รีเซต

เตือน 7 จังหวัด รับมือภัยแล้ง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ก.ค.- ส.ค.นี้

เตือน 7 จังหวัด รับมือภัยแล้ง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ก.ค.- ส.ค.นี้
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2566 ( 16:03 )
96
1
เตือน 7 จังหวัด รับมือภัยแล้ง เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ก.ค.- ส.ค.นี้

นับตั้งแต่เข้าสู่ฤดูฝนเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปริมาณฝนยังน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติมากถึง ร้อยละ 28 ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเข้าสู่สภาวะเอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประสบปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำทำการเกษตร



นายบุญสม ชลพิทักษ์วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยกับ TNN online ว่าได้มีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและขาดแคลนน้ำร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) และการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) พบว่า มี 7 จังหวัด 27 อำเภอ 47 ตำบล เสี่ยงประสบภัยแล้ง และขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ในช่วงเดือนกรกฏาคม ถึง เดือนสิงหาคมนี้ ได้แก่

1.จังหวัดสุโขทัย 5 อำเภอ7 ตำบล (อ.ศรีสัชนาลัย อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.เมืองสุโขทัย อ.บ้านด่านลานหอย อ.สวรรคโลก )

2.จังหวัดนครราชสีมา 10 อำเภอ 19 ตำบล (อ.พิมาย อ.ขามสะแกแสง อ.คง อ.โนนไทย อ.โนนสูง อ.ประทาย อ.ห้วยแถลง อ.ชุมพวง อ.วังน้ำเขียว อ.เมืองยาง)

3.จังหวัดลพบุรี 4 อำเภอ 5 ตำบล ( อ.ท่าวุ้ง อ.บ้านหมี่ อ.นิคมพัฒนา อ.โคกสำโรง )

4.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3 อำเภอ 7 ตำบล ( อ.บางสะพาน อ.กุยบุรี อ.หัวหิน )

5.จังหวัดชลบุรี 2 อำเภอ 2 ตำบล ( อ.บ้านบึง อ.เมืองชลบุรี )

6.จังหวัดระยอง( อ.แกลง )

7.จังหวัดกระบี่ 2 อำเภอ 6 ตำบล (อ.เมืองกระบี่ อ.เหนือคลอง )



ข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งและขาดแคลนน้ำดังกล่าว  สทนช.ได้ประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาเป็นการล่วงหน้าแล้ว เช่นให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรขึ้นทำฝนหลวงในพื้นที่เป้าหมายเมื่อสภาพอากาศพร้อมโดยมีหน่วยปฏิบัติการ 13 หน่วย ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยง 7 จังหวัด พร้อมมอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทานติดตามสถานการณ์ เตรียมแหล่งน้ำสำรองหรือเครื่องจักรเครื่องมือเช่นเครื่องสูบน้ำ ไว้คอยให้ความช่วยเหลือหากพื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหา


 

นอกจากนี้ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) ได้เปิดเผยในรายการTNNข่าวเที่ยงโดยยอมรับว่า สถานการณ์ปีนี้จะยังไม่หนักมากเนื่องจากยังมีน้ำต้นทุนจากปีที่ผ่านมา แต่ที่น่ากังวลคือปีหน้า 2567 อาจต้องเผชิญภัยแล้งหนักเนื่องจากปีนี้ปริมาณฝนตกน้อย ทำให้เกษตรกรดึงน้ำต้นทุนจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำไปใช้ในการเกษตร ทำให้น้ำต้นทุนเหลือน้อยลงไปอีก จึงได้ขอความร่วมมือกับเกษตรกร ให้งดปลูกข้าวรอบ 2 หรือ ข้าวนาปรังในปีนี้ และให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยทดแทน

อย่างไรก็ตาม ได้ประเมินร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าในช่วง 4 เดือนที่เหลือก่อนจะหมดฤดูฝน จะยังมีฝนตกต่อเนื่องและอาจจะมีพายุ ประมาณ 1-2 ลูก ผ่านประเทศไทย ซึ่งอาจจะช่วยเติมน้ำในเขื่อนหลักและอ่างเก็บน้ำได้บ้าง


เรียบเรียงโดย

มัชรี ศรีหาวงศ์

 



 

ที่มา:สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง