AI ติดตามแพลงก์ตอน เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของทะเลต่อโลกร้อน
ทีมสถาบันวิจัยในสหราชอาณาจักร เปิดตัวโครงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โครงการนี้นำโดยทีมวิจัยจากศูนย์สมุทรศาสตร์แห่งชาติของสหราชอาณาจักร สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งสกอตแลนด์ และสมาคมชีววิทยาทางทะเล เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความร้อนที่ส่งผลต่อสภาพอากาศ และผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศในท้องทะเล
โดยหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญ คือการใช้เครื่องติดตามกลุ่ม แพลงก์ตอน (Plankton) ซึ่งหมายสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กในมหาสมุทร เช่น พืชเซลล์เดียว สาหร่าย แบคทีเรีย รวมทั้งจุลินทรีย์ต่าง ๆ โดยเทคโนโลยีใหม่นี้จะใช้ AI เข้ามาช่วยสร้างภาพ และระบุชนิดของแพลงก์ตอนได้แบบเรียลไทม์
ซึ่งการระบุชนิดของแพลงก์ตอนได้แบบเรียลไทม์นี้ จะเอื้อประโยชน์ให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถวัดความสมบูรณ์ของมหาสมุทรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ในโครงการเดียวกัน ยังมีแผนที่จะใช้ทุ่นลอยน้ำที่พัฒนาใหม่ ให้สามารถวัดอุณหภูมิ ระดับคาร์บอน และออกซิเจนในมหาสมุทร ณ จุดต่าง ๆ และที่ระดับความลึก ณ จุดที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถวัดได้
ทีมนักวิทยาศาสตร์หวังว่าข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้ จะเอื้อต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มความเข้าใจเกี่ยวกับมหาสมุทร แก่สาธารณชนและรัฐบาล
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ภาวะโลกร้อนได้ส่งผลต่อสภาพอากาศที่รุนแรงทั่วโลก รวมถึงคลื่นความร้อน ความแห้งแล้ง และไฟป่า ดังนั้นสำหรับนักวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ พวกเขามองว่าการทำความเข้าใจมหาสมุทร อาจเป็นกุญแจสำคัญ ในการหาสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เราสามารถป้องกันหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น
ข้อมูลจาก apvideohub