รีเซต

รัฐใจป้ำช่วยค่าไฟปชช.ถึงธุรกิจ เฉือนกำไร3การไฟฟ้าแสนล้าน จับตาภาคปฏิบัติหืดขึ้นคอแน่!!

รัฐใจป้ำช่วยค่าไฟปชช.ถึงธุรกิจ เฉือนกำไร3การไฟฟ้าแสนล้าน จับตาภาคปฏิบัติหืดขึ้นคอแน่!!
มติชน
4 พฤษภาคม 2563 ( 12:45 )
103
รัฐใจป้ำช่วยค่าไฟปชช.ถึงธุรกิจ เฉือนกำไร3การไฟฟ้าแสนล้าน จับตาภาคปฏิบัติหืดขึ้นคอแน่!!

ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แม้รัฐบาลจะดับกระแสร้อนประเด็นค่าไฟแพง ด้วยการออกสารพัดมาตรการเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ แต่ก็ยังมีคำถาม เกิดความสับสน และข้อเรียกร้องตามมา โดยเฉพาะประเด็นการช่วยเหลือที่ต้องการให้ฝนตกทั่วฟ้าจริงๆ จากกลุ่มภาคธุรกิจ

 

นั่นเพราะทันทีที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในไทย ภาคธุรกิจในกลุ่มท่องเที่ยว บริการที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรกๆ จากปริมาณนักท่องเที่ยวที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ กระทั่งสถานการณ์เริ่มรุนแรงผู้ติดเชื้อของไทยวิ่งเกินหลักร้อยคน นำมาซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลในการใช้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ควบคุม เพื่อปราบโควิด-19 ให้สิ้นซาก แต่ต้องแลกกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมหาศาล

 

รายได้หายค่าไฟพุ่ง

เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดนิ่ง หนึ่งในต้นทุนสำคัญของผู้ประกอบการ คือ ต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟที่เป็นภาระสำคัญ ยังไม่นับรวมแรงงานที่ได้รับผลกระทบ รายได้หายแต่รายจ่ายยังมี

 

ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนทั่วไป ผลจากโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน บวกกับเป็นช่วงฤดูร้อน มีการใช้ไฟมากขึ้น ภาระค่าไฟของแทบทุกบ้านจึงพุ่งกระฉูด

 

พลังงานอัดมาตรการช่วยครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม หากย้อนมาตรการด้านพลังงาน โดยเฉพาะด้านค่าไฟของรัฐบาล จากกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ 2 การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ก็พบว่ามีมาตรการออกมาต่อเนื่องเช่นกัน ไทม์ไลน์มาตรการเกิดขึ้นตั้งแต่โควิด-19 ยังไม่รุนแรงมาก

 

เริ่มจากมาตรการคืนเงินประกันผู้ใช้ไฟฟ้า สำหรับบ้านอยู่อาศัยและกิจการขนาดเล็ก จำนวน 23 ล้านรายทั่วประเทศ เงินประกันมีมูลค่าตั้งแต่ 300-12,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้าและจำนวนเฟสที่ใช้งานตามบ้านพักอาศัย คิดเป็นวงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาท

 

ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าขอรับเงินค่าประกันคืนจาก กฟน. และ กฟภ. ทางออนไลน์ เปิดให้ลงทะเบียนออนไลน์ขอรับเงินประกันคืนตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม และรับเงินตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา ไม่มีกำหนดสิ้นสุดในการขอคืนเงินประกันครั้งนี้ขณะเดียวกันการยื่นขอไฟฟ้าใหม่จะไม่มีการเก็บเงินประกันดังกล่าวอีกต่อไป

 

มาตรการต่อมาที่ดำเนินการในเวลาไล่เลี่ยกัน คือ การตรึงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไว้ที่ -11.6 สตางค์ต่อหน่วย หรือลดลง 11.60 สตางค์ต่อหน่วย จากค่าไฟฟ้าฐาน ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงสิงหาคม 2563 คิดเป็นวงเงินประมาณ 4,534 ล้านบาท นโยบายนี้ประชาชนและผู้ประกอบการที่ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศได้ประโยชน์

 

มาตรการลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน ในเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ได้แก่ กฟน.และ กฟภ. จะลดค่าไฟฟ้าในอัตรา 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท เป็นระยะเวลา 3 เดือน (เมษายน-มิถุนายน 2563) ผู้ใช้ไฟฟ้าได้ประโยชน์ประมาณ 24 ล้านราย

 

มาตรการขยายระยะเวลาชำระค่าไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ติดตั้งมิเตอร์ไม่เกิน 5 แอมป์ (ประเภทที่ 1.1 ของการไฟฟ้านครหลวง และประเภทที่ 1.1.1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) รวม 4.265 ล้านราย เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ของแต่ละรอบบิลสำหรับใบแจ้งค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน 2563 โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้าให้ กฟน.และ กฟภ.โดยไม่มีเบี้ยปรับ

 

พร้อมขยายครอบคลุมธุรกิจ

นอกจากนี้ ในส่วนของการดูแลภาคธุรกิจ ยังมีมาตรการขยายระยะเวลาการชำระค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท กิจการเฉพาะอย่าง (ธุรกิจโรงแรม และกิจการให้เช่าพักอาศัย) ตลอดจนไม่คิดค่าปรับ (ดอกเบี้ย) ตลอดระยะเวลาการผ่อนผัน โดยไม่มีการงดจ่ายไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว และผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่ค่าไฟฟ้าประจำเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2563 โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแจ้งความประสงค์ขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานการไฟฟ้าในพื้นที่

 

มาตรการผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (มินิมัม ชาร์จ) โดย กกพ.มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด จากที่กำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัว (70% ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน) ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม หรือเหมาจ่าย เป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ดีมานด์ ชาร์จ) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับการผ่อนผันจะเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3-7 อาทิ กลุ่ม เอสเอ็มอี โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ให้มีผลตั้งแต่เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน

 

มาตรการลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อย 30% ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 และที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวัง

 

ช่วยมาตรการพลังงานชนิดอื่น

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานยังออกมาตรการด้านน้ำมัน โดยลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน มีมติปรับลดอัตราเงินจัดส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันทุกชนิดลง 50 สตางค์ต่อลิตร เว้น ดีเซล บี20 ลดจัดเก็บลง 25 สตางค์ต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ อี85 เก็บเงินเข้ากองทุนเพิ่ม 25 สตางค์ต่อลิตร

 

ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น ดีเซล บี20 ลดลง 25 สตางค์ต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้น 25 สตางค์ต่อลิตร ได้ประโยชน์ทั้งประชาชนผู้ใช้รถ ผู้ขนส่งสินค้า และรถโดยสาร และก๊าซ ได้แก่ มาตรการลดราคาขายปลีกก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) สำหรับรถสาธารณะและตรึงราคาขายปลีกสำหรับรถทั่วไป โดยปรับราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี

 

สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ลดลง 3 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) จากเดิม 13.62 บาทต่อ กก. เป็น 10.62 บาทต่อ กก.ในระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 โดยบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ช่วยเหลือส่วนต่างราคาขายปลีกเอ็นจีวีสำหรับรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะประมาณ 175,000 คัน ได้ประโยชน์ รวมทั้งคงราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี รถทั่วไปที่ 15.31 บาทต่อ กก. ต่อไปอีก 5 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม-15 สิงหาคม 2563

 

พร้อมกันนี้ ยังออกมาตรการปรับลดราคาขายปลีกก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) หรือก๊าซหุงต้มลง 45 บาทต่อถัง 15 กก. เป็นเวลา 3 เดือน มีผลตั้งแต่ 24 มีนาคม 2563 โดยใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนเดือนละ 300-400 ล้านบาท ผู้ใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนทั่วประเทศได้ประโยชน์

 

รวมทั้งปรับลดอัตราสำรองน้ำมันดิบ จาก 6% โดยในระยะแรก ลดเป็น 4% เป็นเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนดจะเข้าสู่ระยะที่ 2 ลดเป็น 5% เป็นต้นไป

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังทำให้ยอดการใช้พลังงานของประเทศลดลงมาก สะท้อนเศรษฐกิจที่ยังหดตัวอย่างรุนแรง โดยข้อมูลจากกรมธุรกิจพลังงาน ระบุว่ายอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยต่อวันในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-มีนาคม 2563) พบปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าดและก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)อยู่ที่ 150.56 ล้านลิตรต่อวัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.5%

 

สะท้อนว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังหยุดนิ่ง การลดภาระด้านพลังงานจึงจำเป็นในเวลานี้

 

เพิ่มไฟฟรีพร้อมส่วนลดหลังโดนสวด

แม้จะมีมาตรการออกมาหลากหลาย แต่ก็ยังไม่โดนใจทั้งประชาชน และภาคธุรกิจมากนัก โดยเฉพาะกระแสร้อนแรงในโซเชียลมีเดียต่อประเด็นค่าไฟแพง คนดัง ดารา ประชาชนทั่วไปโชว์บิลค่าไฟพุ่งกระฉูด พร้อมตั้งคำถามถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้าน ทำงานที่บ้าน ให้มีการเรียนการสอนที่บ้านผ่านออนไลน์ ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนย่อมใช้ไฟเพิ่มมากขึ้นแต่กลับลดค่าไฟให้ประชาชนเพียง 3% เท่านั้น

 

เจอกระแสลบดังกล่าว สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งไม่ติด สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องหามาตรการช่วยเหลือด่วน พร้อมเรียกประชุมด่วน ทั้ง กกพ. กฟผ. กฟน. กฟภ. เพื่อหาแนวทางลดค่าไฟให้ประชาชนเพิ่มเติม

 

ท้ายที่สุด มีมติออกมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย รวม 3 เดือน ตั้งแต่รอบบิลมีนาคม-พฤษภาคม 2563 แบ่งเป็น กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท 1.1 (บ้านอยู่อาศัย) ที่มีขนาดมิเตอร์ 5 แอมป์ เดิมจะได้รับสิทธิใช้ไฟฟ้าฟรีไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน จะขยายเป็นไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน

 

กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภท 1.2 (บ้านอยู่อาศัย) ที่มีขนาดมิเตอร์เกิน 5 แอมป์ขึ้นไป จะมีมาตรการช่วยเหลือส่วนเกินค่าไฟฟ้า โดยจะยึดฐานการใช้ไฟฟ้าในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (หรือบิลที่ออกเดือนมีนาคม 2563) เป็นตัวตั้ง ซึ่งถ้ามีจำนวนหน่วยใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 800 หน่วย จะได้ใช้ไฟฟ้าส่วนต่างฟรี แต่หากเกิน 800-3,000 หน่วย ส่วนเกินหน่วยไฟฟ้าจะได้รับส่วนลด 50% และเกิน 3,000 หน่วย จะได้ลดหน่วยไฟฟ้าส่วนเกิน 30% โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบมาตรการแล้ว ประชาชนได้รับประโยชน์ประมาณ 20 ล้านราย

 

ทันทีที่กระทรวงพลังงานประกาศมาตรการนี้ออกไป ส่วนใหญ่ดีใจ เพราะช่วยเซฟเงินในกระเป๋าไปมาก แต่ก็มีคำถามว่ามาตรการลักษณะนี้ จะทำให้ประชาชนนอกจากไม่ประหยัดแล้ว อาจเกิดพฤติกรรมใช้ไฟมากขึ้นหรือไม่!!

 

แต่จากการสืบเสาะถึงเหตุผลที่แท้จริงของมติดังกล่าว ได้ความว่า ที่ประชุมมีการเสนอหลายมาตรการ อาทิ ให้เว้นการคิดค่าไฟในอัตราก้าวหน้าชั่วคราว และใช้ฐานต่ำสุดเป็นเกณฑ์ แต่หน่วยงานไฟฟ้ามองว่าประชาชนอาจไม่รู้สึกว่าได้ประโยชน์เท่ากับการให้ใช้ฟรีในส่วนที่ใช้เกิน และยังมีส่วนลดที่ชัดเจนสำหรับการใช้เกินหน่วยที่กำหนดนั่นเอง

 

และที่ลึกกว่านั้นคือ จริงๆ แล้วมาตรการลดค่าไฟแบบเป็นเนื้อเป็นหนัง ผู้บริหารกระทรวงพลังงานท่านหนึ่งเคยพยายามเสนอแล้วแต่เจอ ?ตอ? เป็นกรรมการ 2 ท่านที่อยู่ กกพ.แย้งแบบหัวชนฝา!!

 

กกพ.หา2หมื่นล้านโปะ

เรื่องยุ่งๆ ของมาตรการไฟฟรีพร้อมส่วนลดไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในมุมของผู้ปฏิบัติอย่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ต้องหาเงินมาสนับสนุนมาตรการนี้ ซึ่งประเมินไว้สูงถึง 23,000 ล้านบาท

 

ภารกิจหาเงินโปะให้ทันกับมาตรการที่จะบังคับใช้จึงเริ่มขึ้น เพราะปัจจุบันมีวงเงินที่พร้อมสนับสนุนเพียง 10,000 ล้านบาท โดยสำนักงาน กกพ.ได้หารือนอกรอบกับ 3 การไฟฟ้า แรกเริ่มมีการเกลี่ยเงินจากมาตรการต่างๆ ที่เคยดำเนินการ อาทิ ไฟฟรี 50 หน่วย โดยทับซ้อนกับมาตรการไฟฟรีตัวใหม่ จึงลดวงเงินรวมจริงเหลือประมาณ 20,000 ล้านบาท

 

ส่วนการหาเงินเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท ได้ข้อสรุปว่าจะมาจากเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ในช่วงปี 2557-2562 รวมทั้งเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงานที่มีรวมประมาณ 3,000 ล้านบาท รวมวงเงินที่ได้จึงครบพอดี

 

กระทุ้งขอเว้นมินิมัมชาร์จถึงสิ้นปี

แม้จบประเด็นวิ่งหาเงินโป๊ะไฟฟรีประชาชน แต่ในมุมของภาคเอกชน ยังมองว่ามาตรการที่ภาครัฐช่วยเหลือด้านไฟฟ้ายังไม่เพียงพอ ประเด็นการเรียกร้องจึงดำเนินผ่าน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือ จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและภาคธุรกิจ ที่มีรองนายกฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ขาดไม่ได้คือ 3 การไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ ได้มีข้อเสนอของเอกชน ที่ขยายผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด จากมิถุนายนเป็นธันวาคม 2563 ขณะเดียวกันยังขอให้กำกับดูแลอัตราค่าไฟฟ้าและค่าเอฟที โดยไม่ให้เป็นภาระทางด้านงบประมาณ และดำเนินการให้เกิดความเป็นธรรม อาทิ ปรับวิธีคิดราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่เป็นต้นทุนสำหรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) ที่ปกติจะส่งผลล่าช้าประมาณหกเดือน โดยปรับให้เร็วขึ้นเนื่องจากช่วงนี้ราคาน้ำมันลดลงมาก และขอให้พิจารณาดูแลกลุ่มธุรกิจโรงแรม เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ภาคท่องเที่ยว อาทิ กลุ่มโรงแรม เพิ่มเติม

 

ผลออกมาดีคือที่ประชุมรับข้อเสนอ โดยเฉพาะกรณีเร่งด่วนคือ การขอผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด แต่ขอให้เอกชนทำรายละเอียดผลกระทบที่ชัดเจนกลับมาเสนออีกครั้ง

 

โอด32อุตฯออเดอร์หาย70%

ใกล้เคียงกันนั้น ส.อ.ท. ได้ส่งรายละเอียดข้อเสนอเพิ่มเติมต่อ ?สนธิรัตน์? เกี่ยวกับมาตรการพลังงานเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19

 

โดย ส.อ.ท.ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้คำสั่งซื้อและผลประกอบการลดลงกว่า 70% ต่อ 32 กลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้เกิดภาระแบกรับค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง

 

อุตสาหกรรมที่กำลังเจ็บ ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ยานยนต์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เครื่องสำอาง สิ่งทอ หนังและผลิตภัณฑ์หนัง รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก ปูนซีเมนต์ หลังคาและอุปกรณ์ แกรนิตและหินอ่อน แก้วและกระจก เซรามิก โรงเลื่อยและโรงอบไม้ ไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องจักรกลและโลหะการ เครื่องจักรกลการเกษตร ต่อเรือซ่อมเรือและก่อสร้างงานเหล็ก หล่อโลหะ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สมุนไพร น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ปิโตรเคมี ก๊าซ พลังงานหมุนเวียนหัตถกรรมสร้างสรรค์ การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ

 

ส.อ.ท.จึงเสนอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาหามาตรการเพิ่มเติมจากมาตรการที่กระทรวงพลังงานได้ดำเนินการไปแล้ว อาทิ ขอให้ขยายระยะเวลาการผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% เป็นการใช้ไฟตามจริงออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 รวมทั้งขอให้พิจารณาเรื่องเงินที่ช่วยเหลือดังกล่าวต้องไม่นำไปกระทบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ในอนาคต โดยเสนอให้หักเงินช่วยเหลือ

 

ในส่วนนี้จากรายได้ของการไฟฟ้า แทนที่นำส่งกระทรวงการคลัง และเสนอให้มีการคำนวณเอฟทีด้วยวิธีการที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงเร็วขึ้น โดยใช้วิธีการคำนวณแบบค่าเฉลี่ยการใช้ 3 เดือน และเทียบเป็นรายไตรมาส

 

ทั้งนี้ ข้อเสนอของเอกชนอาจเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องคิดหนัก เพราะจากตัวเลขของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) พบว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) ปี 2563 มีโอกาสติดลบถึง 6-7% ถือเป็นระดับต่ำมาก ขณะที่อัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรม ก็คาดว่าติดลบ 5.5-6.5% จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ขยายวงกว้าง และยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ในต่างประเทศ แม้ว่าในประเทศเริ่มผ่อนคลายในทิศทางที่ดีขึ้น

 

สอดรับกับดัชนีความเชื่อมั่นล่วงหน้า 3 เดือน (พฤษภาคม-กรกฎาคม 2563) ของภาคอุตสาหกรรม ที่ทำโดย ส.อ.ท.ก็พบว่ามีระดับต่ำสุดในรอบ 10 ปี

 

สัปดาห์นี้มาตรการช่วยเอกชนมีคำตอบ

จากข้อเสนอของ ส.อ.ท. ?สนธิรัตน์? ระบุว่า เรื่องค่าเอฟทีและเงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า กระทรวงพลังงานจะพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ส่วนมาตรการขอผ่อนผันการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ 70% เป็นการใช้ไฟตามจริง ทาง กกพ.ได้ดำเนินการแล้ว โดยจะเร่งออกประกาศเพื่อทราบในสัปดาห์นี้

 

จากท่าทีดังกล่าวน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับเอกชน แต่ข้อมูลล่าสุดจาก กกพ. พบว่า มาตรการที่ภาคธุรกิจขอให้รัฐยกเว้นการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำหรือการคิดแบบเหมาจ่าย เป็นคิดตามการใช้จริงไปถึงสิ้นปีนั้น ประชุมบอร์ดเมื่อปลายสัปดาห์ มีมติให้คิดแบบดีมานด์ ชาร์จ ไปจนถึงมิถุนายนนี้ไปก่อน เนื่องจาก กกพ.มีการยกเว้นให้ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 แล้ว ดังนั้น ข้อเสนอให้ยกเว้นถึงสิ้นปีนั้น เดือนมิถุนายน กกพ.จะกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เพราะต้องการพิจารณาสถานการณ์การแพร่ระบาดของ

 

โควิด-19 ควบคู่ไปด้วย หากสถานการณ์ของไวรัสจบเร็ว ก็ไม่มีความจำเป็นที่ต้องประกาศมาตรการถึงสิ้นปี

 

ต้องติดตามผลที่สัปดาห์นี้ เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. จะหารือนายสนธิรัตน์ถึงประเด็นนี้

 

จากท่าทีของ กกพ.ไม่แปลกที่ตั้งการ์ดสูง เพราะมาตรการนี้ไม่เพียงขอขยายเวลาช่วยเหลือ แต่ต้องการให้ช่วยภาคผลิตทุกขนาดไม่ใช่แค่เอสเอ็มอี นั่นหมายถึงวงเงินมหาศาลที่หน่วยงานไฟฟ้าต้องสูญ หลังสูญกำไรไปกับมาตรการต่างๆ ก่อนหน้ากว่าแสนล้านบาทแล้ว

 

วัดใจรัฐมนตรีพลังงานจะเห็นด้วยหรือค้านมติ กกพ. กับความหวังของภาคธุรกิจรดต้นคออยู่

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง