นักวิทย์จีนพบ 'รอยเท้าไดโนเสาร์' นับร้อย เก่าแก่ 80 ล้านปี
ซั่งหาง, 13 ม.ค. (ซินหัว) -- คณะนักบรรพชีวินวิทยาของจีนพิสูจน์รอยเท้าไดโนเสาร์ที่กลายเป็นฟอสซิลมากกว่า 240 รอย ในมณฑลฝูเจี้ยนทางตะวันออกของประเทศ ซึ่งถือเป็นร่องรอยแรกของกิจกรรมไดโนเสาร์ที่ค้นพบในฝูเจี้ยน
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าร่องรอยไดโนเสาร์กลุ่มนี้อยู่ในอำเภอซั่งหาง ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,600 ตารางเมตร มีขนาดใหญ่และหลากหลายที่สุดเท่าที่เคยค้นพบในจีน และมีอายุราว 80 ล้านปี ย้อนกลับไปถึงยุคครีเทเชียสตอนปลาย
เมื่อวันอังคาร (12 ม.ค.) สิงหลี่ต้า รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรณีศาสตร์แห่งประเทศจีน (CUG) ซึ่งอยู่ในกรุงปักกิ่ง และพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แถลงข่าว ณ นครฝูโจว เมืองเอกของฝูเจี้ยน ว่าร่องรอยดังกล่าวเป็นของไดโนเสาร์อย่างน้อย 8 ชนิด
"ครั้งนี้เราพบรอยเท้าไดโนเสาร์หลายชนิด เช่น ซอโรพอด (sauropod) หรือไดโนเสาร์คอยาวกินพืช ไดโนเสาร์อุ้งเท้าคล้ายนกขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ไดโนเสาร์เทโรพอด (theropod) อุ้งมืออุ้งเท้าสามนิ้วขนาดใหญ่ ไดโนเสาร์ไดโนนีคัส (deinonychus) สองนิ้ว และไดโนเสาร์เทโรพอดขนาดเล็ก"
นักวิทยาศาสตร์เผยว่าผลการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยา ณ พื้นที่สำรวจ บ่งชี้ว่าไดโนเสาร์พวกนี้กินอาหารและน้ำอยู่ตามทะเลสาบ ด้านทางการท้องถิ่นเสริมว่าพื้นที่สำรวจอยู่ภายใต้การคุ้มครองและตรวจตราอย่างเข้มงวด พร้อมวางแผนระยะยาวเพื่อค้นหาและอนุรักษ์ฟอสซิลต่อไป