อวกาศไทยมุ่งสู่ดวงจันทร์ Artemis Accord ช่วยพลิกเศรษฐกิจไทย?
ประเทศไทยกำลังจะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการอวกาศระดับโลกที่นำมนุษย์กลับไปเหยียบดวงจันทร์ ภายใต้ข้อตกลง Artemis Accords ข้อตกลง Artemis Accords คืออะไร และ ไทยจะได้อะไรจากการเข้าร่วมภารกิจสำรวจอวกาศครั้งนี้
รู้จัก Artemis Accords
ข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) เป็นกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญในการสำรวจอวกาศที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำ โดยเน้นไปที่การสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารเป็นพิเศษ การลงนามครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2020 ภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา และมีตัวแทนจากบราซิล ออสเตรเลีย, แคนาดา, อิตาลี, ญี่ปุ่น, ลักเซมเบิร์ก, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร ซึ่งปัจจุบันมีชาติชั้นนำ รวม 47 ประเทศ ที่เข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว
โดยในส่วนของประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ครม. เห็นชอบการลงนามข้อตกลง Artemis Accords โดยมอบหมายให้ GISTDA เป็นหน่วยงานประสานงานหลักของประเทศไทย ซึ่งการเข้าร่วมArtemis Accords ของไทยถูกคาดหวังว่าจะเป็นโอกาสในการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ บนเวทีโลก
ไทยได้อะไรจากการเป็นส่วนหนึ่งของ Artemis Accords
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA เปิดเผยว่าการเข้าร่วมโครงการ Artemis Accords ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศระดับโลกเท่านั้น แต่เชื่อว่าจะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเปลี่ยนชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจอวกาศ ที่ปัจจุบันมีความตื่นตัวมากขึ้น ทั้งภาครัฐ และ ภาคเอกชน โดยจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี
ขณะที่การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Artemis Accords ผู้อำนวยการ GISTDA คาดว่าน่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 50 บริษัท คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
“เป้าหมายของเราในเร็ววันนี้อาจจะยังไม่ถึงขั้นในการสร้างยานอวกาศของตัวเอง เพื่อไปสำรวจอวกาศ หรือ ดวงจันทร์ แต่การเข้าร่วมกับโครงการอวกาศระดับโลก จะเป็นการสร้างโอกาสให้กับคนไทยในการเข้าไปร่วมทำงาน และ ได้รับทั้งองค์ความรู้ และ ประสบการณ์ด้านอวกาศจากชาติชั้นนำ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ และ เปิดประตูแห่งโอกาสให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ของไทยที่จะช่วยกันพัฒนาโครงการอวกาศของไทยในอนาคต” ดร.ปกรณ์ กล่าว
"ภารกิจสู่ดวงจันทร์" อนาคตอุตสาหกรรมอวกาศไทย
ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากเมื่อ 3 ปีก่อน คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น ดร.ปกรณ์ เปิดเผยว่าในช่วงที่ผ่านมามีนักศึกษา และคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ได้เข้าแจ้งความประสงค์ในการขอหนังสือรับรองจาก GISTDA เพื่อไปศึกษาต่อด้านเทคโนโลยีอวกาศในต่างประเทศ ซึ่งเมื่อประเทศไทยได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) จึงเชื่อว่าจะนำมาซึ่งการสร้างงานด้านเทคโนโลยีอวกาศในประเทศเพิ่มขึ้น โดยคาดหวังว่าอีก 5 ปี ข้างหน้ากลุ่มนักศึกษาที่เดินทางไปศึกษาต่อยังประเทศชั้นนำด้านอวกาศจะกลับมาช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทยให้พุ่งทะยานไปมากขึ้น
สำหรับการเข้าร่วมข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) ไม่ใช่การเข้าร่วมภารกิจสู่ดวงจันทร์ครั้งแรกของไทย โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2024 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เข้าร่วมโครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ หรือ International Lunar Research Station: ILRS ภายใต้การนำขององค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) และรัฐวิสาหกิจเพื่อกิจกรรมทางอวกาศรัสเซีย (ROSCOSMOS) โดยจะมีการทดลองของไทยร่วมเดินทางไปสำรวจดวงจันทร์กับยานฉางเอ๋อ 7 ในปี 2026
การเข้าร่วมข้อตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords ) จึงเปรียบเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าร่วมโครงการอวกาศกับ 2 ขั้วมหาอำนาจของโลก ซึ่งคงต้องจับตาต่อไปว่าการวางบทบาทของไทยจะเปรียบเหมือนการกดปุ่ม ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เพื่อพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยได้มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิง : https://www.gistda.or.th/news_view.php?n_id=8026&lang=TH
https://www.nstda.or.th/sci2pub/thailand-and-china-a-new-chapter-in-space-research/
เรียบเรียงโดย : วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline