เปิดชื่อ 14 หมู่บ้านไทยที่เห็น “บั้งไฟพญานาค” ของปลอม จากหมู่บ้านลาวที่ยิงลูกปืนส่องแสง
เจ้าเซื่อเรื่องพญานาคบ่... ตำนาน “บั้งไฟพญานาค” เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในคืน “วันออกพรรษา” 15 ค่ำเดือน 11 ประชาชนในพื้นที่จังหวัดหนองคาย และ จังหวัดบึงกาฬ รวมถึงคนที่ศรัทธา หรือนักท่องเที่ยวที่ต้องการชมปรากฎการณ์ “บั้งไฟพญานาค” จะมารอชมกันอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงกันอย่างเนืองแน่น ซึ่งแต่ละจุดที่เปิดให้ชม จะเห็นบั้งไฟแต่ละที่ไม่เท่ากัน
แต่ล่าสุด เพจเฟซบุ๊ก พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ของนายสมภพ ขำสวัสดิ์ และทีมงาน ที่ติดตามพิสูจน์ ปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค มาเป็นเวลานานนับ 10 ปี ได้โพสต์ข้อความว่า เจ้าเซื่อเรื่องลูกปืนส่องแสงบ่ พร้อมแจ้งรายชื่อหมู่บ้านลาว ที่ยิงลูกปืนส่องแสง หลอกชาวหนองคาย/บึงกาฬ ว่าเป็นบั้งไฟพญานาค โดยรายชื่อหมู่บ้านลาวที่ยิงลูกปีนส่องแสงมีมากถึง 10 หมู่บ้าน
โดยทางนายสมภพ ขำสวัสดิ์ กล่าวว่า “พิสูจน์มา 10 ปี ไม่ซ้ำที่ คนยิงก็ยังคงยิงไป คนเฮก็ยังคงเฮไป” พร้อมทั้งจะไปแจ้งเรื่องที่สถานทูตลาว เพื่อแฉรายชื่อหมู่บ้านลาวทั้งหมด ที่ยิงลูกปืนส่องแสงหลอกชาวหนองคาย บึงกาฬ และชาวไทยทั้งประเทศมาตลอด
ฝั่งไทยที่มองเห็นบั้งไฟพญานาคจากหมู่บ้านลาวที่ยิงลูกปืนส่องแสง
1.บริเวณวัดไทย อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
2.อบต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
3.บ.หนองกุ้ง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
4.พุทธอุทยานฯ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
5.บ.น้ำเป อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
6.บ.โปร่งสำราญ อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
7.บ.ท่าม่วง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
8.บ.ตาลชุม อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
9.บ.หนองแก้ว อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
10.บ.ดงมดแดง อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
11.บ.เปงจาน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย
12.ลานพญานาค อ.ปากคาด จ.บึงกาฬ
13.วัดอาฮง อ.เมือง จ.บึงกาฬ
14.บ.ท่าสี่ไค อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ
รายชื่อหมู่บ้านลาวที่ยิงลูกปืนส่องแสง เป็น “บั้งไฟพญานาค”
1.บ.โดนเหนือ เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
2.บ.นากุง เมืองปากงืม นครหลวงเวียงจันทน์
3.บ.ปากงึม เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
4.บ.หนองเขียด เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์
5.บ.ห้วยสายพาย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ (ยิงมากที่สุด)
6.บ.ทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
7.บ.หงส์ทอง เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
8.บ.หาดไซ เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
9.บ.ปากทวย เมืองท่าพระบาท แขวงบอลิคำไซ
10.บ.ทุ่งน้อย เมืองปากกระดิง แขวงบอลิคำไซ
“บั้งไฟพญานาค” เกิดจากอะไร
การเกิดขึ้นของ “บั้งไฟพญานาค” ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันเป็นอย่างมากถึงที่มาว่ามาจากมนุษย์ หรือจากธรรมชาติ ตามตำนานที่เล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยก่อน
ลักษณะ “บั้งไฟพญานาค” จะเป็นดวงไฟขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือจนถึงขนาดเท่าไข่ห่านหรือผลส้ม มีสีแดงอมชมพูออกสีบานเย็น หรือสีแดงทับทิม ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น จะเริ่มปรากฏจากเหนือผิวน้ำ ตั้งแต่ระดับ 1–30 เมตร พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50–150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5–10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ
โดยสรุปเป็น 2 กรณี ได้ดังนี้
1.“บั้งไฟพญานาค” เกิดจากธรรมชาติ
ตามหลักวิทยาศาสตร์ “บั้งไฟพญานาค” คือ ก๊าซมีเทน-ไนโตรเจนจากแบคทีเรีย ในวันที่เกิดปรากฏการณ์มีแดดส่องทำให้มีความร้อนมากพอที่จะย่อยสลายสารอินทรีย์ และก๊าซมีเทนเกิดความดันก๊าชในผิวทรายทำให้หลุดออกมาและพุ่งขึ้นพ้นน้ำ เมื่อกระทบกับออกซิเจนรวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงเวลากลางคืนทำให้เกิดเป็นไฟลุกไหม้ได้
2.“บั้งไฟพญานาค” เกิดจากฝีมือมนุษย์
ในปี พ.ศ. 2556 ว่า สกู๊ปของไอทีวี เคยเปิดเผยว่า “บั้งไฟพญานาค” เกิดจากการยิงปืนของทหารลาว จนถูกชาวบ้านในพื้นที่ต่อต้าน และต่อมาในเดือนตุลาคม 2564 เพจ "พิสูจน์บั้งไฟพญานาค" เปิดรายชื่อหมู่บ้านจากฝั่งลาวที่ยิงกระสุนส่องแสงหลอกว่าเป็นบั้งไฟพญานาค พร้อมทั้งหลักฐานภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวต่าง ๆ ให้กับสถานทูตลาวเพื่อช่วยตรวจสอบ
ภาพจากเพจ พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ระบุว่า บ.ตาลชุม อ.รัตนวาปี ฝั่งลาวที่ยิงนี่ขาประจำคือ บ้านห้วยสายพาย เมืองท่าพระบาท สมญานามว่าเมืองหลวงแห่งลูกปืนส่องแสง เพราะยิงเยอะกว่าเพื่อน
ภาพจากเพจ พิสูจน์บั้งไฟพญานาค ระบุว่า ภาพลูกปืนส่องแสง 1 ใน 2 ลูก ที่ถ่ายได้จากแก่งอาฮง อ.เมืองบึงกาฬ บนเสาตั้งกล้องสูง 10 เมตร หันไปทางอุโบสถวัด
ข้อมูลจาก เพจ พิสูจน์บั้งไฟพญานาค , วิกิพีเดีย
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- "บั้งไฟพญานาค" ยังพุ่งขึ้นจากแม่น้ำโขงเป็นวันที่สอง นักท่องเที่ยวโห่ร้องด้วยความดีใจ
- งานบั้งไฟพญานาค 2564 หนองคาย ประเพณีออกพรรษาและ บั้งไฟพญานาคโลก
- 15 จุดชม บั้งไฟพญานาค 2564 ริมแม่น้ำโขง ปรากฏการณ์ 15 ค่ำ เดือน 11
- เปิดตำนาน บั้งไฟพญานาค ปรากฏการณ์ศรัทธาริมฝั่งแม่น้ำโขง ใน วันออกพรรษา
- กว่าจะเป็น 'บั้งไฟ' ภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวไทยอีสาน