รีเซต

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 1 A World Cup of Innovation

ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 1 A World Cup of Innovation
Tech By True Digital
16 พฤศจิกายน 2565 ( 08:00 )
167

หลังจากกาตาร์เปิดตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกไปเมื่อปี 2010 ในที่สุดการแข่งขันฟุตบอลโลกหรือ FIFA World Cup Qatar 2022™ ก็กำลังจะเริ่มต้นขึ้นระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน 2022 ถึง 18 ธันวาคม 2022 นี้แล้ว ให้สมกับเป็น 12 ปีแห่งการรอคอยและการเตรียมตัวมาอย่างยาวนานของเจ้าภาพ ที่ทั่วโลกต่างจับตามองการจัดการแข่งขันรวมถึงการนำเทคโนโลยีที่หลากหลายเข้ามาช่วยให้เกมการแข่งขันเกิดขึ้นได้ท่ามกลางภูมิประเทศแบบทะเลทราย จนเรียกได้ว่าเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ปฏิวัติเทคโนโลยีเพื่อการแข่งขันเลยทีเดียว 

 

Tech By True Digital พาไปส่องเทคโนโลยีสุดล้ำที่หากเราได้รับชมเกมการแข่งขันแล้วจะเห็นได้เลยว่า เทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้เป็นครั้งแรกในฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 นั้น ถูกคิดค้นขึ้นมาทั้งเพื่อเกมการแข่งขันฟุตบอลโดยเฉพาะ ทั้งเพื่อประสบการณ์การรับชมที่ดีที่สุดของผู้ชมทั้งในและนอกสนาม รวมถึงเทคโนโลยีและระบบการจัดการแข่งขันที่คำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับโลกใบนี้ในแบบฉบับของกาตาร์ โดยเริ่มกันที่ EP. แรก ที่จะพาไปดูว่า นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อเกมการแข่งขันฟุตบอลจนกาตาร์ 2022 ได้ชื่อว่าเป็น A World Cup of Innovation นั้นมีอะไรบ้าง   

 

Official Emblem ของ FIFA World Cup Qatar 2022™ 

ที่มา: https://www.fifa.com/

 

Semi-Automated Offside Technology ระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ

การตัดสินลูกล้ำหน้า (Offside) เป็นประเด็นละเอียดอ่อนและมักเป็นข้อกังขาเสมอในการแข่งขันฟุตบอล โดยฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 ครั้งนี้ FIFA ร่วมกับ Adidas ได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการตัดสิน ซึ่งยกระดับจากระบบ Video Assistant Referee หรือ VAR ซึ่งเคยใช้ในการช่วยตัดสินล้ำหน้ามาตั้งแต่ปี 2018 เป็นเทคโนโลยีล่าสุดในชื่อ Semi-Automated Offside Technology หรือ SAOT 

 

VIDEO ASSISTANT REFEREE (VAR) เทคโนโลยีช่วยในการตัดสินล้ำหน้าที่จะใช้คู่กันกับ SAOT

ที่มา: https://www.fifa.com/

 

SAOT หรือระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติจะไม่ใช่การตัดสินแบบอัตโนมัติแต่เป็นตัวช่วยให้ผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินทั้งในสนามและในห้องปฏิบัติการ VAR ตัดสินลูกล้ำหน้าด้วยข้อมูลที่แสดงตำแหน่งการล้ำหน้าของผู้เล่นในจังหวะที่มีการทำล้ำหน้าได้อย่างชัดเจน รวดเร็ว และแม่นยำ 

 

ระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัตินี้ประกอบด้วย

  • กล้อง 12 ตัวที่ติดตั้งอยู่ใต้หลังคาของสนามกีฬาเพื่อติดตามลูกบอลและจุดเคลื่อนไหวของนักเตะ
  • โดยกล้องจะจับตำแหน่งและข้อมูลของผู้เล่นแต่ละคนที่เป็นจุดเคลื่อนไหว 29 จุดบนร่างกาย เช่น แขน ขา หรืออวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทำล้ำหน้า ซึ่งกล้องจะเก็บภาพเคลื่อนไหว 50 ครั้งต่อวินาที โดยทำงานไปพร้อมกับการคำนวณตำแหน่งผู้เล่นในสนามไปด้วย
  • องค์ประกอบสำคัญอีกข้อหนึ่งของ SAOT คือนวัตกรรม ลูกฟุตบอล Al Rihla ลูกฟุตบอลที่จะถูกใช้อย่างเป็นทางการในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ที่ใช้ระบบ Suspension System มีการฝังเซ็นเซอร์ชิป Inertial Measurement Unit (IMU) อยู่ภายในแกนกลางลูกบอล เพื่อส่งข้อมูลความเป็นไปได้ของการล้ำหน้าไปยังห้องปฏิบัติการ VAR 500 ครั้งต่อวินาที ทำให้สามารถตรวจจับจุดเตะลำหน้าได้อย่างแม่นยำ
  • ข้อมูลทั้งหมดทั้งจากกล้องและลูกฟุตบอลจะถูกนำไปประมวลผลโดย AI แล้วแจ้งเตือนไปยังห้องปฏิบัติการ VAR ทันทีทีผู้เล่นตัวรุกอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าในขณะนั้น 
  • โดยก่อนที่จะแจ้งไปยังผู้ตัดสินในสนาม ผู้ช่วยผู้ตัดสินวิดีโอในห้องปฏิบัติการ VAR จะทำการตรวจสอบด้วยตัวเองก่อน ด้วยการเลือกช็อตที่บอลถูกปล่อยออกจากเท้า (Kick Point) จากนั้นระบบจะสร้างเส้นการล้ำหน้าออกมาเป็นภาพโดยอัตโนมัติซึ่งคำนวณจากแขนหรือขาหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของผู้เล่นที่ยื่นออกมา 
  • หลังจากการตัดสินได้รับการยืนยันจากผู้ตัดสินในสนามแล้ว ชุดข้อมูลล้ำหน้าในแต่ละครั้งจะถูกแสดงเป็นภาพเคลื่อนไหว 3 มิติ ที่ให้รายละเอียดตำแหน่งแขน ขา ของผู้เล่นและสถานการณ์ในขณะล้ำหน้า แล้วปรากฏบนจอในสนามฟุตบอล รวมทั้งส่งไปยังการถ่ายทอดสดเพื่อให้ผู้ชมทั้งในและนอกสนามได้รับทราบการตัดสินล้ำหน้าอย่างชัดเจนและโปร่งใส 
  • กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่วินาที ซึ่งทำให้การตัดสินใจลูกล้ำหน้านั้นทำได้รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น

 

รูป Semi-automated offside technology ระบบจับล้ำหน้ากึ่งอัตโนมัติ

ที่มา: https://www.fifa.com/

 

Al Rihla ลูกฟุตบอลที่รักษาความเร็วขณะเดินทางบนอากาศและรักษ์โลกที่สุดที่เคยมีมา

 

ลูกฟุตบอล Al Rihla 

ที่มา: https://www.fifa.com/



ลูกฟุตบอล Al Rihla ผลิตโดย Adidas จะถูกใช้อย่างเป็นทางการในการแข่งขันฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 นี้  Al Rihla ถือเป็นนวัตกรรมล่าสุดของประวัติศาสตร์ลูกฟุตบอลที่ถูกใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลก เพราะถูกคิดค้นมาจากโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ลูกฟุตบอลมีความเร็ว แม่นยำ และเคลื่อนที่บนอากาศได้อย่างมั่นคงมากที่สุด ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ตั้งอยู่บนเกมการแข่งขันในปัจจุบันที่มีความรวดเร็วมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาให้ตรงกับโจทย์ของลูกฟุตบอลนี้จึงประกอบด้วย 

 

  • CRT-CORE เทคโนโลยีส่วนแกนกลางของลูกฟุตบอลที่จะช่วยเก็บกักอากาศไว้ในลูกบอลได้อย่างเต็มที่ ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีแกนกลางที่สมบูรณ์แบบที่เป็นหัวใจสำคัญของลูกฟุตบอลที่ทำให้ลูกบอลมีคุณสมบัติที่ยังคงเคลื่อนที่บนอากาศและรักษาความเร็วไว้ได้อย่างมั่นคงและทำให้การจ่ายบอลทำได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะผ่านการใช้งานนานกว่า 90 นาทีในการแข่งขัน  

 

CRT-CORE เทคโนโลยีส่วนแกนกลางของลูกฟุตบอล Al Rihla 

ที่มา: https://news.adidas.com/

 

  • SPEEDSHELL เทคโนโลยีส่วนพื้นผิวลูกฟุตบอลที่ผลิตจากวัสดุโพลียูรีเทนคุณภาพสูง แตกต่างจากลูกฟุตบอลที่เคยใช้ทั่วไปคือประกอบด้วยแผ่นหนังขนาดเล็กบนชิ้นส่วนรูปแบบใหม่ 20 ชิ้นแทนการใช้หนังแผ่นเดียว ซึ่งการประกอบสร้างลูกฟุตบอลในลักษณะนี้จะช่วยให้เกิดผิวสัมผัสแบบนูนต่ำที่มีความละเอียดระดับไมโคร ที่ช่วยสร้างความแม่นยำ ทำให้เกิดความเสถียรในการเคลื่อนที่ในอากาศ และการโค้งด้วยองศาที่ถูกต้องเมื่อเกิดการเตะแบบโค้ง ทำให้ทั้งผู้เตะและผู้รักษาประตูคำนวณทิศทางการยิงและการรับได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น 

 

Al Rihla ไม่เพียงเป็นนวัตกรรมที่ดีที่สุดของลูกฟุตบอลในเวลานี้ แต่ยังใช้กรรมวิธีการผลิตที่รักษ์โลกที่สุดตั้งแต่มีการผลิตลูกฟุตบอลมาอีกด้วย เพราะถูกออกแบบมาให้ใช้น้ำหมึกและกาวที่ผลิตจากน้ำแทน PVC และขั้นตอนการผลิตไม่มีกระบวนการที่เกิดการสร้างสาร CFC ที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก ทั้งยังสร้างขยะน้อยจากการจากการผลิตหนังส่วนเกินให้น้อยที่สุดอีกด้วย และถือเป็นครั้งแรกที่รายได้ 1% จากการจำหน่ายลูกฟุตบอล Al Rihla จะถูกหักออกไปเพื่อมอบให้กับองค์กรการศุล Common Goal Movement ที่มีเป้าหมายระดมทุนเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้นผ่านกิจกรรมฟุตบอล   




FIFA Player App ให้นักบอลได้ดู performance ของตัวเองผ่านแอปหลังการแข่งขัน

 

รูป FIFA Player App

ที่มา: https://www.fifa.com/

 

แอปพลิเคชันที่ให้ข้อมูลกับนักเตะได้ดูผลงานหรือ Performance ของตัวเองในการเล่นแต่ละครั้งหลังจบการแข่งขัน ซึ่ง FIFA พัฒนาร่วมกับ FIFPRO หรือ สหภาพนักฟุตบอลอาชีพนานาชาติ โดยเป็นแอปที่รวบรวมข้อมูลเชิงลึกของนักเตะแต่ละรายไม่ว่าจะเป็น 

  • ข้อมูลตัวชี้วัดเชิงปริมาณ เช่น สถิติที่ผู้เล่นจ่ายบอลหรือรับบอล จำนวนครั้งในการจ่ายบอลผ่านแนวรับฝ่ายตรงข้าม การผ่านบอลสำเร็จ และการสกัดบอลจากฝ่ายตรงข้ามเพื่อครอบครองบอล เป็นต้น 
  • ข้อมูล Performance ด้านกายภาพของนักเตะ รวบรวมผ่านกล้องและระบบติดตามที่ติดอยู่ในสนาม เช่น สปีดความเร็วของนักเตะ จำนวนครั้งในการทำความเร็วที่เกิน 25 กม./ชม. และความเร็วสูงสุดที่นักเตะแต่ละคนทำได้ในแต่ละแมตช์ เป็นต้น
  • ข้อมูลเชิงลึกเพื่อนำไปปรับปรุงการแข่งขัน เป็นการวิเคราะห์เกมการแข่งขันที่เกิดขึ้น ซึ่งใช้อัลกอริธึมและแบบจำลองการแข่งขันซึ่งรวบรวมข้อมูลของแต่ละแมตช์มาวิเคราะห์เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนการแข่งขันครั้งต่อไป อาทิ ช่วงเวลาการรับ/การรุกในการเล่นที่เกิดขึ้น การจัดระเบียบเกมรับ การจ่ายบอลผ่านแนวรับฝ่ายตรงข้าม โอกาสในการยิง การสัมผัสบอล และการสกัดบอลเพื่อครอบครองบอล เป็นต้น  

 

โดยข้อมูลทั้งหมดจาก FIFA Player App นี้จะเชื่อมต่อกับภาพฟุตเทจการแข่งขันเพื่อให้นักเตะแต่ละคน สามารถรับชมช่วงเวลาสำคัญ ๆ ของผลงานการเล่นของตนเองได้โดยละเอียด ในมุมกล้องที่แตกต่างกันอีกด้วย ซึ่งการเก็บรวบรวมและแสดงข้อมูลทั้งหมดต้องได้รับการยินยอมจากนักเตะเพื่อให้เป็นไปตามกฎบัตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

 

ยังไม่หมดเพียงเท่านี้กับการนำเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกกาตาร์ 2022 ใน EP. ถัดไป Tech By True Digital ยังอยู่ที่กาตาร์ โดยจะพาไปดูกันว่า กาตาร์ใช้เทคโนโลยีอะไรเข้ามาช่วยให้สามารถจัดการแข่งขันฟุตบอลโลกให้เกิดขึ้นได้ในประเทศที่มีภูมิประเทศแบบทะเลทรายและร้อนสูงสุดถึง 50 องศาเซลเซียส ในตอน ส่องเทคสุดล้ำและนวัตกรรมเจ๋ง ๆ ในบอลโลกกาตาร์ 2022: EP. 2 เทคโนโลยีปรับอากาศขั้นสูงเพื่อบอลโลกในดินแดนทะเลทราย

 

----------------------------------------

 

อ้างอิง:

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.

คลิกเลย >>> TrueID Community <<<

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง