รีเซต

KTAM ครึ่งหลังหุ้นผันผวน กลยุทธ์เน้นคัดธีมคุณภาพ

KTAM ครึ่งหลังหุ้นผันผวน กลยุทธ์เน้นคัดธีมคุณภาพ
ทันหุ้น
21 สิงหาคม 2566 ( 00:47 )
81
KTAM ครึ่งหลังหุ้นผันผวน กลยุทธ์เน้นคัดธีมคุณภาพ

มองลงทุนต่างประเทศ ครึ่งปีหลังยังคงผันผวนสูง จากปัจจัยเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย และภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไรก็ตามผลตอบแทนลงทุนในบางประเทศ บางกลุ่มกลับดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI เป็นต้น พร้อมแนะพอร์ต หากรับเสี่ยงได้สูง ลงทุน 70% ตราสารหนี้ 30% แต่ถ้าเสี่ยงต่ำก็กลับกัน ในกลยุทธ์คัดชี้ดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้พีค

 

นางชวินดา หาญรัตนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTAM

กล่าวถึง ภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนทั่วโลกจากนี้ถึงสิ้นปีว่า ภาพรวมตลาดการลงทุนของโลกมีปัจจัยที่สนับสนุน ได้แก่ การที่อัตราเงินเฟ้อน่าจะผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่การลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นไปอย่างเชื่องช้าซึ่งส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยจะคงอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่ง แต่ก็จะไม่ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แต่จะเป็นการเติบโตอย่างช้าๆ (Soft Landing) ก่อนที่ธนาคารกลางจะทำการลดอัตราดอกเบี้ยในประมาณกลางปีหน้า

 

*ยังมีปัจจัยกดดัน

อย่างไรก็ดี ยังคงมีปัจจัยที่ยังมีความเสี่ยงอย่างต่อเนื่องคือความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งจะนำไปสู่การใช้กำแพงภาษี การย้ายฐานการผลิตเพื่อลดปัญหาอุปทานขาดแคลนจากการกีดกันทางการค้า สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

สำหรับเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่คาดว่าอัตราการเติบโตยังน่าจะอยู่ในระดับต่ำ (Slow Growth) จากปัญหาหนี้ที่สูงขึ้นในแทบทุกประเทศ ภาวะเงินเฟ้อสูงที่เคยกดดันการใช้จ่ายน่าจะค่อยๆ คลี่คลายลงในหลายประเทศ แต่โดยรวมแล้วเงินเฟ้อยังน่าจะสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางต่างๆ อยู่ ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่เร่งตัวก่อนหน้านี้จะสิ้นสุดวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น

 

*คงดอกเบี้ยสูงต่อ

แต่การปรับดอกเบี้ยลงยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ธนาคารกลางต่างๆ ยังน่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย จึงอาจต้องติดตามผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากการตรึงดอกเบี้ยในระดับสูงว่าจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในภาคส่วนใดบ้าง ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง แต่ไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่รุนแรง (Severe Recession)

 

อีกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังจะเห็นความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆ ต่อเนื่อง ทำให้ศักยภาพในการเติบโตระยะยาวด้อยลง แม้ว่าในระยะนี้อาจเป็นตัวเร่งให้มีการลงทุนขยายการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าแต่ก็เป็นผลดีเพียงแค่ระยะสั้นเท่านั้น

 

นางชวินดา  กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นต่างประเทศปีนี้ให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดี จากทั้งเศรษฐกิจที่ไม่ได้เกิดภาวะถดถอยดังที่นักวิเคราะห์กังวลก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจมีความทนทานต่อดอกเบี้ยสูงได้ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาด นักวิเคราะห์มีการทยอยปรับประมาณการกำไรของบริษัทเพิ่มขึ้น รวมถึงเงินเฟ้อที่สูงก็ส่งผลดีต่อตัวเลขรายได้และกำไรของบริษัทจดทะเบียน กระแสการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) ก็ส่งผลดีต่อกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมากด้วยเช่นกัน

 

*กลยุทธ์คัดและเลือก

ทั้งนี้บลจ.กรุงไทย ได้ประเมินภาพการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้นแต่ตลาดหุ้นยังคงมีความผันผวนสูง ดังนั้น การเลือกลงทุน (Selection) จึงมีความสำคัญมากขึ้น โดยจะเป็นลักษณะเลือกเป็นประเทศไป ด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นในแต่ละประเทศไม่ได้ เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันทั้งโลก จากการที่ประเทศที่พัฒนาแล้วมีอัตราเงินเฟ้อในระดับสูงกว่าในประเทศเกิดใหม่หลายประเทศซึ่งมีอัตราเงินเฟ้อต่ำ และสามารถดำเนินนโยบายดอกเบี้ยต่ำได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อตลาดหุ้นในครึ่งหลังของปี 

 

โดยหลังจากที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาพอสมควร ทำให้บางตลาดเริ่มมี Valuation ที่แพง นักลงทุนจึงอาจต้องเน้นในกลุ่มประเทศ อุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเติบโตที่มีคุณภาพในระยะยาว รวมถึงการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดีและมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น

 

*แนะพอร์ตครึ่งปีหลัง

ดังนั้น นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาได้ ก็ควรให้ความสนใจที่จะเลือกลงทุนในหุ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าตราสารหนี้ เนื่องจากตลาดตราสารหนี้นั้น อัตราดอกเบี้ยอาจจะใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้วและน่าจะมีทิศทางอ่อนตัวลง ซึ่งอาจเหมาะกับการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนสูงไม่ได้ อาทิเช่น นักลงทุนที่สามารถรับความผันผวนได้มากควรลงทุนในหุ้นประมาณ 70%และลงทุนในตราสารหนี้เพียง 30% ในทางกลับกัน สำหรับนักลงทุนที่รับความผันผวนได้ต่ำก็ควรลงทุนในหุ้น 30%และลงทุนในตราสารหนี้ถึง 70% เป็นต้น

 

นางชวินดา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการนำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุนนั้น บริษัทได้พยายามเฟ้นหาโอกาสการลงทุนจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุน และเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทมีแผนจะนำเสนอกองทุนประเภท Structure Product มากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่เน้นความปลอดภัยของเงินลงทุน และอ้างอิงกับผลตอบกับกับดัชนีต่างๆ ตามสภาวะตลาด เพื่อเปิดรับโอกาสที่จะสามารถหาผลตอบแทนได้ทั้งจากในช่วงที่ตลาดปรับขึ้นและปรับลงได้

 

รวมถึงจะทยอยเปิดกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นทางเลือกที่หลายหลายให้นักลงทุนยิ่งขึ้น โดยจะเน้นรายประเทศ หรือกลุ่มประเทศที่น่าสนใจ และมีโอกาสสร้างการเติบโตในระยะยาว อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงยึดหลักการบริหารจัดการอย่างรอบคอบระมัดระวัง ภายใต้กระบวนการการกำกับดูแลที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ของนักลงทุนเป็นสำคัญอยู่เสมอ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง