เกาหลีใต้ส่งจรวด Nuri ขึ้นสู่อวกาศแต่ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรไม่สำเร็จ
วันที่ 21 ตุลาคมที่ผ่านมาสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ (Korea Aerospace Research Institute : KARI) ส่งจรวด Nuri พร้อมแบบจำลองดาวเทียม (Dummy Payload) น้ำหนัก 1.5 ตัน ขึ้นสู่อวกาศที่ระดับความสูงประมาณ 700 กิโลเมตรได้สำเร็จแต่ในระหว่างการแยกตัวของจรวดท่อนที่ 3 เพื่อนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรได้เกิดข้อผิดพลาดขึ้นทำให้ไม่สามารถนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจร การปล่อยจรวดในครั้งนี้มีขึ้นบริเวณศูนย์อวกาศนาโร (Naro Space Center) เขตโกฮึง เกาะทางตอนใต้ของประเทศเกาหลีใต้
จรวด Nuri หรือ KSLV-II (Korean Space Launch Vehicle-II) ถูกพัฒนาต่อยอดจากจรวด Naro-1 หรือ KSLV-1 โดยสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ภายใต้ความช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีจากรัสเซีย จรวดรุ่นนี้แบ่งการทำงานออกเป็น 3 ขั้นตอน จรวดท่อนแรกใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 จรวดท่อนที่สองใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-075 Vacuum จรวดท่อนที่สามใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-007 Vacuum เครื่องยนต์จรวดใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงเหลวเคโรซีนและออกซิเจนเหลว จรวดมีความสูง 47.2 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เมตร
การทดสอบจรวดครั้งต่อไปของสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ (KARI) คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2022 ขนส่งดาวเทียมน้ำหนัก 1.3 ตัน ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งอาจมีการอัพเกรดใช้เครื่องยนต์จรวด KRE-087 ที่มีประสิทธิภาพและทรงพลังมากกว่าเครื่องยนต์จรวด KRE-075 เทคโนโลยีเครื่องยนต์จรวดพัฒนาในประเทศเกาหลีใต้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการส่งเทคโนโลยีอวกาศอื่น ๆ ของประเทศเกาหลีใต้ขึ้นสู่อวกาศในอนาคต
ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้ได้พยายามส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศมาแล้ว 3 ครั้ง โดยใช้จรวด Naro-1 จรวดแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ขั้นตอน จรวดท่อนแรกพัฒนาโดย GKNPTs Khrunichev ประเทศรัสเซีย จรวดท่อนที่สองพัฒนาโดยสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ (KARI) การส่งจรวด Naro-1 ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2009 และการส่งจรวดครั้งที่ 2 ในปี 2010 แต่การส่งจรวดทั้ง 2 ครั้งไม่ประสบความสำเร็จจรวดขาดการติดต่อกับศูนย์ควบคุมหลังจากการปล่อย 137 วินาที การส่งจรวด Naro-1 ประสบความสำเร็จในการส่งจรวดครั้งที่ 3 ในปี 2013
อย่างไรก็ตามนับเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของวงการอวกาศเกาหลีใต้ที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศอย่างก้าวกระโดดและทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศในลำดับที่ 7 ที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศของตัวเอง นอกจากการพัฒนาจรวดขนส่งอวกาศสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีใต้ (KARI) ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีดาวเทียมและยานอวกาศ เช่น โครงการส่งหุ่นยนต์สำรวจไปดวงจันทร์ Korea Pathfinder Lunar Orbiter ในปี 2022 โครงการอากาศยานไร้คนขับพลังงานแสงอาทิตย์ (UAV) โครงการอากาศยานบินขึ้นลงในแนวดิ่งพลังงานไฟฟ้า (eVTOL)
ข้อมูลจาก bbc.com, nytimes.com nasaspaceflight.com
ภาพจาก Korea Aerospace Research Institute