รีเซต

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 2 เทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงเพื่อบอลโลกในดินแดนทะเลทราย

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 2 เทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงเพื่อบอลโลกในดินแดนทะเลทราย
Tech By True Digital
23 พฤศจิกายน 2565 ( 08:00 )
239
ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 2 เทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงเพื่อบอลโลกในดินแดนทะเลทราย

Tech By True Digital ยังคงเกาะติดการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ FIFA World Cup Qatar 2022™ กับซีรีส์ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022 ที่จะพาไปดูเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ในตอนที่แล้วได้พาไปดู นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเกมการแข่งขันฟุตบอล จนกาตาร์ 2022 ได้ชื่อว่าเป็น A World Cup of Innovation กันไปแล้ว สำหรับครั้งนี้มาดูกันว่าเทคโนโลยีที่ถือเป็นไฮไลต์ของการจัดแข่งขันฟุตบอลให้เกิดขึ้นได้ท่ามกลางภูมิประเทศแบบทะเลทรายและมีอุณหภูมิสูงถึง 50 องศาเซลเซียส นั้นทำได้อย่างไร 

 

นับตั้งแต่กาตาร์ได้รับการประกาศให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกนั้น ทั่วโลกต่างจับตามองการจัดการของกาตาร์ที่เป็นประเทศทะเลทรายว่าจะมีการรับมืออย่างไรให้การแข่งขันฟุตบอลโลกสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น ซึ่งหากจัดการแข่งขันตามตารางปกติของฟุตบอลโลกในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคม จะเป็นช่วงหน้าร้อนของกาตาร์ที่มีอุณหภูมิสูงที่สุด โดยอุณหภูมิในช่วงเวลานั้นอาจสูงถึง 40-50 องศาเซลเซียส ซึ่งเพื่อให้การจัดการแข่งขันสามารถดำเนินไปได้ กาตาร์จึงเลื่อนตารางการแข่งขันมาอยู่ในช่วงฤดูหนาวที่เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมที่อุณหภูมิลดลงอยู่ราว 20-30 องศาเซลเซียส 

 

อุณหภูมิภายในสนามเมื่อใช้เทคโนโลยี Advanced Stadium Cooling Tech

ที่มา: https://www.archdaily.com/



อย่างไรก็ตามแม้อากาศจะเย็นลงกว่าปกติ แต่สภาพภูมิอากาศที่เกิดจากภูมิประเทศโดยรวมของกาตาร์ที่มีอากาศร้อนชื้น ประกอบกับมีกระแสลมอุ่นพัดเข้ามายังผืนดินจากทะเลโดยรอบประเทศ การระบายความชื้นจึงเป็นโจทย์สำคัญของสนามฟุตบอลที่ในวันแข่งขันอาจมีผู้เข้าชมมากขึ้น 40,000-60,000 คนในสนาม ซึ่งถือเป็นแหล่งผลิตพลังงานความร้อนอย่างดี ยังไม่รวมถึงนักฟุตบอลที่ต้องแข่งขันกันในสภาพภูมิอากาศที่ความชื้นเป็นเรื่องท้าทาย 

 

Al Janoub Stadium ออกแบบโดยมีสถาปัตยกรรมเอื้อต่อการไหลเวียนของลมและระบายความร้อน

ที่มา: https://www.qatar2022.qa/en/tournament/stadiums/al-janoub-stadium

 

ดังนั้นนอกเหนือจากการออกแบบโครงสร้างด้านสถาปัตยกรรมของสนามฟุตบอลให้เหมาะสม ทั้งหลังคาลาดเอียงเพื่อเพิ่มร่มเงาในสนามฟุตบอลและเพื่อให้ลมไหลเวียน ระบายความร้อนได้ หรือการเลือกสีโทนอ่อนเพื่อช่วยสะท้อนแสงและความร้อนจากดวงอาทิตย์แล้ว กาตาร์ยังยืนยันที่จะนำเทคโนโลยีการปรับอากาศขั้นสูงมาใช้ในสนามฟุตบอลทั้ง 7 ใน 8 แห่ง ซึ่งเรียกว่า Advanced Stadium Cooling Tech พัฒนาโดย Dr. Saud Ghani ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศของกาตาร์ 

 

Dr. Saud Ghani หรือ Dr. Cool ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับอากาศของกาตาร์ 

ที่มา: https://www.thenationalnews.com/fifa-world-cup-2022/

 

Advanced Stadium Cooling Tech เกิดจากการผสมผสานเทคโนโลยีเพื่อกระจายความเย็นและรักษาบรรยากาศภายในสนามฟุตบอลให้เย็นลง ให้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทั้งผู้เล่นและผู้เข้าชม เริ่มจาก

 

1. ช่องปล่อยลมเย็นที่อยู่ใต้ที่นั่งผู้ชม ความสูงระดับข้อเท้าของแฟนบอลบนอัฒจันทร์ มีลักษณะคล้ายหัวฉีดฝักบัวขนาดเล็ก ทำงานโดยปล่อยลมเย็นแบบสายลมอ่อน ให้อากาศไหลเวียนรอบตัวผู้ชม

 

ช่องปล่อยลมเย็นที่อยู่ใต้ที่นั่งผู้ชม

ที่มา: https://www.archdaily.com/

 

2. ท่อเป่าลมเย็นเข้าสู่สนามฟุตบอล ขนาดเท่าลูกฟุตบอลซึ่งกระจายอยู่รอบสนามที่จะพ่นลมเย็นลงไปในสนามในองศาและตำแหน่งที่เป็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศในสนามฟุตบอลให้มีอุณหภูมิประมาณ 18-24 องศาเซลเซียส 

 

ท่อเป่าลมเย็นเข้าสู่สนามฟุตบอล

ที่มา: https://www.archdaily.com/

3. พัดลมดูดอากาศ ที่ตั้งอยู่ระหว่างชั้นต่าง ๆ ในสนามฟุตบอล มีหน้าที่ดูดอากาศที่คลายความเย็นลงหลังจากถูกพ่นออกมาจากท่อเป่าลมเย็นในข้างต้น โดยดูดออกไปนอกสนามเพื่อไปผ่านระบบกรองอากาศหรือระบบรีไซเคิลอากาศที่ทำให้อากาศเย็นลงอีกครั้ง แล้วปล่อยกลับเข้าในสนามผ่านท่อเป่าลม

 

ศูนย์ผลิตพลังงานลมเย็น

ที่มา: https://www.thenationalnews.com/fifa-world-cup-2022/



4. ศูนย์ผลิตพลังงานลมเย็น คือระบบที่นำลมร้อนไปทำให้เย็นตัวลงด้วยการผ่านท่อที่มีนำเย็นในเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนที่ตั้งอยู่ในทุกจุดของสนาม เมื่อน้ำเย็นดูดซับความร้อนแล้วก็จะถูกพักไว้ที่ถังเก็บน้ำขนาด 4,000 ลิตรที่ห่างจากสนามประมาณ 3 กม. แล้วถูกทำให้เย็นลงอีกครั้ง เพื่อใช้สำหรับการทำความเย็นให้การแข่งขันในนัดต่อไป  

 

ศูนย์ผลิตพลังงานลมเย็น

ที่มา: https://www.thenationalnews.com/fifa-world-cup-2022/



โดยระบบ Advanced Stadium Cooling Tech ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอลใช้พลังงานไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกในครั้งนี้ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งระบบ Advanced Stadium Cooling Tech นี้จะไม่ถูกใช้ในสนามกีฬา Ras Abu Aboud หรือ Stadium 974 ที่ใช้การระบายอากาศตามธรรมชาติ ด้วยทำเลที่ตั้งของสนามที่ใกล้ชายฝั่งทะเล 

 

ใน EP. ถัดไป Tech By True Digital ยังอยู่ที่กาตาร์ โดยจะพาไปดูกันว่า คำมั่นสัญญาของเจ้าภาพอย่างกาตาร์ที่จะทำให้การแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2022 เป็นทัวร์นาเมนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้ได้นั้น กาตาร์ใช้เทคโนโลยีและระบบการจัดการแข่งขันที่คำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ในแบบฉบับของกาตาร์อย่างไร ในตอน ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 3 บอลโลกแบบรักษ์โลกฉบับกาตาร์


อ่าน EP.1 ของซีรีส์ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 1 A World Cup of Innovation ได้ที่นี่

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง