รีเซต

โควิด-19 : ผู้ใหญ่อายุไม่ถึง 50 ปี เสี่ยงอวัยวะภายในเสียหายรุนแรง

โควิด-19 : ผู้ใหญ่อายุไม่ถึง 50 ปี เสี่ยงอวัยวะภายในเสียหายรุนแรง
ข่าวสด
17 กรกฎาคม 2564 ( 08:38 )
51
โควิด-19 : ผู้ใหญ่อายุไม่ถึง 50 ปี เสี่ยงอวัยวะภายในเสียหายรุนแรง

 

ผลการศึกษาในสหราชอาณาจักรพบว่าผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 50 ปี ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยโรคโควิด-19 มีโอกาสที่จะมีอาการแทรกซ้อนเกือบทุกอย่างเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป

 

 

งานวิจัยนี้ซึ่งศึกษาจากผู้ใหญ่ทุกช่วงวัยจำนวน 73,197 คน จากโรงพยาบาลทั่วสหราชอาณาจักร 302 แห่งในช่วงการระบาดระลอกแรกของโควิดในปี 2020 พบว่า 4 ใน 10 ของผู้ที่มีอายุ 19-49 ปี มีอาการแทรกซ้อนเกี่ยวกับไต ปอด หรือ อวัยวะอื่น ๆ ระหว่างรับการรักษา

 

 

ศ.คาลัม เซมเพิล หัวหน้าคณะนักวิจัยชุดนี้ กล่าวว่า "สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่านี่ไม่ใช่โรคของผู้สูงอายุและผู้ที่อ่อนแอเท่านั้น"

B

"ข้อมูลที่ได้สนับสนุนข้อเท็จจริงที่ว่า โควิดไม่ใช่ไข้หวัดและเรากำลังเห็นผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อยเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง บางส่วนจำเป็นต้องมีการเฝ้าระวัง และอาจจะต้องได้รับการรักษาต่อไปในอนาคต"

 

 

งานวิจัยชิ้นนี้จัดทำโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 7 แห่งในสหราชอาณาจักร หน่วยงานดูแลสังคมและสุขภาพ และกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษ และได้ศึกษาเกี่ยวกับจำนวน "อาการแทรกซ้อน" ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วย

 

 

โดยทั่วไป ราวครึ่งหนึ่งของคนไข้วัยผู้ใหญ่เผชิญกับอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง ระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาล อาการแทรกซ้อนที่พบมากที่สุดคือ ไตได้รับความเสียหาย ตามมาด้วยความเสียหายที่เกิดกับปอดและหัวใจ

 

 

 

อัตราการเกิดอาการแทรกซ้อนสูงสุดอยู่ในกลุ่มคนไข้อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยมี 51% ที่มีรายงานว่ามีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง แต่ก็ยังพบ "มากเป็นปกติ" ในกลุ่มคนที่อายุน้อยกว่านี้ด้วย โดยประมาณ 37% ของคนอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 44% ของคนอายุระหว่าง 40-49 ปี มีอาการแทรกซ้อนอย่างน้อย 1 อย่าง

 

 

ขณะนี้แพทย์ยังไม่มั่นใจว่า อาการเจ็บป่วยรุนแรงจากโควิดสามารถทำให้เกิดความเสียหายต่ออวัยวะได้อย่างไร แต่เชื่อว่าในบางกรณีระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายของคนไข้เองถูกกระตุ้นจนทำให้เกิดการอักเสบและทำให้เนื้อเยื่อส่วนที่ดีได้รับความเสียหายไปด้วย

 

 

พอล กอดฟรีย์ จากเมืองฟรินตันในเอสเซกซ์ ป่วยเป็นโควิดในเดือน มี.ค. 2020 หลังจากมีอาการที่เขาคิดว่าเป็นการติดเชื้อในทรวงอก

 

 

พอล ซึ่งมีอายุ 31 ปี ตอนที่ได้รับการวินิจฉัยโรค และมีอาการโรคหลอดลมพองในปอด กล่าวว่า "ไม่ต้องสงสัยเลย เจ้าหน้าที่เอ็นเอชเอส (สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ) ที่ดูแลผมช่วยชีวิตผมไว้ ผมคงจะไม่ได้มาอยู่ที่นี่ในวันนี้ ถ้าไม่ใช่เพราะพวกเขา"

การศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซ็ต (Lancet) พบว่า ผู้ที่มีอาการป่วยอยู่ก่อนหน้า มีโอกาสที่จะมีอาการแทรกซ้อนได้มากกว่า แต่ก็ถือว่ามีความเสี่ยงสูงในกลุ่มคนสุขภาพแข็งแรงและอายุยังน้อย

 

 

"ประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิต"

พอล ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นปอดบวมที่โรงพยาบาลโคลเชสเตอร์ และได้รับแจ้งว่า ปอดครึ่งล่างของเขาล้มเหลว และเกือบจะต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เขารักษาตัวในหอผู้ป่วยโควิดนาน 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้กลับบ้านในสภาพที่ต้องนั่งรถเข็น

 

 

งานวิจัยนี้เผยให้เห็นว่า 13% ของคนอายุ 19-29 ปี และ 17% ของคนอายุ 30-39 ปี เข้ารับการรักษาโควิดที่โรงพยาบาล ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เมื่อได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาล ต้องพึ่งเพื่อนฝูงและญาติ

 

 

พอล ซึ่งยังคงมีอาการอ่อนเพลียรุนแรงและหายใจลำบากจากอาการป่วยของเขา กล่าวว่า "มันเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผม และผมยังคงต้องรับมือกับมันในอีก 18 เดือนต่อมา"

 

 

"ผมไม่รู้จริง ๆ ว่า ความเสียหายต่อร่างกายของผมมีอะไรบ้าง ผมได้แต่เพียงภาวนาขอให้ผมกลับไปเป็นเหมือนเดิม"

.........................

โควิดและผู้ใหญ่ที่อายุยังน้อย

Getty Images

อายุเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดเพียงปัจจัยเดียวในการระบุถึงความรุนแรงของการติดโรคโควิด

ตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโควิด มีผู้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษ 406,687 คน ในจำนวนนี้ 62% มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่า 65 ปีซึ่งจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลตั้งแต่เดือน ก.พ. 2020 มีจำนวน 155,866 คน

อัตราการให้วัคซีนที่สูงขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีความเสี่ยง ทำให้อายุเฉลี่ยของผู้ที่เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลลดต่ำลง

ในช่วงสัปดาห์ช่วงที่สิ้นสุดในวันที่ 4 ก.ค. มีผู้ป่วยโควิดที่อายุมากกว่า 85 ปี เพียง 17 คน เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลในอังกฤษ ขณะที่ผู้ป่วยอายุระหว่าง 25-44 ปี เข้ารักษาตัวมากถึง 478 คน

..........................

งานวิจัยนี้จัดทำขึ้นในช่วงการระบาดระลอกแรกของโควิดระหว่าง 17 ม.ค. - 4 ส.ค. 2020 ก่อนที่จะมีวัคซีนและตรวจพบเชื้อกลายพันธุ์

ผู้เขียนระบุว่า ข้อมูลเผยให้เห็นว่าผู้ที่มีอาการป่วยโควิดรุนแรงมากกว่าตอนที่ไปเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล มีโอกาสที่จะมีปัญหาทางสุขภาพร้ายแรงมากขึ้น วัคซีนจึงมีความสำคัญในการลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยในระลอกล่าสุด

การศึกษานี้ออกแบบมาเพื่อพิจารณาถึงอาการแทรกซ้อนในระยะสั้นระหว่างการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเท่านั้น แต่ไม่มีหลักฐานว่าความเสียหายที่เกิดกับอวัยวะจะคงอยู่ต่อไป จนกลายเป็นรูปแบบที่รู้จักกันในชื่อว่า ลองโควิด (long Covid) หรือไม่

"เรารู้ว่า โรคติดเชื้ออื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาบางอย่างกับไตหรือหัวใจของคุณ สามารถที่จะทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนในระยะยาวได้" ดร.อันนีมารี ดอเคอร์ที ผู้บรรยายอาวุโสที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระ และผู้เชี่ยวชาญในการรักษาผู้ป่วยหนัก กล่าว

"ฉันคิดว่า มันสมเหตุสมผลที่จะคาดว่า โควิด-19 ก็อาจทำให้เกิดผลอย่างเดียวกัน"

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง