงๆไหม รุ่นใหม่เราสามารถนำมาต่อยอดอะไรได้บ้าง หรือ ถ้าจำเป็นอย่างพวกอุปกรณ์ไอที อาจจะไม่จำเป็นต้องซื้อแบบฟังก์ชั่นครบจัดเต็ม เพราะถ้านำมาใช้งานจริงอาจจะใช้ไม่ครบทุกฟังก์ชันก็ได้ ซึ่งถ้าจัดหนักจัดเต็มอาจจะใช้ไม่คุ้มก็เป้นได้ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนคิดจะซื้อ

ภาพประกอบ : TNN ONLINE  


6. อย่าให้รางวัลตัวเองมากเกินไป

น่าจะเคยได้ยินกันบ่อยๆว่า "ทำงานมาเหนื่อยแล้ว ให้รางวัลตัวเองบ้าง" ความจริงก็ไม่ได้ผิดอะไรให้ได้ แต่ถ้าคุณมีความตั้งใจที่จะเก็บเงินจริง ๆ ก็ลองเปลี่ยนจากการซื้อของให้รางวัลตัวเองเปลี่ยนมาเป็นเงินเก็บเข้าบัญชีดู เว้นแต่อยากได้มาก ๆ รอช่วงสินค้าลดราคา ก็ไม่ได้เสียหายอะไรบาง ส่วนนี้ถ้าปรับได้ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเก็บเงิน 


7.สลับทำอาหารกินเองบ้างก็ได้

อาหารในชีวิตประจำวันนี้ถ้าซื้ออย่างราคาถูกเลยก็อยู่ที่ประมาณ 50 บาท 1 วันก็จะตกประมาณ 150 บาท แล้วถ้า 1 ปี ก็จะอยู่ที่ประมาณ 18,250 บาท ซึ่งส่วนนี้เรายังไม่รวมค่าบุฟเฟ่ต์ และค่าเฟ่ขนมหวานนะ กาแฟ  แต่ถ้าใครสะดวกพอที่จะทำอาหารกินเองได้บ้าง ก็จะช่วยยืดระยะเวลาในการใช้เงินส่วนนี้ไปได้ ทำให้เราประหยัดขึ้นได้หลายบาทเลยทีเดียว

 

8.ลดซื้อการแฟที่ร้าน

บางคนติดกาแฟหรือน้ำหวานต้องซื้อกินทุกวันเพื่อเติมความสดชื่น ในราคากลางที่ส่วนใหญ่ซื้อกันก็อยู่ที่ประมาณ 60-120 บาทต่อแก้ว ถ้าเรากินแบบนี้ทุกวันตลอดระยะเวลา 1 ปี จะเป็นเงินประมาณ 22,000 บาท อาจจจะลองปรับมาเป็นทานของฟรีที่บริษัท หรือซื้อกาแฟสำเร็จรูปมาไว้ชงเองสลับๆกันกับการต้องซื้อบ้าง  หรือถ้าไม่สะดวกจริงๆ ลองเปลี่ยนร้านอื่นที่ราคาถูกลงกว่านี้หน่อย  ถือโอกาสทดลองร้านใหม่ๆไปในตัว ถ้าเจอร้านถูกปากด้วยราคาสบายกระเป๋าด้วย ก็จะช่วยให้เราลดค่าใช้จ่ายตรงนี้ได้ 


9.ลดปาร์ตี้ บุฟเฟต์ เที่ยวน้อยลง

เข้าใจว่าทำงานมาหนักเหนื่อย อยากพักผ่อน หาความสุขสนุกเข้าตัวบ้าง ก็ถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่เสียหายอะไร แต่ในบางคนเป็นต้องเจอกันทุกศุกร์ เก็บเงินจ่ายเงินมาแต่ละรอบก็เล่นเอาหนักหน่วง ถ้าลดค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ลงได้บ้าง ก็จะมีส่วนของเงินเก็บให้ถึง 1 แสนได้เร็วขึ้น 


10. เก็บเงิน 1 แสนบาทต้องใช้ความตั้งใจ

สุดท้ายคือ "ความตั้งใจ" ไม่ว่าจะทำอะไร ความตั้งใจจะทำให้เราถึงเป้าหมาย ต้องชัดเจนและแน่วแน่พอ ยิ่งปัจจุบันค่าครองชีพที่สูง ค่าใช้จ่ายหลายอย่างอาจจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการไปถึงเป้าหมาย และอย่าลืมว่าการเก็บเงินต้องไม่เครียดหรือกดดันตัวเองมากเกินไป ควรสนุกและมีความสุขไปด้วย เพราะอาจจะทำให้ล้มเลิกกลางคันก็ได้ ทีนี้การจะเก็บเงินแสนให้ได้ตามเป้าก็คงจะไม่สำเร็จ 

 


การเริ่มต้นสร้างวินัยการออม ที่สำคัญคือจะต้องไม่ตึงหรือไม่หย่อนจนเกินไป ควรเลือกวิธีการที่เราสะดวก และเหมาะกับตัวเอง ตอบโจทย์และเพื่อให้สามารถเก็บได้นานไม่รู้สึกเป็นภาระ แม้ว่าการเก็บเงินจะต้องอาศัยความอดทนแต่ถ้าได้เห็น เงินแสนบาท ตามเป้าที่ตั้งไว้ เชื่อว่า จะมีความสุขและภูมิใจกับมันแน่นอน 


อ้างอิง  : กรุงไทย,ไทยพาณิชย์ 
ภาพ : AFP ,TNN ONLINE  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง