รีเซต

ศึกใหญ่ "ทรัมป์" VS "มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด" เดิมพันด้วยงบพันล้าน

ศึกใหญ่ "ทรัมป์" VS "มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด" เดิมพันด้วยงบพันล้าน
TNN ช่อง16
22 เมษายน 2568 ( 08:00 )
9

ศึก "ทรัมป์  VS ม.ฮาร์วาร์ด" 

เมื่อการเมืองแทรกแซงเงื่อนไขทางปัญญา

 

หนึ่งในความเคลื่อนไหวที่กำลังร้อนแรงในสหรัฐตอนนี้ คือ "ศึก" ระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับมหาวิทยาลัยดัง "ฮาร์วาร์ด" หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ได้ประกาศระงับการเงินให้ช่วยเหลือมหาวิทยาลัยดังกล่าวมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ และขู่จะยกเลิกการยกเว้นภาษีให้กับมหาวิทยาลัย 


ทั้งหมดนี้มาจากเหตุผลสำคัญ คือ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดฝ่าฝืนไม่ยอมทำความคำสั่งของรัฐบาลกลาง ที่ต้องการเข้ามาแทรกแซงนโยบาย เช่น ความหลากหลายทางเพศ การคัดเลือกคนเข้าเรียน รวมไปถึงการควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดการประท้วงหรือชุมนุมสนับสนุนปาเลสไตน์ในมหาวิทยาลัย


ขณะที่กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ ก็ออกมาขู่ว่ามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดจะสูญเสียความสามารถในการรับนักศึกษาต่างชาติ หากไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลในการเปิดข้อมูลเกี่ยวกับวีซ่าของนักศึกษาต่างชาติบางส่วน


อย่างไรก็ตามจนถึงขณะนี้ ม.ฮาร์วาร์ด  เลือกที่จะสู้หลังชนฝา ฟ้องกลับประธานาธิบดีทรัมป์ และขอศาลคุ้มครองชั่วคราว เพื่อป้องกันการถูกรัฐบาลตัดเงินทุน

โดย ดร.อลัน การ์เบอร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  มองว่า รัฐบาลกลาง โดยประธานาธิบดีทรัมป์ กำลังใช้อำนาจในการบีบสถาบันการศึกษา เข้ามาแทรกแซง หรือสร้างเงื่อนไขทางปัญญา ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายการพัฒนาประเทศชาติและความยั่งยืน 


รายงานข่าวจาก CNN ระบุว่า ก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยได้รับจดหมายจากหน่วยงานเฉพาะกิจของรัฐบาลกลาง ที่กำหนดนโยบายให้มหาวิทยาลัยทำเพิ่มเติมเพื่อรักษาเงินอุดหนุนเอาไว้  แต่ ดร.อลัน การ์เบอร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ปฎิเสธ และจะไม่ยอมรับข้อตกลงที่รัฐบาลเสนอมา โดยระบุในแถลงการณ์ว่า “มหาวิทยาลัยจะไม่ยอมสละอิสรภาพหรือสิทธิตามรัฐธรรมนูญ”

รายงานข่าวระบุว่าคำสั่งในจดหมายของฝ่ายบริหารของรัฐบาลทรัมป์  ได้แก่ การยกเลิกโปรแกรมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ห้ามสวมหน้ากากขณะประท้วงในมหาวิทยาลัย  ปฏิรูปการจ้างงานและการรับเข้าเรียนโดยพิจารณาจากผลงาน และการลดอำนาจของคณาจารย์และผู้บริหารที่ “มุ่งมั่นกับกิจกรรมรณรงค์มากกว่าวิชาการ”


ทางมหาวิทยาลัยชี้ว่าข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ แสดงให้เห็นถึงการควบคุมโดยตรงของรัฐบาลต่อ 'เงื่อนไขทางปัญญา' ที่ฮาร์วาร์ด และชี้ว่ารัฐบาลไม่ควรมีอำนาจสั่งการใดๆ ไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะมีอำนาจสั่งการว่า มหาวิทยาลัยเอกชนสามารถสอนอะไรได้ สามารถรับและจ้างใครได้  และสามารถศึกษาต่อหรือค้นคว้าด้านใดได้ 


ขณะโฆษกทำเนียบขาว กล่าวในแถลงการณ์ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์กำลังทำงานเพื่อให้การศึกษาระดับสูงมีความยิ่งใหญ่ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการยุติการต่อต้านชาวยิวที่ไร้การควบคุม และให้แน่ใจว่าเงินภาษีของประชาชนของรัฐบาลกลางจะไม่ถูกนำไปใช้สนับสนุนมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในประเด็นการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติที่อันตรายหรือความรุนแรงที่เกิดจากแรงจูงใจทางเชื้อชาติ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหรือสถาบันใดๆ ก็ตามที่ต้องการละเมิดกฎหมาย จะไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลกลางตามกฎหมาย


ทั้งนี้รายงานทางการเงินจากมหาวิทยาลัยระบุว่าในปีที่แล้ว 2024 ทุนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดมีมูลค่า 53.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ฮาร์วาร์ดไม่ใช่เหยื่อแค่รายเดียว รัฐบาลทรัมป์ขู่จะตัดเงินทุนไปยังวิทยาลัยหลายแห่งทั่วสหรัฐฯ  หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายของโรงเรียน 

มองย้อนกลับไปนับตั้งแต่ประธานาธิบดีทรัมป์ รับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ทรัมป์ก็ได้พยายามเข้ามาแทรกแซง ปฏิรูปมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วประเทศ ด้วยการข่มขู่ว่าจะระงับงบอุดหนุนจากส่วนกลาง ซึ่งงบเหล่านี้มหาวิทยาลัยต่างๆจำเป็นใช้ในการค้นคว้าวิจัย โดยกล่าวหามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศว่า มีความล้มเหลวในการปกป้องนักศึกษาชาวยิว


แต่ "ฮาร์วาร์ด" เป็นมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ แห่งแรกที่ปฏิเสธข้อเรียกร้องของรัฐบาลทรัมป์ โดยกล่าวหาว่า  รัฐบาลกำลังพยายามควบคุมชุมชนของพวกเขา  ส่งผลให้ทรัมป์ประกาศระงับงบประมาณมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า  6 หมื่น 7 พันล้านบาท ตามด้วยคำขู่ยกเลิกสถานะงดเว้นภาษีล่าสุดนั้นเอง 


ประเด็น "เรื่องภาษี" มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมถึงองค์กรการกุศลและกลุ่มศาสนาต่างๆ ในสหรัฐฯนั้น ได้รับการงดเว้นจากการเสียภาษีเงินได้ของรัฐบาลกลาง และถ้าหากฮาร์วาร์ดต้องเสียสถานะงดเว้นภาษีไปจริงๆ ก็อาจทำให้ฮาร์วาร์ดต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นปีละหลายล้านดอลลาร์สหรัฐฯ


โดยทรัมป์ ได้ออกมาขู่ถึงเรื่องนี้ ด้วยการเขียนข้อความลงบน Truth Social ว่า บางทีฮาร์วาร์ดควรเสียสถานะงดเว้นภาษีและถูกเก็บภาษีในฐานะองค์กรทางการเมือง หากพวกเขายังคงผลักดันอาการป่วยทางการเมือง, อุดมคติ และได้รับแรงบันดาลใจหรือสนับสนุนผู้ก่อการร้ายนี้พร้อมย้ำว่าให้จำไว้ว่า สถานะงดเว้นภาษีนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพื่อประโยชน์สาธารณะ


ขณะที่รายงานของ CNN ชี้ว่าการตัดการอุดหนุนทางการเงินไปยังมหาวิทยาลัยชั้นนำจะสร้างผลกระทบมากกว่าที่คาดคิดโดยเฉพาะการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว การพัฒนาในอุตสาหกรรมต่างๆ เพราะการค้นคว้าวิจัยจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นตัวเร่งการเติบโตในเศรษฐกิจระดับภูมิภาคที่มีผลผลิตสูงที่สุดของประเทศ


เพราะสถาบันการศึกษาชั้นนำเหล่านี้ ช่วยสร้างความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และสร้างคนที่มีทักษะมากมายที่หลั่งไหลเข้าสู่บริษัทต่างๆ  ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีล้ำสมัยในทุกๆด้าน ตั้งแต่ การสื่อสาร  ปัญญาประดิษฐ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ ยา และอุตสาหกรรมขั้นสูงอื่นๆด้วย 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง